TNN online ชำแหละดี-เสีย 'ดื่มน้ำปัสสาวะ' รักษาโรคได้จริงหรือ?

TNN ONLINE

สังคม

ชำแหละดี-เสีย 'ดื่มน้ำปัสสาวะ' รักษาโรคได้จริงหรือ?

ชำแหละดี-เสีย 'ดื่มน้ำปัสสาวะ' รักษาโรคได้จริงหรือ?

ถกเถียงสนั่นเมืองกับประเด็น "ดื่มน้ำปัสสาวะรักษาโรค" มีการกล่าวอ้างว่าเป็นความเชื่อ ใช้ได้ผลจริง ขณะที่ อีกฝ่ายระบุว่า ยังไม่มีการยืนยันผลทางวิทยาศาสตร์ สรุปแล้วข้อเท็จจริงเป็นอย่าางไร?

กำลังเป็นกระแสร้อนแรงอยู่ในหน้าข่าวขณะนี้ ถึงการดื่มน้ำ "ปัสสาวะ" เพื่อรักษาโรค บ้างก็ว่าสกปรกมีเชื้อโรคอยู่มากมาย ขณะที่ อีกมุมยืนยันว่า มีการช่วยรักษาโรคได้ สรุปแล้วแท้จริงนั้นเป็นอย่างไรกันแน่?

ทีมข่าว TNN ได้พูดคุยกับ นพ.วีระสิงห์ เมืองมั่น แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องระบบทางเดินปัสสาวะ ได้ชำแหละข้อมูลเกี่ยวกับประเด็นฮอตนี้ ถ้าอยากรู้ลึก รู้จริง เกี่ยวกับเรื่องปัสสาวะ ต้องอ่าน!

ชำแหละ "ปัสสาวะ" มนุษย์ ประกอบไปด้วยอะไรบ้าง

นพ.วีระสิงห์ กล่าวว่า ในน้ำปัสสาวะมีทั้งของดี ของที่เหลือใช้ และของที่ร่างกายไม่ต้องการ ซึ่งถูกกำจัดออกไปทางไต โดยภายในในน้ำปัสสาวะประกอบด้วย น้ำ เกลือ แร่ธาตุ คือ เกลือโซเดียม โพแทสเซียม เกลือคลอไรด์ ฟอสฟอรัส และแร่ธาตุเล็กๆน้อยๆหลายๆอย่าง มีโปรตีน น้ำตาล  รวมทั้งฮอร์โมนที่ร่างกายผลิตออกมามีหลายชนิด เช่น ฮอร์โมนต่อมใต้สมอง ฮอร์โมนต่อมหมวกไต ถูกขับถ่ายออกมาทางปัสสาวะ

นอกจากนี้ ยังมีเซลล์บางชนิดที่หลุดออกมา ตะกอนคล้ายนิ่ว เม็ดเลือด เชื้อโรค เชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัสต่างๆ ที่ปนเปื้อน หรือมักหมมอยู่ภายในร่างกาย ซึ่งอาจจะปนเปื้อนจากทางเดินปัสสาวะ

โดยสรุป คือ มีทั้งของดี และของเสียที่ถูกขับออกมาเป็นปัสสาวะ แต่ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นน้ำ โดยคนปกติจะมีปัสสาวะประมาณ 1 ลิตรต่อวัน 

ชำแหละดี-เสีย 'ดื่มน้ำปัสสาวะ' รักษาโรคได้จริงหรือ?

การดื่ม "น้ำปัสสาวะ" มีประโยชน์หรือไม่

สำหรับประโยชน์ของ "น้ำปัสสาวะ" เช่น คลายความกระหาย นอกจากนี้ ในส่วนที่เป็น "ยารักษาโรค" เช่น สำหรับบาดแผลที่ไม่ได้มีการชะล้างสามารถใช้ปัสสาวะล้างแผลต่างๆ รวมไปถึง การ "ดื่ม" น้ำปัสสาวะของตัวเอง โดยในทางการแพทย์ที่รักษาโดยธรรมชาติบำบัด หรือแพทย์แผนไทยก็มีปรากฎการดื่มน้ำปัสสาวะรักษาโรคอยู่ในตำรา เช่น ผอมแห้งแรงน้อย โรคกระษัย โรคผิวหนังบางชนิด โรคหอบหืด ผื่นคัน ท้องเสีย ท้องร่วง น้ำเหลืองไม่แข็งแรง 

รวมทั้ง ยังรักษาอาการไข้ เพราะในปัสสาวะมี "ยูเรีย" ที่ทำให้เกิดกลิ่นปัสสาวะ ก็จะเป็นตัวที่ทำให้เกิดการหายของแผลได้ดีกว่า และยังเป็นยารักษาผิวหนังด้วย เพราะยูเรียเป็นส่วนหนึ่งของยารักษาโรคผิวหนังบางชนิด และยังมีการใช้ปัสสาวะทางตามร่างกายเพื่อรักษาโรคผิวหนังบางชนิดด้วย

นอกจากนี้ "น้ำปัสสาวะ" ยังมีฮอร์โมนของต่อมใต้สมอง ซึ่งมีความสัมพันธ์กับฮอร์โมนรังไข่ในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน จะมีฮอร์โมนจากรังไข่ชนิดหนึ่ง เป็นฮอร์โมนแห่งการเจริญเติบโต กระตุ้นให้เกิดการตกไข่ได้ โดยทางการแพทย์จะใช้ฮอร์โมนนี้ช่วยในการผสมเทียม

"ในอดีตมีการขาดน้ำก็ต้องหาทางเติมน้ำให้กับร่างกาย เช่น การให้น้ำเกลือ ดื่มน้ำที่ผสมเกลือแร่ หรือแม้แต่ผู้ที่อยู่ในถิ่นทุรกันดารไม่มีน้ำดื่ม นอกจากน้ำที่หาได้ตามแหล่งธรรมชาติ ก็อาจจะดื่มน้ำปัสสาวะของตัวเองได้ เพื่อประทังชีวิต" แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องระบบทางเดินปัสสาวะ อธิบาย

ชำแหละดี-เสีย 'ดื่มน้ำปัสสาวะ' รักษาโรคได้จริงหรือ?

ข้อบ่งใช้ "ดื่มน้ำปัสสาวะ"

นพ.วีระสิงห์ กล่าวว่า จะต้องเป็น "ปัสสาวะ" ของตัวเองดีที่สุด และมีความสะอาด น้ำปัสสาวะ มีกลิ่น มีรส เริ่มตั้งแต่น้อยไปหามาก เช่น วันละครึ่ง แก้ว 1 ครั้งต่อวัน และค่อยๆ เพิ่มเป็น 2 ครั้ง หรือ 3 ครั้ง โอกาสตามความเหมาะสม และเช็กสุขภาพตัวเองว่าดีหรือไม่ เจ็บป่วยเมื่อยตัวอาการทุเลาขึ้นหรือไม่  

สำหรับวิธีการดื่มน้ำปัสสาวะ ให้ดื่มในตอนเช้า โดยทำความสะอาดให้เรียบร้อยก่อน และปัสสาวะทิ้งไปจำนวนหนึ่ง และเก็บปัสสาวะตรงกลางของสายปัสสาวะจะเป็นปัสสาวะที่สะอาด จากนั้นค่อยดื่มทันที โดยการทิ้งปัสสาวะไว้นานๆ หรือแช่เย็นจะทำให้สิ่งที่ปนเปื้อนอยู่ในปัสสาวะเกิดการหมักตัวและเป็นเชื้อไม่ดีได้

ชำแหละดี-เสีย 'ดื่มน้ำปัสสาวะ' รักษาโรคได้จริงหรือ?

ก่อนคิด "ดื่มปัสสาวะ" เช็กร่างกายสักนิด!

นพ.วีระสิงห์ เผยว่า ก่อนจะดื่มน้ำปัสสาวะ ควรมาตรวจเช็กร่างกายก่อนว่า ปัสสาวะได้คุณภาพแค่ไหน โดยจะมีผลวิเคราะห์สี ความขุ่น ความถ่วงจำเพาะ ความเป็นกรด-ด่าง เม็ดเลือด ไนไตรท์ สีของเลือด เลือดขาว-แดง เชื้อโรค แบคทีเรีย พยาธิ ตะกอนที่เป็นเหตุของนิ่ว เป็นการวิเคราะห์ปัสสาวะทั่วไปเบื้องต้น หากปัสสาวะเคลียร์จากสิ่งต่างๆ เหล่านี้ก็ถือว่าเป็นปัสสาวะที่ดี 

การที่จะดื่มน้ำปัสสาวะนั้น ขึ้นอยู่กับการปฏิบัติตัวให้แข็งแรง เช่น ดื่มน้ำบริสุทธิ์วันละ 8-10 แก้ว รับประทานอาหารที่ปลอดเนื้อสัตว์ หลีกเลี่ยงอาหารเค็ม ของหมักดอง ผงชูรส น้ำตาลทราย รับประทานผักสด ผักต้ม ผลไม้ทุกวัน และรับประทานผลไม้เปรี้ยวหลังอาหารเพื่อช่วยในการย่อย ออกกำลังกายตามสภาพร่างกายทุกวัน ประมาณวันละ 30 นาที ส่วนเรื่องการรับประทานยานอนหลับให้ทดแทนด้วย ขี้เหล็ก สะเดา ผักชีลาว เป็นต้น 

ชำแหละดี-เสีย 'ดื่มน้ำปัสสาวะ' รักษาโรคได้จริงหรือ?

ไม่ใช่ทุกคนที่ดื่มได้! 

หลังจากที่ตรวจปัสสาวะเบื้องต้นแล้ว พบว่าเป็นปัสสาวะที่ไม่ได้คุณภาพก็ไม่ควรที่จะดื่ม เพราะอาจจะส่งผลเสียต่างๆ ตามมาได้

นอกจากนี้ คนที่มีอาการเจ็บป่วย หรือเป็นโรคต่างๆ เป็นโรคเรื้อรัง เช่น โรคความดัน เบาหวาน ไขมัน โรคมะเร็ง ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ อักเสบ ปอดอักเสบ 

ผลเสียของการ "ดื่มน้ำปัสสาวะ"

หากดื่มปัสสาวะที่มีเชื้อโรค ก็ทำให้ติดเชื้อได้ หรือดื่มปัสสาวะที่บูด เน่า ไม่รื่นรมย์ก็อาจทำให้ท้องเสีย หรือผลวิเคราะห์การตรวจปัสสาวะจากแพทย์ พบว่า เป็นปัสสาวะที่ไม่มี "คุณภาพ" เมื่อดื่มก็จะทำให้เกิดการติดเชื้อ 

นอกจากนี้ อีกเรื่องที่ต้องระวัง นั่นก็คือ บริเวณทางเดินปัสสาวะ ได้แก่ บริเวณอวัยวะสืบพันธ์และบริเวณทวารหนัก มีแหล่งเชื้อโรคชุกชุมจำนวนมาก อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดโรคต่างๆ ได้ด้วย

ชำแหละดี-เสีย 'ดื่มน้ำปัสสาวะ' รักษาโรคได้จริงหรือ?

ถึงแม้ว่า ในทางการแพทย์จะสามารถใช้ "น้ำปัสสาวะ" รักษาโรคได้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับ "บางเวลา" และ "บางโอกาส" เท่านั้น และ ไม่ใช่ว่า "ทุกคน" จะสามารถใช้แนวทางการรักษาด้วยน้ำปัสสาวะได้ทั้งหมดทุกคน เพราะแต่ละคนไม่เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นเซลล์ ดีเอ็นเอ โครงสร้าง ร่างกาย และการดื่มปัสสาวะรักษาโรคมีมานานแล้ว ทั้งแพทย์ไทยและแพทย์ต่างประเทศ  และมีมาก่อนแพทย์แผนปัจจุบัน เหมือนกับว่าเป็น "ทางเลือก" อย่างหนึ่ง ซึ่งวิทยาศาสตร์การแพทย์ผ่านมาหลายสมัยแล้ว สมัยใหม่นี้มีอะไรที่ดีกว่า และปลอดภัยกว่าให้เลือก ดังนั้น การดื่มน้ำปัสสาวะก็ไม่ถือว่าเป็นสิ่ง "จำเป็น" อีกต่อไป.

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง