TNN online ผลสอบ PISA สัญญาณเตือน 'เด็กไทย' นำความรู้ที่เรียนมาใช้จริงไม่เป็น

TNN ONLINE

TNN Exclusive

ผลสอบ PISA สัญญาณเตือน 'เด็กไทย' นำความรู้ที่เรียนมาใช้จริงไม่เป็น

ผลสอบ PISA สัญญาณเตือน 'เด็กไทย' นำความรู้ที่เรียนมาใช้จริงไม่เป็น

ผลสอบ PISA สัญญาณเตือน 'เด็กไทย' นำความรู้ที่เรียนมาใช้จริงไม่เป็น งบประมาณการศึกษา แก้ปัญหาไม่ตรงจุด



วันนี้ 13 ธันวาคม 2566 สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (The Thailand Development Research Institute: TDRI) ได้จัดแถลงข่าวในหัวข้อที่น่าสนใจ คือ ‘ผลสอบ PISA สัญญาณเตือน วิกฤตการศึกษา แก้ปัญหาให้ถูกจุด’ 


โดย TDRI มีทีมคณะวิจัยศึกษาเรื่องการปฏิรูปการศึกษาของไทย มาเป็นเวลากว่า 10 ปี และในครั้งนี้เป็นโอกาสที่จะสื่อสารกับสังคมว่าการสอบ ‘PISA’ หรือ Programme for International Student Assessment โปรแกรมประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล ได้ส่งสัญญาณเตือนเกี่ยวกับการศึกษาของไทยแล้ว


ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธาน TDRI กล่าวว่า เรื่องนี้ถือว่าเป็นเรื่องดีที่ประชาชนให้ความสนใจอย่างมากเกี่ยวกับการเสนอผลการสอบ PISA ของไทยและเราอยากให้มีการวิจารณ์อย่างต่อเนื่องเพราะเสียงของประชาชนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของการศึกษา


TDRI ต้องการนำเสนอข้อมูลในการวิเคราะห์ ว่า สาเหตุที่ผลการเรียนรู้ของเด็กไทยที่ผลออกมาไม่ค่อยดีนั้น เกิดมาจากอะไร และท้ายสุดพวกเราจะต้องทำอย่างไรจึงจะได้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้น


ผลสอบ PISA สัญญาณเตือน 'เด็กไทย' นำความรู้ที่เรียนมาใช้จริงไม่เป็น พงศ์ทัศ วนิชานันท์ นักวิจัยอาวุโสและทีมนโยบายด้านการปฏิรูปการศึกษา 

 


พงศ์ทัศ วนิชานันท์ นักวิจัยอาวุโสและทีมนโยบายด้านการปฏิรูปการศึกษา กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลการประเมิน PISA ครั้งนี้ ได้บอก 4 สิ่งที่สำคัญกับประเทศไทย 


โดยมี 2 เรื่อง คือ 


1. ความสามารถของเด็กไทยเริ่มห่างไกลความสามารถของเด็กทั้งโลกมากขึ้นทุกที 

2. โควิด-19 กระทบทั่วโลกแต่ไม่ใช่สาเหตุหลักที่ทำให้คะแนนของไทยลดลง 


ส่วนอีก 2 สัญญาณต่อการศึกษาไทย คือ 


1. ระบบการศึกษาไทยอ่อนแอ เนื่องด้วยหลักสูตรไม่ทันสมัย มีข้อจำกัดเรื่องการใช้ทรัพยากรที่ไม่มีประสิทธิภาพ 

2. เรื่องการศึกษาต้องแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วนและต้องแก้ให้ถูกจุด


“ในข้อมูลสำคัญเปรียบเทียบให้เห็นว่าขณะนี้ประเทศไทยห่างจากโลกมากขึ้น โดยเฉพาะการอ่านที่ไทยห่างจากประเทศกลุ่ม OECD โดยในปีล่าสุดคะแนนทิ้งห่างเกือบ 100 คะแนนแล้ว” พงศ์ทัศ กล่าว


สำหรับเรื่องระดับความสามารถของเด็ก สิ่งที่เกิดขึ้นคือ มีเด็กไทยจำนวนมากยังไม่สามารถนำความรู้ไปใช้งานได้จริงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง 


“จำนวนเด็กที่มีความรู้ และนำมาใช้แก้ปัญหาในชีวิตประจำวันไม่ได้มีจำนวนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเด็กที่อายุ 15 ปี มีจำนวนถึง 65% ไม่สามารถที่จะอ่านจับใจความบทความสั้นๆได้” พงศ์ทัศ กล่าวเสริม


เช่นเดียวกับความรู้เรื่องคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ที่เด็กไม่สามารถนำความรู้จาก 2 วิชานี้มาใช้แก้ปัญหาหรืออธิบายปรากฏการณ์ต่างๆในชีวิตประจำวันได้ ในระบบการศึกษาของเด็กไทย มีเด็กแค่ 1% เท่านั้นที่นำความรู้มาใช้ในชีวิตประจำวันได้


พงศ์ทัศ กล่าวถึง ประเด็นความเหลื่อมล้ำระหว่างกลุ่มเด็กที่เก่งและเด็กที่ไม่เก่งที่พบว่าช่องว่างไม่ลดลงตลอด 10 ปี เพียงแต่ในปี 2022 คะแนนวิชาคณิตศาสตร์ชี้ให้เห็นว่าช่องว่างเหมือนจะลดลง แต่นั่นก็ไม่ใช่เรื่องดี เพราะ ช่องว่างเกิดจากที่เด็กเก่งมีคะแนนสอบลดลง ช่องว่างจึงลดลงตามกันไป 


ส่วนช่องว่างระหว่างเด็กที่มีฐานะทางบ้านแตกต่างกัน ถ้าแบ่งเป็น 4 กลุ่ม กลุ่มละ 25% พบว่า เด็กในกลุ่มที่ฐานะดีที่สุด 25% แรก มีคะแนนสอบสูงกว่าเด็กที่ฐานะยากจน 25% สุดท้าย 


ซึ่งประเทศไทยก็ไม่สามารถที่จะปิดช่องว่างระหว่างสองกลุ่มนี้ได้ตลอด 10 ปี


โควิดส่งผลกระทบกับความสามารถของเด็กหรือผลคะแนนสอบ PISA มากน้อยแค่ไหน?


พงศ์ทัศ อธิบายประเด็นนี้ไว้ว่า ประเทศไทยปิดโรงเรียนในช่วงโควิด-19 สั้นกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ ODCE ผลที่เกิดขึ้นคือ เด็กฐานะดีเอาตัวรอดได้ แต่เด็กฐานะยากจนยังต้องพึ่งพาโรงเรียน 


และที่สำคัญผลการวิจัยพบว่า โควิด-19 ไม่ได้ทำให้คะแนนของเด็กฐานะดีและเด็กฐานะยากจนต่างกันมากขึ้น ฉะนั้นการแพร่ระบาดของโรคไม่ใช่สาเหตุหลักที่ทำให้คะแนนหรือความสามารถของเด็กไทยลดลง


จากข้อมูลการสอบของ PISA ทาง TDRI ได้มีข้อเสนอว่าจำเป็นต้องปรับปรุงการศึกษาแบบยกเครื่องและเร่งด่วน และต้องแก้ให้ตรงจุด โดยมีข้อเสนอ 3 ระยะดังนี้ 


1. ระยะสั้น (ภายใน 1 ปี) ต้องแก้อย่างเหมาะสมและตรงจุดที่สุด คือ ต้องพยามลดภาระงานอื่นของครู เพื่อให้ครูสอนได้เต็มที่ โดยที่กระทรวงที่เกี่ยวข้องควรที่จะทบทวนโครงการต่างๆ ที่โรงเรียนต้องรายงานผล ควรบูรณาการไม่ให้รายงานเยอะจนเกินไป


2. ระยะกลาง(ภายใน 3 ปี) ต้องยกเครื่องหลักสูตร ออกแบบระบบอื่นๆ ให้รองรับตัวหลักสูตรใหม่ให้พร้อมในการเอาไปใช้ จำเป็นที่จะต้องปรับหลักสูตรแกนกลางใหม่ให้อิงสมรรถนะมากขึ้น และส่งเสริมการคิดขั้นสูง เช่น การวิเคราะห์ การประเมิน การสร้างสรรสิ่งใหม่ และการทดลองนำไปใช้


3. ระยะยาว (ดำเนินการต่อเนื่อง) แก้ไขตัวเพิ่มประสิทธิภาพของระบบการศึกษาไทย คือ การบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็ก รัฐควรที่จะมีนโยบายที่ชัดเจน อาจจะเริ่มจากข้อเสนอของธนาคารโลกเรื่องการบริหารควบรวมและพัฒนาเป็นเครือข่าย 


งบประมาณการศึกษาคือปัญหาที่แก้ไม่จบ


พงศ์ทัศ ระบุว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมาประมาณ 10 ปี รัฐบาลไทยลงทุนด้านการศึกษาสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่มีรายได้เท่าๆกัน แต่ปรากฎว่าลงทุนเยอะแต่ผลไม่น่าพอใจ นั่นจึงแสดงว่าปัญหาไม่ใช่ประเทศเรามีเงินไม่พอ แต่ปัญหาคือเราใช้เงินอย่างไร ซึ่งอาจจะใช้เงินไม่ตรงจุด ใช้เงินไม่มีประสิทธิภาพ


ดร.สมเกียรติกล่าวเสริมว่า รัฐบาลมีหน้าที่หลักในการพัฒนาระบบการศึกษาไทยให้มีคุณภาพสูง ควบคู่ไปกับการลดความเหลื่อมล้ำ แต่ว่าภาคครอบครัว ชุมชน ที่มีบทบาทสำคัญในการเป็นแหล่งเรียนรู้ของเด็กนักเรียนนอกระบบแล้ว อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญคือ ต้องช่วยสร้างแรงกดดันให้กับฝ่ายการเมืองให้ดำเนินการปฏิรูปการศึกษาอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่ทำเป็นลักษณะเป็นโปรเจคสั้นๆ แล้วก็หยุดกันไปตามยุค ตามสมัย แต่ต้องทำอย่างเป็นรูปธรรม


รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการจำเป็นหรือไม่ที่จะต้องมีความเชี่ยวชาญ ประเด็นนี้ 


ดร.สมเกียรติ กล่าวว่า ที่ผ่านมาเราน่าจะมีรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาฯ เกิน 20 คน แต่ละคนดำรงตำแหน่งช่วงเวลาสั้นๆ เพราะฉะนั้นก็จะไม่สามารถผลักดันการปฏิรูปได้ แต่ในช่วงหลังที่การเมืองเริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้น เช่น รัฐมนตรีคนก่อนหน้านี้ดำรงตำแหน่งนานพอสมควร จึงคาดว่าต่อไปการเปลี่ยนแปลงน่าจะมีเสถียรภาพ พอสมควรตามมา


---------------------------------------------


โครงการประเมินผลนักเรียนระหว่างประเทศ (Programme for International Student Assessment) หรือ ปิซา (PISA) เป็นการทดสอบทางการศึกษาจัดโดยองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ให้แก่ทั้งประเทศสมาชิกและประเทศที่ไม่เป็นสมาชิก มุ่งเน้นวัดความสามารถทางด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการอ่าน ในนักเรียนอายุ 15 ปี จั้ดขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2543 ผลการทดสอบของโครงการฯ มุ่งเน้นให้ประเทศที่เข้าร่วมได้พัฒนานโยบายการศึกษาตลอดจนถึงผลลัพธ์


ประเทศไทย แม้ไม่ใช่สมาชิกขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ แต่ได้เข้าร่วมโครงการนี้โดยมีสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงศึกษาธิการ เป็นผู้รับผิดชอบในการจัดเตรียม การทดสอบ และการนำผลการทดสอบไปใช้


ในปี 2565 มีนักเรียนเข้าร่วมการประเมินประมาณ 690,000 คน จากนักเรียนอายุ 15 ปี ประมาณ 29 ล้านคนทั่วโลก โดยประเทศไทยมีนักเรียนกลุ่มตัวอย่างเข้าร่วมการประเมินจาก 279 โรงเรียน ในทุกสังกัดการศึกษา รวม 8,495 คน



ภาพ TNNOnline 

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง