TNN online ระวังติดเชื้อ! ไม่มีงานวิจัยรับรอง 'ปัสสาวะ' รักษาโรคได้

TNN ONLINE

สังคม

ระวังติดเชื้อ! ไม่มีงานวิจัยรับรอง 'ปัสสาวะ' รักษาโรคได้

ระวังติดเชื้อ! ไม่มีงานวิจัยรับรอง 'ปัสสาวะ' รักษาโรคได้

สธ. ยันไม่มีงานวิจัยรับรอง 'ปัสสาวะ' ใช้เป็นยารักษาโรคได้ ชี้บริเวณอวัยวะสืบพันธ์-ทวารหนักเป็นแหล่งเชื้อโรคชุกชุม

วันนี้( 27 ส.ค.62) ภายหลังโซเชียลมีเดียได้มีการแชร์ข้อความ ครูโรงเรียนแห่งหนึ่ง ในอ.พล จ.ขอนแก่น ได้ทำน้ำ ปัสสาวะ หรือ ฉี่ กลั่นสมุนไพร ไปให้เด็กกิน โดยระบุว่าเพื่อรักษาอาการปวดท้อง โดยอาการจะดีขึ้นภายใน 30 นาที ขณะเดียวกัน ชาวบ้านใน ต.หนองอ้อ อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี ที่ใช้น้ำปัสสาวะของตัวเองดื่มกิน พร้อมทั้งใช้อาบ ล้างตา สระผม และล้างแผลของตนเอง เพราะเชื่อว่าปลอดจากโรค รวมถึงกรณีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง นำปัสสาวะกลั่นมาล้างแผลผู้ป่วย โดยระบุว่าตนเองพยาบาล จนกระแส “กินฉี่” เพื่อรักษาโรค กลายเป็นประเด็นร้อนแรงที่สังคมกำลังวิพากษ์วิจารณ์อยู่ในขณะนี้

ล่าสุด พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ รองอธิบดีกรมอนามัย  ออกมาระบุว่า การกินปัสสาวะเพื่อรักษาโรค เป็นยารักษาโรคบางตำรับในตำนาน หากพูดถึงประวัติของการนำปัสสาวะมารักษาโรคนั้นมีอยู่ประปรายในสมัยกรุงโรม และยุคกรีซโบราณที่มีการพูดถึงอยู่บ้าง โดยในโบราณอายุขัยเฉลี่ยของมนุษย์อยู่ที่ 30-40 ปีถือว่าเก่งแล้ว แต่ปัจจุบันเวลากว่าหลาย 100 ปีได้ผ่านไป วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางการแพทย์ได้ก้าวหน้าไปมาก หากวัดกันด้วยวิทยาศาสตร์ ณ ปัจจุบัน ไม่มีงานวิจัยใดๆ รองรับว่าปัสสาวะใช้เป็นยารักษาโรคได้ แม้ว่าที่ผ่านมาจะเป็นความเชื่อส่วนบุคคลอยู่ในบางกลุ่ม หรือบางคน เป็นระยะๆบ้างก็ตามแต่ในยุคปัจจุบันเหมือนกับน้ำตามห้วย หนอง คลอง บึง และในฉี่มียูเรีย ดังนั้นจึงไม่ควรดื่มเพราะในน้ำปัสสาวะที่ออกมา หากคนๆนั้นมีสุขภาพดีปัสสาวะที่ออกมาไม่มีเชื้อโรคที่ร่างกายขับออกมาได้จะเป็นปัสสาวะดี แต่บริเวณทางเดินปัสสาวะ ได้แก่ บริเวณอวัยวะสืบพันธ์และบริเวณทวารหนัก มีแหล่งเชื้อโรคชุกชุมจำนวนมาก หากนำมาป้ายใส่ร่างกาย ล้างแผลหรือดื่มกิน จะกลายเป็นความสุ่มเสี่ยงและทำให้เกิดโรคต่างๆ 

สำหรับในปัสสาวะ จะประกอบด้วย ยูเรีย โซเดียม โพแตสเซียมคอลไรด์ ซึ่งเป็นพวกแคลเซียมส่วนเกินที่ร่างกายขับออกมา เพื่อรักษาสมดุล หรือขับสารอื่นที่ร่างกายไม่ต้องการออกมา และกำจัดออกมาผ่านปัสสาวะ เช่น หากเรากินสารพิษสักตัวในร่างกาย ซึ่งเป็นสารพิษที่ไม่ได้อันตรายต่อชีวิต จะถูกขับออกมาจากร่างกาย จึงไม่มีความจำเป็น และเหตุผลที่จะนำปัสสาวะมาใช้รักษาโรค 

พญ.อัมพร  ยืนยันว่าเป็นความเชื่อส่วนบุคคล ซึ่งไม่มีหลักฐาน หรืองานวิจัยใดมารองรับและการนำปัสสาวะมาดื่ม กิน จะมีความเสี่ยงสูงมากในการดื่มกินเชื้อโรคที่ปนเปื้อนมากับปัสสาวะ ที่เป็นของเสียที่ขับออกมาจากร่างกาย โดยเฉพาะในผู้ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ จะเป็นอันตรายต่อร่างกาย





ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง