อาวุธสงครามยุคใหม่ ใช้เทคโนโลยี ไม่ใช้คน | TNN Tech Reports
“เทคโนโลยีเปลี่ยนโลก” ประโยคนี้ไม่เกินจริง เพราะเข้ามาเปลี่ยนทุกวงการ เช่นเดียวกับวงการผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ถูกสร้างให้ทรงพลังมากขึ้น แม่นยำมากขึ้น รวมถึงป้องกันการโจมตีจากฝ่ายตรงข้ามได้
ยุคสมัยแห่งการรบกำลังจะเปลี่ยนไป หลังจากที่กองทัพทั่วโลกได้ระดมเทคโนโลยีมาเสริมความแข็งแกร่งให้กับอาวุธยุทโธปกรณ์ ทำให้มันรุนแรง ฉลาด และแม่นยำมากขึ้น แน่นอนว่าช่วยให้แต่ละประเทศปลอดภัย ขณะเดียวก็ช่วยลดกำลังพลในการออกปฏิบัติการแต่ละครั้งอีกด้วย
สั่งการ “หุ่นยนต์สุนัข” เพื่อสู้รบด้วยจิตใจ
เป็นการควบคุมสั่งการหุ่นยนต์สุนัขผ่านจิตใจ หรือสัญญาณคลื่นสมองเพื่อใช้สำหรับฝึกซ้อมรบ และช่วยการลาดตระเวนโดยเฉพาะ พัฒนาโดยกองทัพออสเตรเลีย
ความสำเร็จนี้ เกิดขึ้นจากการพัฒนาสมองเทียมของหุ่นยนต์สุนัข หรือ เบรน โรบอติก อินเตอร์เฟซ (Brain Robotic Interface) ซึ่งใช้ปัญญาประดิษฐ์ รับสัญญาณคลื่นสมองของมนุษย์ มาแปลงเป็นคำสั่งการทำงานของหุ่นยนต์
โดยนำไปใช้กับหุ่นยนต์สุนัข โกสต์ โรบอติกส์ วิชัน 60 (Ghost Robotics Vision 60) ร่วมกับอุปกรณ์ที่ทหารผู้บังคับหุ่นยนต์ต้องสวมใส่ ประกอบไปด้วย หมวกสวมครอบศีรษะ และแว่นตาโฮโลเลนส์ ทู (HoloLens 2) ซึ่งเป็นแว่นตาแสดงผลแบบผสานความจริงเสมือน หรือ มิกซ์ เรียลลิตี้ (Mixed Reality) จากบริษัทไมโครซอฟท์
หลักการทำงาน ตัวหมวกจะทำหน้าที่รับสัญญาณไฟฟ้าคลื่นสมองของทหาร และแปลงเป็นรหัสคำสั่ง ส่งไปยังหุ่นยนต์สุนัข จากนั้นสมองเทียมของหุ่นยนต์ก็จะนำรหัสคำสั่งที่ได้รับ ไปเปรียบเทียบกับรูปแบบการทำงานของหุ่นยนต์ทั้งหมดที่เป็นไปได้ และเลือกตอบสนองด้วยรูปแบบที่ใกล้เคียงที่สุด
ยกตัวอย่างเช่น ถ้าต้องการให้หุ่นยนต์สุนัขเดินทางไปจุด ๆ หนึ่ง ก็แค่คิดว่าจะเดินไปที่จุดนั้น AI ก็จะแปลงสัญญาณจากคลื่นสมอง และสั่งการให้หุ่นยนต์เดินไปทางนั้น โดยเทียบกับแผนที่ และสัญญาณคลื่นสมองที่เคยทำฐานข้อมูลเตรียมไว้ล่วงหน้า
ส่วนข้อมูลการรบ จะไปผสานเข้ากับสภาพภูมิประเทศจริง ๆ และแสดงผลบนเแว่นตาโฮโลเลนส์ เพื่อให้ทหารราบเห็นสภาพพื้นที่การรบได้กว้างมากขึ้น ผ่านมุมมองของหุ่นยนต์สุนัข ซึ่งเป็นผลดีต่อการสอดแนมหรือการลาดตระเวนในพื้นที่ศัตรู
ฟีเชอร์ดังกล่าวช่วยเพิ่มศักยภาพในการฝึกทหารใหม่ ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยตัวระบบสามารถจำลองสภาพภูมิประเทศที่ท้าทาย, สภาพภูมิอากาศที่สุดขั้ว หรือแม้แต่สมรภูมิรบเสมือนได้ และในอนาคตหุ่นยนต์สุนัขจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของการนำทาง การสำรวจ และยกระดับการป้องกันภัยให้กับทหารได้
ผลงานดังกล่าวนำโดยทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีซิดนีย์ ภายใต้ชื่อโครงการริโค่ (RICO: Robotic and Autonomous Systems Implementation & Coordination Office) เพื่อเสริมความแกร่งให้กองทัพออสเตรเลีย เป็นกองทัพชั้นนำ ที่นำเทคโนโลยีมาใช้อย่างเต็มที่ในอนาคต
“โดรนทหาร STRIX” ใช้ตรวจการณ์และโจมตี
เดอะ สตริกซ์ (The STRIX) คือโดรนไร้คนขับแบบบินขึ้นและลงจอดในแนวดิ่งพลังงานไฮบริด บรรทุกของหนักได้บินไกลได้ ช่วยปฏิบัติภารกิจทางทหาร พัฒนาโดย บีเออีซิสเต็มส์ (BAE Systems) บริษัทผู้พัฒนาอาวุธยุทโธปกรณ์ชื่อดังจากอังกฤษ
จุดเด่นของโดรนตัวนี้ สามารถบรรทุกอาวุธและสิ่งของหนักได้ถึง 160 กิโลกรัม และบินได้ไกลถึง 800 กิโลเมตร ขณะที่โครงสร้าง ออกแบบให้มีขนาดเล็ก สามารถพับเก็บได้ โดยขนาดตัวเครื่องขณะถูกพับเก็บอยู่ที่ 2.6 x 4.5 เมตรเท่านั้น ทำให้สามารถบรรจุโดรนบินลำนี้ไว้ในตู้คอนเทนเนอร์ และขนย้ายด้วยรถบรรทุกได้ง่าย
ส่วนการลงจอดจะใช้ แลนดิ้ง เกียร์ (LANDING GEAR) หรือระบบล้อรับแรงกระแทกขณะบินลง ช่วยรองรับเครื่องในขณะที่อยู่บนพื้นดิน ซึ่งระบบนี้ติดตั้งอยู่ที่บริเวณปลายหางเครื่อง และที่ล้ออีกชุดตรงกลางเครื่อง ทำให้สามารถเคลื่อนที่ ไปตามพื้น แบบเชิดหัวเครื่องขึ้นเพื่อเตรียมบินขึ้น หรือลงจอดในแนวดิ่งได้ แบบไม่จำเป็นต้องมีรันเวย์
สำหรับความสามารถในการปฏิบัติงาน บริษัทให้นิยาม เดอะ สตริกซ์ ว่าเป็น “ระบบอากาศยานไร้คนขับพลังงานไฮบริด” ที่ทำงานได้หลากหลาย ทั้งปฏิบัติการโจมตีจากอากาศสู่พื้น พร้อมระบบลาดตระเวน และระบบตรวจการณ์อัจฉริยะ
นอกจากนี้ เดอะ สตริกซ์ ยังรองรับการควบคุมทั้งจากสถานีภาคพื้นดินและจากเฮลิคอปเตอร์ โดยปัจจุบัน ตัวต้นแบบของเดอะ สตริกซ์ ยังคงอยู่ในช่วงการพัฒนา และจะสามารถนำเข้าประจำการได้เร็วสุดในปี 2026 เป็นต้นไป
อาวุธยิงคลื่นไมโครเวฟต่อสู้กับฝูงโดรน
เอ-พรีอุส ลีโอ-ไนดัส (Epirus Leonidas) เป็นอาวุธยิงคลื่นไมโครเวฟต่อสู้กับฝูงโดรน จากกองกองทัพสหรัฐ เป็นระบบอาวุธที่ใช้เทคโนโลยียิงคลื่นไมโครเวฟกำลังสูง ไปรบกวนหรือทำลายอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของโดรนบิน ทำให้โดรนตกลงสู่พื้นได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ
จุดเด่นของระบบนี้ คือสามารถยิงพลังงานเพื่อทำลายฝูงโดรนของข้าศึกได้ โดยไม่ทำอันตรายกับโดรนบินพันธมิตร และยังสามารถกำหนดการโจมตีไปที่โดรนตัวเดียวได้ หรือสร้างกำแพงคลื่นไมโครเวฟเพื่อสกัดฝูงโดรนได้ด้วย
นอกจากนี้ ยังมีข้อดีในแง่ของการลดค่าใช้จ่ายแทนที่จะต้องใช้กระสุน หรือใช้จรวดต่อต้านอากาศยานราคาหลายร้อยล้านบาทเพื่อไปยิงสกัดโดรน แต่ตัวอาวุธนี้จะใช้การยิงพลังงานแทนทำให้ต้นทุนการใช้งานแต่ละครั้งค่อนข้างต่ำ
สำหรับแนวคิดในการพัฒนาระบบอาวุธยิงคลื่นไมโครเวฟนี้ ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อปิดจุดอ่อนของระบบป้องกันภัยทางอากาศแบบเดิมที่ไม่สามารถยิงทำลายโดรนขนาดเล็กของฝ่ายข้าศึกได้ทันเวลา ในกรณีที่มีการใช้โดรนบินโจมตีพร้อมกันหลายลำ แต่ด้วยวิธีนี้ก็จะจัดการกับฝูงโดรนได้พร้อมกันในครั้งเดียว
ซึ่งคาดว่ากองทัพสหรัฐฯ อาจจะเริ่มนำเทคโนโลยีอาวุธรุ่นนี้มาใช้ด้านการทหารมากขึ้นในอนาคต เพื่อตอบสนองต่อการทำสงครามในยุคปัจจุบัน ที่มีการใช้งานโดรนมากขึ้น ทั้งในภารกิจลาดตระเวน การระบุเป้าหมาย กำหนดจุดตกของกระสุนปืนใหญ่ รวมไปถึงการบัญชาการรบในแนวหน้า
ข่าวแนะนำ
-
จีนเร่งพัฒนาจรวดขนส่งไปดวงจันทร์
- 20/6/67