TNN online เครื่องบินอวกาศ X-37B กองทัพสหรัฐฯ ทำลายสถิติบินในวงโคจรนาน 908 วัน

TNN ONLINE

Tech

เครื่องบินอวกาศ X-37B กองทัพสหรัฐฯ ทำลายสถิติบินในวงโคจรนาน 908 วัน

เครื่องบินอวกาศ X-37B กองทัพสหรัฐฯ ทำลายสถิติบินในวงโคจรนาน 908 วัน

เครื่องบินอวกาศเอ็กซ์-37บี (X-37B) ของกองทัพสหรัฐฯ ลงจอดแล้ว ณ ศูนย์อวกาศเคนเนดี (Kennedy Space Center) ทำลายสถิติเที่ยวบินก่อนหน้าด้วยระยะเวลาบิน 908 วัน ในวงโคจร

เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2022 ที่ผ่านมา เครื่องบินอวกาศเอ็กซ์-37บี (X-37B) ของกองทัพสหรัฐฯ ได้ลงจอด ณ ศูนย์อวกาศเคนเนดี (Kennedy Space Center) อันเป็นการสิ้นสุดภารกิจทดสอบการบินครั้งที่ 6 ของเครื่องบิน และเป็นการทำลายสถิติในเที่ยวบินก่อนหน้าด้วยระยะเวลาบินในวงโคจรนานถึง 908 วัน

เครื่องบินอวกาศ X-37B กองทัพสหรัฐฯ ทำลายสถิติบินในวงโคจรนาน 908 วัน

กองทัพสหรัฐฯ ร่วมมือโบอิ้ง (Boeing) 

โดยเครื่องบินอวกาศเอ็กซ์-37บี เป็นเครื่องบินที่สร้างโดยบริษัท โบอิ้ง (Boeing) ภายใต้ความร่วมมือกับกองทัพสหรัฐฯ เพื่อสร้างเครื่องบินอวกาศเอ็กซ์-37บี ตัวจริงให้กับกองทัพเป็นจำนวน 2 ลำ หลังจากทุกอย่างผ่านการทดสอบ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีการทดสอบบินเครื่องบินอวกาศเอ็กซ์-37บี มาแล้วถึง 5 ครั้ง และในครั้งก่อนหน้ามันทำสถิติการบินในวงโคจรไปถึง 780 วัน


“นับตั้งแต่เอ็กซ์-37บีเปิดตัวครั้งแรกในปี 2010 มันได้ทำลายสถิติและทำให้ประเทศของเรามีความสามารถที่เหนือชั้นในการทดสอบและรวมเทคโนโลยีอวกาศใหม่ ๆ ได้อย่างรวดเร็ว” - จิม ชิลตัน (Jim Chilton) รองประธานอาวุโสของโบอิ้ง สเปซ แอนด์ ลันช์ (Boeing Space and Launch)


เทียบกับกระสวยอวกาศ 

สำหรับหลักการทำงานของมันคล้ายกับกระสวยอวกาศ (Space Shuttle) ของนาซา (NASA) ที่เกษียณไปแล้ว ซึ่งเป็นการนำส่งยานอวกาศหรือเพย์โหลดการทดลองขึ้นสู่ความสูงในระดับอวกาศ แต่เครื่องบินอวกาศเอ็กซ์-37บี มีขนาดเล็กกว่า ด้วยความยาวลำตัวตั้งแต่จมูกไปจนถึงหาง 29 ฟุต หรือ 8.8 เมตร ในขณะที่กระสวยอวกาศมีความยาวลำตัวที่ 122 ฟุต หรือ 37 เมตร อีกทั้ง กระสวยอวกาศจำเป็นต้องอาศัยนักบินในการควบคุม แต่เครื่องบินอวกาศเอ็กซ์-37บี สามารถทำงานได้แบบอัตโนมัติ


โดยในการทดสอบครั้งที่ 6 นี้ เครื่องบินได้บรรทุกการทดลองของนาซาขึ้นไปด้วย ซึ่งหนึ่งในนั้นเป็นการทดลองหาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากรังสีในอวกาศต่อเมล็ดพืช อย่างไรก็ตาม แม้เครื่องบินอวกาศเอ็กซ์-37บี จะไม่เทียบเท่ากับสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) ในปัจจุบัน แต่มันจะช่วยกองทัพสหรัฐฯ, นาซา หรือโบอิ้งประหยัดงบประมาณไปได้มาก สำหรับส่งชุดการทดลองขนาดเล็กขึ้นทดสอบในอวกาศ


ข้อมูลและภาพจาก boeing.mediaroom.com

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง