TNN online รู้ทัน 'โรคปลายประสาทอักเสบ' สัญญาณเริ่มต้นของโรคร้าย

TNN ONLINE

สังคม

รู้ทัน 'โรคปลายประสาทอักเสบ' สัญญาณเริ่มต้นของโรคร้าย

รู้ทัน 'โรคปลายประสาทอักเสบ' สัญญาณเริ่มต้นของโรคร้าย

อาการมือชา-เท้าชา ใครเคยเป็นบ้าง? ชื่อว่ามีหลายคนเคยเป็นแต่มักไม่ค่อยใส่ใจ เพราะคิดว่าเกิดชั่วคราวและหายได้เอง แต่ในความเป็นจริงแล้วนั้น อาการชาที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง อาจเป็นสัญญาณเตือนของ "โรคปลายประสาทอักเสบ" ได้

อาการมือชา-เท้าชา ใครเคยเป็นบ้าง? 

...เชื่อว่ามีหลายคนเคยเป็นแต่มักไม่ค่อยใส่ใจ เพราะคิดว่าเกิดชั่วคราวและหายได้เอง แต่ในความเป็นจริงแล้วนั้น  อาการชาที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง อาจเป็นสัญญาณเตือนของ "โรคปลายประสาทอักเสบ" ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งที่น่ากลัวตามมาหลังจากเป็นโรคปลายประสาทอักเสบโดยที่ไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี อาจทำให้มีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง กล้ามเนื้อลีบ และความรู้สึกรับรู้ลดลงจนหมดความรู้สึกที่อวัยวะส่วนนั้นได้

โรคปลายประสาทอักเสบ (Peripheral neuropathy) เป็นกลุ่มอาการของเส้นประสาท ซึ่งทําหน้าที่นําคําสั่งจากสมองและไขสันหลังไปยังอวัยวะต่างๆ รวมถึง ทําหน้าที่รับความรู้สึกจากอวัยวะต่างๆ กลับไปยังสมอง เส้นประสาทสามารถแบ่งได้เป็น 3 ประเภท ได้แก่

1. ประสาทรับความรู้สึกซึ่งเป็นเส้นประสาทที่เชื่อมต่อ สมอง และไขสันหลังกับผิวหนัง หรือ อวัยวะภายใน

2. เส้นประสาทสั่งการหรือนําคําสั่ง ซึ่งเป็นประสาทที่เชื่อมต่อสมองและไขสันหลังกับกล้ามเนื้อ

3. ระบบประสาทอัตโนมัติ ซึ่งเป็นประสาทที่เชื่อมต่อสมองและไขสันหลังกับอวัยวะภายใน

รู้ทัน 'โรคปลายประสาทอักเสบ' สัญญาณเริ่มต้นของโรคร้าย

อาการของโรคปลายประสาทอักเสบ

ผู้ป่วยที่เป็นโรคปลายประสาทอักเสบ จะมีอาการชาตามส่วนต่างๆ หรือความรู้สึกลดลงที่บริเวณปลายมือและเท้า กล้ามเนื้ออ่อนแรง เสียการทรงตัวหรือเดินเซ เนื่องจากการรับความรู้สึกที่เท้าผิดปกติ ความดันโลหิตลดลงต่ำ ท้องผูกหรือท้องเสีย อาหารย่อยยาก เหงื่อออกมากกว่าปกติ ซึ่งอาการดังกล่าว มักเป็นตลอดเวลา หรือเป็นๆ หายๆ ขึ้นอยู่กับสาเหตุของโรค

ทั้งนี้ หากพบว่ามีอาการชาตามปลายนิ้วมือนิ้วเท้าลามถึงสะโพก อย่านิ่งนอนใจ เพราะหากปล่อยไว้นานๆ อาจเป็นโรคอัมพฤกษ์-อัมพาตได้ ซึ่งสาเหตุอาจเกิดจากกระดูกสันหลังหักกดทับเส้นประสาทนั่นเอง

รู้ทัน 'โรคปลายประสาทอักเสบ' สัญญาณเริ่มต้นของโรคร้าย

ภาพโดย VSRao จาก Pixabay

สาเหตุของโรคปลายประสาทอักเสบ

- โรคเบาหวาน ซึ่งเป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุด

- เส้นประสาทถูกกดทับ จากการใส่เฝือก หรือใช้ไม้ค้ำ หรือการใช้งานข้อมือซ้ำๆ เป็นสาเหตุที่มักพบในผู้สูงวัย และผู้ที่ทำกิจกรรมในอิริยาบถเดิมๆ เป็นเวลานาน เช่น การนั่งหรือนอนตลอดทั้งวัน

- เกิดอุบัติเหตุ ทำให้เกิดบาดแผลและความเสียหายต่อเส้นประสาท เช่น การบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา หรืออุบัติเหตุอื่นๆ

- โรคทางภูมิคุ้มกัน เช่น โรคข้อรูมาตอยด์ โรค SLE โรคปลอกประสาทอักเสบเฉียบพลันหรือเรื้อรัง และโรคหลอดเลือดอักเสบ - โรคของความผิดปกติทางพันธุกรรม การติดเชื้อไวรัส เช่น เชื้อ HIV

- การได้รับสารพิษต่างๆ หรือการขาดวิตามิน เช่น วิตามิน B1 B6 B12

- เนื้องอกและมะเร็ง เช่น โรคมะเร็งกระดูก มะเร็งต่อมน้ำเหลือง โรคไต โรคตับ หรือภาวะต่อมไทรอยด์ผิดปกติ

ผู้ที่เสี่ยงต่ออาการชาจากโรคปลายประสาทอักเสบ ได้แก่ ผู้ที่รับประทานอาหารเจ หรือมังสวิรัติ ปลาร้า ใบชา ใบเมี่ยง หมากพลู และทานมังสวิรัติ มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคปลายประสาทอักเสบเช่นกัน เนื่องจากอาหารประเภทนี้จะมีสารทำลายวิตามิน B1 หากรับประทานต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานอาจทำให้ขาดวิตามินเหล่านี้ได้

รวมถึง ผู้สูงอายุก็เป็นอีกหนึ่งกลุ่มเสี่ยง เพราะผู้สูงอายุมักพบภาวะขาดวิตามิน B1, B6 และ B12 เนื่องจากทานอาหารได้น้อยกว่าคนปกติ รวมถึงร่างกายของผู้สูงอายุดูดซึมวิตามินได้ลดลง

รู้ทัน 'โรคปลายประสาทอักเสบ' สัญญาณเริ่มต้นของโรคร้าย

ภาพโดย andreas160578 จาก Pixabay

วิธีการรักษาโรคปลายประสาทอักเสบ

การรักษาอาการชาปลายนิ้วมือนิ้วเท้า แบ่งเป็น 3 ระดับ ได้แก่

ระดับที่ 1 อาการชาไม่รุนแรง คือ มีอาการชาแปล๊บๆ เป็นระยะ ให้สะบัดข้อมือข้อเท้า หรือเปลี่ยนอิริยาบถ ก็สามารถหายได้ หรืออาจรับประทานวิตามินบีเสริม เพื่อเติมเต็มส่วนที่ขาด เป็นต้น

ระดับที่ 2 อาการชารุนแรงและต่อเนื่อง อาจต้องรักษาอาการชาปลายมือปลายเท้าด้วยยาต้านการอักเสบของเส้นประสาท หากอาการชายังไม่ดีขึ้นแพทย์อาจพิจารณาผ่าตัดเอ็นที่กดรัดเส้นประสาทนั้นออก

ระดับที่ 3 ผลข้างเคียงจากโรคอื่น เช่น เบาหวาน ผู้ป่วยควรลดระดับน้ำตาลในเลือด สำหรับหญิงวัยหมดประจำเดือน แพทย์อาจให้วิตามินเสริมแก่ร่างกาย เป็นต้น

สำหรับการวินิจฉัยและการรักษาแพทย์จะดูจากประวัติคนไข้เป็นสำคัญ ร่วมกับการตรวจร่างกาย จากนั้นส่งตรวจเลือด  ตรวจการทำงานของกล้ามเนื้อ การทำงานของเส้นประสาท ตรวจเอกซเรย์ด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เพื่อหาสาเหตุของโรค โดยการรักษาปลายประสาทอักเสบ สามารถทำได้หลายวิธี ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค เช่น การรักษาด้วยยา การผ่าตัด และการบำบัดอื่น อย่างการใช้เครื่องไฟฟ้ากระตุ้นเส้นประสาท การทำกายภาพบำบัด และการใช้ไม้ค้ำพยุง หรือเครื่องช่วยเดิน เป็นต้น

ดังนั้น หากพบว่ามีอาการชา อ่อนแรงหรือเจ็บผิดปกติที่มือหรือเท้า ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาอย่างทันท่วงที ซึ่งจะช่วยลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับเส้นประสาทส่วนปลาย ทําให้มีโอกาสหายเป็นปกติได้มากขึ้น

รู้ทัน 'โรคปลายประสาทอักเสบ' สัญญาณเริ่มต้นของโรคร้าย

ภาพโดย Freepik

การป้องกันโรคปลายประสาทอักเสบ

- การป้องกันและควบคุมโรคที่เป็นสาเหตุ เช่น โรคเบาหวาน การติดเชื้อไวรัส และแบคทีเรียต่างๆ

- ทานอาหารที่มีประโยชน์ และอาหารที่มีวิตามินบี 12 สูง เช่น ผักใบเขียว ธัญพืช ข้าวซ้อมมือ อาหารที่มีโปรตีนไขมันต่ำ

- หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมที่เสี่ยงต่อเส้นประสาทถูกกดทับ เช่น การยกของหนัก การก้มๆ เงยๆ ในท่าเดิมนานๆ

- ออกกำลังเป็นประจำ และควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ

- หลีกเลี่ยงการไขว้ขาและการนั่งในท่าที่อาจกดทับเส้นประสาทควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด

- ลดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

- รับประทานวิตามิน B1, B6 และ B12 อย่างเหมาะสมเพราะวิตามิน B มีส่วนช่วยในการทำงานของระบบประสาทและสมอง และช่วยซ่อมแซมปลอกหุ้มเซลล์ประสาท

หากพบเจออาการมือเท้าชา อย่าเพิ่งนิ่งนอนใจ เพราะหากเป็นต่อเนื่องและทวีความรุนแรงมากขึ้น อาจเป็นสัญญาณเริ่มต้นของโรคอันตรายได้


ขอบคุณข้อมูลจาก : กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข , รพ.เวชธานี 



ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง