TNN online "เด็กติดในรถ" ภัยเงียบลืมเด็ก 30 นาทีคร่าชีวิต โศกนาฏกรรมที่ไม่ควรเกิดซ้ำรอย

TNN ONLINE

TNN Exclusive

"เด็กติดในรถ" ภัยเงียบลืมเด็ก 30 นาทีคร่าชีวิต โศกนาฏกรรมที่ไม่ควรเกิดซ้ำรอย

เด็กติดในรถ ภัยเงียบลืมเด็ก 30 นาทีคร่าชีวิต โศกนาฏกรรมที่ไม่ควรเกิดซ้ำรอย

"เด็กติดในรถ" โศกนาฏกรรมซ้ำรอย เปิดข้อมูลหากลืมเด็กไว้ในรถที่จอดกลางแดด แค่ 30 นาที เด็กจะเกิดภาวะช็อก หมดสติและเสียชีวิตได้ พร้อมเผยวิธีป้องกันแก้ไขและการเอาตัวรอดเมื่อลืมเด็กไว้ในรถ

"เด็กติดในรถ" โศกนาฏกรรมซ้ำรอย เปิดข้อมูลหากลืมเด็กไว้ในรถที่จอดกลางแดด แค่ 30 นาที เด็กจะเกิดภาวะช็อก หมดสติและเสียชีวิตได้ พร้อมเผยวิธีป้องกันแก้ไขและการเอาตัวรอดเมื่อลืมเด็กไว้ในรถ

จากกรณี ด.ญ.อายุ 7 ขวบ นักเรียนชั้น ป.2 โรงเรียนแห่งหนึ่งใน จ.ชลบุรี เสียชีวิตภายในรถตู้รับส่งของโรงเรียนสภาพนอนในลักษณะคว่ำหน้า และมีเลือดไหลออกปาก เนื้อตัวซีด บนเบาะที่นั่งพบกระเป๋าเป้สะพายสีดำ และแก้วน้ำดื่มวางอยู่

ข้อมูลจาก กรมควบคุมโรค ตั้งแต่ปี 2557-2563 พบว่า สถานการณ์เด็กที่ถูกลืมและทิ้งให้อยู่ในรถตามลำพัง 7 ปีที่ผ่านมา เกิดขึ้น 129 เหตุการณ์ มีเด็กถูกลืมไว้ในรถ เสียชีวิต 6 ราย เป็นเพศหญิง 3 คน เพศชาย 3 คน อายุระหว่าง 2-6 ปี อายุที่พบมาที่สุด ได้แก่ เด็กอายุ 2 ปี มากที่สุด 38% เด็กอายุ 1 ปี พบ 20.9% เด็กอายุ 3 ปี พบ 19.4%

เกิดเหตุในรถรับส่งนักเรียนมากที่สุด 5 คน เกิดเหตุในรถยนต์ส่วนบุคคล (ของครูศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 1 คน) ทั้งหมดถูกลืมทิ้งไว้นานกว่า 6 ชั่วโมงขึ้นไป โดยเด็กนอนหลับ และรถถูกจอดไว้หลังจากรับส่งนักเรียนเสร็จ และล่าสุดเคส ด.ญ.อายุ 7 ปี

เด็กติดในรถ ภัยเงียบลืมเด็ก 30 นาทีคร่าชีวิต โศกนาฏกรรมที่ไม่ควรเกิดซ้ำรอย


"เด็กติดในรถ" ที่จอดกลางแดด 30 นาที จะช็อกหมดสติ และเสียชีวิตได้

จากข้อมูลการทดสอบกรณีเด็กติดในรถ (จอดรถกลางแดด) ของศูนย์วิจัยสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก โรงพยาบาลรามาธิบดี พบว่า เด็กส่วนใหญ่ที่ติดอยู่ในรถไม่ได้เสียชีวิตเพราะขาดอากาศหายใจ แต่เป็นเพราะความร้อนภายในรถที่สูงขึ้น 

- หากเด็กติดอยู่ในรถที่จอดกลางแดด 5 นาที อุณหภูมิจะสูงขึ้นจนไม่สามารถทนอยู่ได้ 

- หากเด็กติดอยู่ในรถที่จอดกลางแดด 10 นาที ร่างกายจะยิ่งแย่

- หากเด็กติดอยู่ในรถที่จอดกลางแดด 30 นาที เด็กจะเกิดภาวะเลือดเป็นกรด ช็อก หมดสติ สมองบวมตามมา จากนั้นอาจหยุดหายใจ อวัยวะทุกอย่างก็จะหยุดทำงาน และอาจเสียชีวิตได้

เด็กติดในรถ ภัยเงียบลืมเด็ก 30 นาทีคร่าชีวิต โศกนาฏกรรมที่ไม่ควรเกิดซ้ำรอย


ด้าน นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) เปิดเผยกับ "TNN ONLINE" ว่า จากกรณีที่เกิดขึ้นดังกล่าวนั้น มองว่า เด็ก 7 ขวบ เรียนอยู่ชั้น ป.2 ถือเป็นเด็กที่ค่อนข้างโตแล้ว และสามารถที่จะแก้ปัญหาเอาตัวรอดเบื้องต้นได้ เช่น การบีบแตร การเคาะกระจก การร้องเรียกให้คนช่วยเหลือ หรือแม้กระทั่งการปลดล็อกประตูรถ ซึ่งมองว่าอาจจะมาจากสาเหตุอื่น เช่น โรคประจำตัว หรือเรื่องอื่นๆ 

แตกต่างจากเคสเด็กติดในรถแล้วเสียชีวิตที่ผ่านๆ มา ซึ่งพบว่าอายุเฉลี่ยเพียง 2 ขวบเท่านั้น ซึ่งรถที่ลืมเด็กไว้มักจะเป็นรถรับจ้าง รับ-ส่ง นักเรียนของโรงเรียนหรือรับจ้างทั่วไป และเมื่อส่งเรียบร้อยก็นำรถไปจอดตากแดด

ทั้งนี้ สาเหตุที่เด็กเสียชีวิตในรถหลังจากถูกลืมทิ้งไว้ เป็นเรื่องของอากาศร้อนจากอุณหภูมิภายในรถที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ร่างกายจะเกิดสภาวะฮีสโตรก (ลมแดด) อุณหภูมิในร่างกายสูงมาก เมื่อจอดรถตากแดดไว้นานๆ อุณหภูมิในรถจะขึ้นเป็น 40-50 องศาเซลเซียส ร่างกายจะเกิดอาการขาดน้ำ เลือดเป็นกรด (Acidosis) การทำงานของระบบต่างๆ การหายใจ การไหลเวียนของเลือด ไต จะทำงานลดลง และเสียชีวิตในที่สุด

เด็กติดในรถ ภัยเงียบลืมเด็ก 30 นาทีคร่าชีวิต โศกนาฏกรรมที่ไม่ควรเกิดซ้ำรอย

"ลืมเด็กในรถ" เปิดทางแก้หัวใจสำคัญป้องกันโศกนาฏกรรมซ้ำรอย

นพ.ธนะพงศ์ มองว่า ตนให้ความสำคัญกับระบบการรีเช็ก และการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย ผลักดันให้เป็นระบบหลักที่ต้องปฏิบัติก่อนเป็นอย่างแรก ส่วนการจะทำเสริมอย่างการรณรงค์นั้น ทำได้ แต่อย่าให้การรณรงค์ หรือการสอนเด็กบีบแตรแล้วจบแค่นั้น แบบนี้ไม่ใช่การแก้ปัญหา แต่จะเป็นประเทศที่เอาแต่รณรงค์

ดังนั้น ผู้ปกครองและผู้เกี่ยวข้องต้องปรับระบบและแก้ไขในระบบหลัก และระบบเสริม ดังนี้

ระบบหลักที่ต้องทำเร่งด่วน

1.รีเช็กซ้ำ นับจำนวนเด็ก

ระบบจัดการเป็นเรื่องสำคัญ บ้านเราขาดระบบการตรวจสอบนับจำนวนเด็ก ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของเหตุการณ์นี้ เมื่อรถโรงเรียน หรือรถรับจ้างรับ-ส่งนักเรียน มาส่งนักเรียนเสร็จเรียบร้อยแล้วนั้น คนขับ ครูพี่เลี้ยง ครูประจำชั้น จะต้องมีการตรวจเช็กนับจำนวนเด็กก่อนขึ้นลงจากรถทุกครั้ง ดังนั้น เมื่อหาโรงเรียนให้ลูกผู้ปกครองควรเลือกโรงเรียนที่มีระบบการรีเช็กเด็ก มีเทคโนโลยีสแกนบัตร หรือมีครูเวรมายืนรับนักเรียน ซึ่งจะสร้างความมั่นใจในการป้องกันปัญหาที่เกิดขึ้นได้

2.ใช้บัตรสแกนเข้า-ออกโรงเรียน

นอกจากนี้ เพื่อให้มีความรัดกุมอาจจะเพิ่มระบบการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย เหมือนโรงเรียนเอกชน หรือโรงเรียนรัฐ ที่ให้เด็กมีบัตรนักเรียนเพื่อสแกนเข้าโรงเรียน เมื่อสแกนบัตรแล้วก็จะส่งสัญญาณไปยังแอปพลิเคชั่นในโทรศัพท์ผู้ปกครองว่าลูกถึงโรงเรียนแล้ว ลูกเข้าห้องเรียนเรียบร้อยแล้ว

เด็กติดในรถ ภัยเงียบลืมเด็ก 30 นาทีคร่าชีวิต โศกนาฏกรรมที่ไม่ควรเกิดซ้ำรอย

ระบบเสริม

3.การฝึกให้เด็กรู้จักเอาตัวรอด

การสอนเด็กให้มีความรู้ในการเอาตัวรอดเมื่อติดอยู่ในรถ เช่น การ "บีบแตร" ขอความช่วยเหลือ หากติดในรถ การเคาะเรียกคนเพื่อขอความช่วยเหลือ หรือการฝึกปลดล็อกประตูรถจากด้านในรถ ซึ่งก็เป็นการรณรงค์ที่สามารถทำเสริมได้ 

4.ติดสติกเกอร์เตือน

โรงเรียนสามารถติดสติ๊กเกอร์เตือนไว้ทั้งในรถนอกรถได้ว่า อย่าลืมเด็กไว้ในรถ เมื่อเห็นสติกเกอร์จะช่วยกระตุ้นเตือนความจำเพื่อให้ตรวจสอบภายในรถได้ ซึ่งสามารถทำเสริมจากระบบหลักได้เช่นกัน

"รัฐต้องจัดให้มีระบบหลัก รีเช็กซ้ำ แต่บ้านเราชอบทำระบบเสริมไปรณรงค์ต่างๆ แต่ระบบหลักกลับไม่ได้ทำ เหมือนเวลาขึ้นเครื่องบิน พนักงานจะนับผู้โดยสารนับแล้วนับอีก ดังนั้น ต้องทำระบบหลักก่อน" นพ.ธนะพงศ์ กล่าว ย้ำ

ท้ายที่สุดนี้ นพ.ธนะพงศ์ กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวนี้จะต้องมีการรับผิดชอบ เช่น หน่วยงานด้านการศึกษา หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องแสดงความรับผิดชอบ โรงเรียนอยู่ในสังกัดใด ขณะที่ก่อนหน้านี้ ก็เคยมีเคสลืมเด็กในรถ ซึ่งกรมส่งเสริมการปกครองมีข้อสั่งการเกี่ยวกับการป้องกันเหตุมากมาย แต่สุดท้ายแล้วก็มีเหตุการณ์เกิดขึ้นซ้ำอีก 

ดังนั้น คำถามคือ หากมีเหตุการณ์ลืมเด็กไว้ในรถ หรือเด็กติดในรถ แล้วเสียชีวิตรายต่อไปอีก จะต้องรับผิดชอบกันอย่างไร?


เรื่องและภาพ โดย ทีมข่าว TNN ONLINE

ภาพปก โดย freepik/jcomp

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง