TNN online อิตาลีเสนอวิธีทำแบตเตอรี่แบบใหม่ให้กินได้ทั้งก้อน !

TNN ONLINE

Tech

อิตาลีเสนอวิธีทำแบตเตอรี่แบบใหม่ให้กินได้ทั้งก้อน !

อิตาลีเสนอวิธีทำแบตเตอรี่แบบใหม่ให้กินได้ทั้งก้อน !

อิตาลีสร้างแบตเตอรี่กินได้ แบตเตอรี่ที่มีส่วนประกอบเหมือนอาหาร ทั้งสาหร่าย ถั่วอัลมอนด์ ผักเคเปอร์ที่เป็นพืชตระกูลใบเขียว กลืนลงท้องได้โดยไม่เป็นอันตรายเพื่อใช้ทางการแพทย์กับมนุษย์



ถั่วอัลมอนด์ สาหร่าย ชาร์โคล ผักเคเปอร์ในตระกูลพืชใบเขียว วัตถุดิบเหล่านี้ได้รับการนำไปต่อยอดเป็นส่วนประกอบของแบตเตอรี่ชาร์จไฟฟ้า ที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าใช้งานได้จริง จากผลงานของทีมนักวิจัยจากสถาบันเทคโนโลยีอิตาลี (Italian Institute of Technology)


ตัวต้นแบบแบตเตอรี่กินได้จากอิตาลีจะมีรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดพื้นที่ 0.155 ตารางนิ้ว ทีมวิจัยยังไม่เปิดเผยความหนาแต่คาดว่าจะมีขนาดโดยรวมใหญ่กว่าลูกอมเล็กน้อย ซึ่งภายนอกจะมองเห็นส่วนสีครีมซึ่งเป็นตัวปิดเซลล์แบตเตอรี่ที่ทำมาจากขี้ผึ้ง ถัดกันเป็นส่วนของแผ่นทองที่สามารถรับประทานได้และบางเป็นพิเศษโลหะสำหรับใช้ส่งกระแสไฟฟ้า


ภายในของแบตเตอรี่กินได้จะประกอบได้ด้วยสารสกัดจากวัตถุดิบประกอบอาหารเพื่อใช้กักเก็บประจุไฟฟ้า ในฝั่งของขั้วแอโนด (Anode) หรือขั้วบวก จะทำมาจากสารไรโบฟลาวิน (Riboflavin) ที่สามารถพบได้ในถั่วอัลมอนด์ และขั้วแคโทด (Cathode) หรือขั้วลบนั้นทำมาจากสารเควอซีติน (Quercetin) ที่มาจากเคเปอร์ (Caper) กลุ่มตระกูลผักใบเขียวที่มีรสขม


ขั้นตอนการทำแบตเตอรี่กินได้จะเริ่มจากการเตรียมสารสกัดจากวัตถุดิบต่าง ๆ ที่ระบุไว้ข้างต้น จากนั้นจะใช้ชาร์โคล (Charcoal) หรือถ่านในการเพิ่มความนำไฟฟ้า (Induction) ให้กับแผ่นทองซึ่งทำหน้าที่ส่งกระแสไฟฟ้า จากนั้นจะทำการแยกขั้วบวกและขั้วลบของแบตเตอรี่ด้วยแผ่นสาหร่าย และเมื่อผสมสารสกัดจากวัตถุดิบในแต่ละขั้วแล้วจะทำการขึ้นรูปเป็นก้อนแบตเตอรี่ด้วยขี้ผึ้ง (Beewax) ต่อไป


โดยผลการทดสอบแบตเตอรี่กินได้พบว่าสามารถจ่ายไฟฟ้าที่ความต่างศักย์ (V: Voltage) 0.65 โวลต์ (V) ด้วยกระแสไฟ 48 ไมโครแอมแปร์ (µA) เป็นเวลาต่อเนื่อง 12 นาที เพียงพอต่อการทำให้หลอดไฟแอลอีดี (LED) ขนาดเล็กสว่างขึ้นมา 


อย่างไรก็ตาม แบตเตอรี่กินได้ตัวนี้ไม่สามารถย่อยในกระเพาะอาหารหรือลำไส้ได้ แต่ผ่านการทดสอบแล้วว่าสามารถกลืนลงไปได้โดยไม่เป็นอันตรายใด ๆ กับมนุษย์ ซึ่งอาจนำไปใช้ร่วมกับอุปกรณ์ในการตรวจวัดคุณภาพอาหารได้ 


งานวิจัยชิ้นนี้ได้รับการตีพิมพ์ลงในวารสารวิชาการ แอดวานซ์ด แมตทีเรียลส์ (Advanced Materials) เป็นที่เรียบร้อยแล้วเมื่อ 15 มีนาคมที่ผ่านมา โดยเป้าหมายต่อไปของทีมวิจัยจะเป็นการต่อยอดการใช้แบตเตอรี่กินได้ไปใช้จ่ายกระแสไฟฟ้าให้กับอุปกรณ์ทางการแพทย์ เช่น เซนเซอร์ตรวจวัดสุขภาพที่ต้องกลืนลงไปในร่างกายต่อไป และงานวิจัยชิ้นนี้อาจปฏิวัติการตรวจและวินิจฉัยโรคในอนาคตได้


ที่มาข้อมูล Euronews, New Atlas, designTAXI

ที่มารูปภาพ Italian Institute of Technology

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง