TNN online เปิดรายชื่อ เมนูร้านหมูกระทะ ตรวจพบสารปนเปื้อน สายบุฟเฟ่ต์ต้องรู้!

TNN ONLINE

สังคม

เปิดรายชื่อ เมนูร้านหมูกระทะ ตรวจพบสารปนเปื้อน สายบุฟเฟ่ต์ต้องรู้!

เปิดรายชื่อ เมนูร้านหมูกระทะ ตรวจพบสารปนเปื้อน สายบุฟเฟ่ต์ต้องรู้!

เปิดรายชื่อ เมนูในร้านหมูกระทะ ตรวจพบสารปนเปื้อนจากการสุ่มตรวจย่านชลบุรี สายบุฟเฟ่ต์ต้องรู้เลี่ยงการรับประทาน

วันนี้ (7 ธ.ค. 65) กรณีสืบเนื่องจาก เจ้าหน้าที่ด่านกักกันสัตว์ชลบุรี กรมปศุสัตว์ ตรวจสอบพบว่า มีการลักลอบผลิตวัตถุดิบชิ้นส่วนเนื้อสัตว์ แช่ในถังน้ำผสมฟอร์มาลินส่งขายร้านหมูกะทะ และร้านอาหาร

ล่าสุด นพ.อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เตือนผู้ประกอบการระมัดระวังการนำวัตถุดิบชิ้นส่วนเนื้อสัตว์ แช่ในถังน้ำผสมฟอร์มาลินมาจำหน่าย ซึ่งหากตรวจพบการกระทำดังกล่าว จะต้องถูกดำเนินการตามกฎหมายมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

เนื่องจากสารฟอร์มาลินถูกนำมาใช้ในทางอุตสาหกรรมและทางการแพทย์เท่านั้น ห้ามนำมาใส่อาหารเพื่อรักษาสภาพอาหาร ซึ่งตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 151 (พ.ศ.2536) แห่งพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 กำหนดให้สารละลายฟอร์มัลดีไฮด์ หรือฟอร์มาลิน เป็นวัตถุห้ามใช้ในอาหาร ผู้ใช้สารนี้กับอาหาร หรือทำให้อาหารนั้นเกิดพิษภัยต่อผู้บริโภค จัดเป็นการผลิตจำหน่ายอาหารไม่บริสุทธิ์

นพ.อรรถพล กล่าวต่อว่า กรมอนามัยได้ประสานความร่วมมือไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชลบุรี ลงพื้นที่นำโดยทีมหน่วยตรวจสอบเคลื่อนที่เพื่อความปลอดภัยด้านอาหาร (Mobile Unit) และศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 6 ชลบุรี สุ่มตรวจสารปนเปื้อนในอาหารที่ร้านหมูกะทะ จำนวน 9 ร้าน แบ่งเป็นโซนบางแสน 3 ร้าน ตัวเมืองชลบุรี 3 ร้าน และนิคมอมตะนคร 3 ร้าน จำนวน 45 ตัวอย่าง

ทั้งนี้ พบมีผลบวกจำนวน 10 ตัวอย่าง โดยพบในปลาหมึกกรอบ และสไบนาง ซึ่งต้องส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการที่ศูนย์วิทยาศาสตร์ชลบุรีเพื่อยืนยันอีกครั้ง แต่ยังไม่พบสารฟอร์มาลีนในเนื้อหมู 

นอกจากนี้ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชลบุรี ยังได้สั่งการไปยังสำนักงานสาธารณสุขอำเภอทุกอำเภอ เก็บตัวอย่างอาหารสดที่มีโอกาสจะใส่สารฟอร์มาลีน อำเภอละ 10 ตัวอย่าง เพื่อส่งต่อให้กับศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ 6 ชลบุรี ตรวจสอบเพื่อความปลอดภัยของประชาชน

นพ.อรรถพล กล่าวว่า หากประชาชนกินอาหารที่ปนเปื้อนฟอร์มาลีนเข้าไปในปริมาณมาก ก็จะเกิดพิษต่อระบบทางเดินอาหาร มีอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรง หัวใจเต้นเร็ว แน่นหน้าอก ปากและคอแห้ง คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย ปวดท้อง อย่างรุนแรง กระเพาะอาหารอักเสบเป็นแผล หากได้รับในรูปของไอระเหยหรือสูดดมจะมีฤทธิ์ทำลายระบบทางเดินหายใจ ทำให้หลอดลมบวม แสบจมูก เจ็บคอ ไอ หายใจไม่ออก ปอดอักเสบ น้ำท่วมปอด ถึงขั้นเสียชีวิต

หากประชาชนสัมผัสสารนี้โดยตรง จะทำให้ผิวหนังระคายเคือง เกิดผื่นคัน เป็นผื่นแดงเหมือนลมพิษจนถึงผิวหนังไหม้ หรือหากสัมผัสที่ดวงตาจะระคายเคืองมากทำให้เป็นแผลได้ โดยเฉพาะ พ่อค้า แม่ค้า ที่จำหน่ายอาหารแช่สารฟอร์มาลิน มีโอกาสสูดดมไอระเหยของสารฟอร์มาลินที่ออกจากน้ำแช่ได้ตลอดเวลา

 "แนะนำประชาชนที่นิยมกินอาหารนอกบ้าน ก่อนกินเนื้อหมู เนื้อวัว หรืออาหารทะเลทุกครั้ง ควรสังเกตว่าลักษณะเนื้อนั้นสดผิดปกติหรือไม่ เพราะถ้ามีกลิ่นฉุนๆ แปลกๆ แสบจมูก ก็ไม่ควรบริโภค แต่หากไม่มั่นใจในร้านอาหารที่ไม่ได้มาตรฐาน ควรเลือกปรุงประกอบอาหารเอง โดยเลือกซื้อวัตถุดิบประกอบอาหารจากแหล่งที่เชื่อถือได้ เช่น ตลาดสดน่าซื้อของกรมอนามัย และให้เลือกกินอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ หลีกเลี่ยงการกินดิบ หรือสุกๆ ดิบๆ" นพ.อรรถพล กล่าว


ข้อมูลจาก : กรมอนามัย

ภาพจาก  :  TNN ONLINE 

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง