สวิตเซอร์แลนด์สร้างโล่กันแรงต้านอากาศ ช่วยนักกรีฑาวิ่งเร็วขึ้น
นักวิจัยจาก ETH Zurich University สร้าง Airshield หรือโล่กันแรงต้านอากาศ เพื่อเพิ่มขีดจำกัดความเร็วในการวิ่ง
หนึ่งในสิ่งที่ทำให้มนุษย์เคลื่อนที่ได้ช้าลง ก็คือ อากาศ เพราะขณะที่เราคลื่อนที่ไปข้างหน้าจะมีอากาศอยู่รอบทิศทางและทำให้เกิดแรงต้าน ดังนั้นเพื่อที่จะทำให้มนุษย์เราสามารถวิ่งได้เร็วขึ้น นักวิทยาศาสตร์จากสถาบันเทคโนโลยีสวิส ซูริค (ETH Zurich) ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ จึงได้พัฒนาสิ่งประดิษฐ์ที่เรียกว่า แอร์ชิลด์ (Airshield) เพื่อทำให้นักกีฑาสามารถซ้อมวิ่งได้โดยเผชิญกับแรงต้านอากาศที่น้อยลง
ปัจจุบัน แอร์ชิลด์ อยู่ในขั้นตอนพัฒนาต้นแบบ โดยจะเป็นแผงบังลมรูปลิ่ม ด้านหน้าและด้านข้างหุ้มด้วยแผ่นพลาสติกใส ด้านท้ายเปิดโล่ง มีล้อที่ด้านข้างฝั่งละล้อ แอร์ชิลด์ไม่สามารถเคลื่อนที่ได้ด้วยตัวเอง แต่จะถูกเชื่อมอยู่กับรถโกคาร์ท ทำให้สามารถเคลื่อนไปตามลู่วิ่งได้ ซึ่งบนตัวแอร์ชิลด์จะติดตั้งเซ็นเซอร์ไลดาร์ (LiDAR) เพื่อตรวจสอบระยะห่างระหว่างนักกรีฑาและแอร์ชิลด์ ข้อมูลนี้จะถูกส่งแบบไร้สายไปยังโกคาร์ท ส่งผลให้โกคาร์ทเพิ่มหรือลดความเร็วได้โดยอัตโนมัติเพื่อรักษาระยะห่างของนักกรีฑาที่เหมาะสมตลอดเวลา ในขณะที่คนขับโกคาร์ท มีหน้าที่แค่บังคับพวงมาลัยเพื่อกำหนดทิศทางเท่านั้น
แอร์ชิลด์ยังมีการติดตั้งกล้องวิดีโอหลายตัวด้วยสำหรับการบันทึกนักกรีฑาขณะวิ่ง เพื่อให้ผู้ฝึกสอนสามารถนำไปประเมินและปรับปรุงการวิ่งได้
ทั้งนี้ แอร์ชิลด์ไม่ได้สร้างขึ้นเพื่อใช้ขณะแข่งวิ่ง แต่สร้างขึ้นมาเพื่อให้นักกรีฑาฝึกซ้อมเพื่อเพิ่มขีดจำกัดศักยภาพของร่างกายเท่านั้น โดยแอร์ชิลด์จะทำให้นักกรีฑาสามารถฝึกซ้อมเทคนิคที่เรียกว่า การฝึกซ้อมแบบโอเวอร์สปีด (Overspeed Training) ซึ่งเป็นการใช้วิธีการประดิษฐ์ เพื่อให้นักกรีฑาสามารถวิ่งได้เร็วกว่าที่ตัวเองสามารถวิ่งได้ในตอนปกติ การฝึกแบบนี้จะทำให้ร่างกายของนักกรีฑาเรียนรู้ลำดับของกล้ามเนื้อร่วมประสาท (Neuromuscular) ที่ทำให้วิ่งได้เร็วกว่าเดิม จากนั้นก็จะพัฒนาขีดความสามารถนี้ขึ้นมาใหม่ ดังนั้นเมื่อผ่านการฝึกซ้อมแบบโอเวอร์สปีดแล้ว ในภายหลังแม้จะไม่ใช้แอร์ชิลด์ แต่นักกรีฑาก็จะสามารถวิ่งได้เร็วใกล้เคียงกับตอนที่ใช้แอร์ชิลด์
การัลดีน เฟรย์ (Geradine Frey) นักศึกษาที่ ETH Zurich และนักกรีฑาทีมชาติสวิตเซอร์แลนด์ ที่ได้ทดลองฝึกซ้อมกับแอร์ชิลด์ กล่าวว่า "มันเป็นความรู้สึกที่อธิบายยากมาก แต่ก่อนตอนเราวิ่ง มันมีแรงต้านอากาศเยอะมาก แต่พอฝึกกับแอร์ชิลด์ มันช่วยกำจัดแรงต้านออกขณะที่คุณวิ่ง และมันจะทำให้คุณสามารถวิ่งได้เร็วขึ้นเล็กน้อย"
ในขณะที่มูจินกา แคมบันด์จี (Mujinga Cambundji) นักกรีฑาทีมชาติสวิตเซอร์แลนด์อีกคนที่ได้ทดลองใช้กล่าวว่า "ฉันพบว่ากับอุปกรณ์อื่น ๆ ฉันต้องใช้ 2 - 3 เซสชันกว่าจะเชื่อว่ามันช่วยให้วิ่งเร็วขึ้นจริง ๆ แต่กับแอร์ชิลด์ ฉันใช้เวลาเพียงแค่ 1 - 2 สปรินท์ (Sprint หรือการวิ่งแบบเต็มความเร็ว) เท่านั้น ซึ่งมันเจ๋งมาก ๆ และสิ่งที่ดีที่สุดคือคุณจะไม่รู้สึกเลยด้วยซ้ำว่ากำลังซ้อมกับอุปกรณ์ เพราะมันแทบไม่มีอะไรภายนอกมาส่งผลต่อคุณ ไม่เหมือนอุปกรณ์อุปกรณ์อื่น ๆ ที่มันจะติดอยู่กับตัว แต่คุณจะสังเกตได้ว่ามันทำให้คุณวิ่งเร็วขึ้นจริง ๆ"
ปัจจุบันแอร์ชิลด์ยังอยู่ระหว่างการพัฒนา ยังไม่มีกำหนดการณ์ว่าจะพร้อมใช้งานเมื่อไหร่ ซึ่งก็ต้องติดตามกันต่อไป
ที่มาข้อมูล ETHZurich, NewAtlas
ที่มารูปภาพ ETHZurich
ข่าวแนะนำ
-
จีนเร่งพัฒนาจรวดขนส่งไปดวงจันทร์
- 20/6/67