TNN online ประคบร้อน-ประคบเย็น ควรทำตอนไหน หากเจ็บป่วยจากการทำงาน

TNN ONLINE

สังคม

ประคบร้อน-ประคบเย็น ควรทำตอนไหน หากเจ็บป่วยจากการทำงาน

ประคบร้อน-ประคบเย็น ควรทำตอนไหน หากเจ็บป่วยจากการทำงาน

การประคบร้อน ประคบเย็น เป็นหนึ่งในวิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้น สำนักงานประกันสังคม จึงได้ให้ความรู้หากเจ็บป่วยจากการทำงาน ว่าเมื่อไรควรประคบร้อน ตอนไหนควรประคบเย็น และเหมาะกับอาการแบบไหน

การประคบร้อน ประคบเย็น เป็นหนึ่งในวิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้น เพื่อบรรเทาอาการเจ็บป่วย ในประเภทฟกช้ำ ปวด บวม ตึงกล้ามเนื้อ อาการอักเสบ รวมทั้งเป็นไข้ แต่รู้หรือไม่ว่า การประคบร้อน ประคบเย็นนั้น วิธีการใช้ และช่วงเวลาที่เหมาะสมในการใช้ก็แตกต่างเช่นกัน 

ล่าสุด สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน ให้ความรู้หากเจ็บป่วยจากการทำงาน เมื่อไรควรประคบร้อน ตอนไหนควรประคบเย็น

  ประคบร้อน  

อุปกรณ์ที่ใช้

ใช้เจลประคบร้อน กระเป๋าน้ำร้อน ผ้าขนหนูชุบน้ำร้อน

เมื่อใดที่ต้องประคบร้อน

- ปวดหลัง

- ปวดประจำเดือน

- ปวดกล้ามเนื้อ คอ บ่า หลัง น่อง

วิธีการประคบร้อน

การประคบร้อน จะเริ่มหลังจากมีอาการผ่านไปแล้ว 48 ชั่วโมง โดยใช้อุปกรณ์ที่เตรียมประคบลงไปบริเวณที่เกิดอาการปวด ให้นานประมาณ 15-20 นาที วันละ 2-3 ครั้ง จะช่วยระบบหมุนเวียนเลือด ลดการปวดตึง

ข้อควรระวัง

ไม่ควรประคบด้วยความร้อนที่มากเกินไป เพราะจะทำให้รู้สึกแสบร้อนบริเวณที่ประคบ ไม่ควรประคบนานหรือถี่เกินไป และต้องไม่ประคบร้อนในบริเวณที่มีบาดแผลเปิดหรือมีเลือดออก เพราะจะยิ่งทำให้มีการอักเสบเพิ่มมากขึ้น หรือเกิดอาการแสบ เป็นแผลผุพองขึ้นมาได้

  ประคบเย็น  

อุปกรณ์ที่ใช้

ใช้เจลประคบเย็น ภาชนะใส่น้ำเย็น ถุงใส่น้ำผสมน้ำแข็ง

เมื่อใดที่ต้องประคบเย็น

- มีไข้ ตัวร้อน

- เลือดกำเดาไหล 

- แผลจากของมีคม น้ำร้อนลวก ไฟไหม้ที่ไม่รุนแรง

- มีอาการบวม บริเวณต่างๆ 

- อาการปวดเฉียบพลัน

- รอยฟกช้ำ จากการกระแทก ปวด บาดเจ็บ

วิธีการประคบเย็น

การประคบเย็น จะทำภายใน 24-48 ชั่วโมงหลังมีอาการบาดเจ็บ โดยประคบให้นานประมาณ 20-30 นาที วันละ 2-3 ครั้ง จะช่วยลดการอักเสบได้ 

ประคบร้อน-ประคบเย็น ควรทำตอนไหน หากเจ็บป่วยจากการทำงาน

เมื่อประคบร้อน ประคบเย็นแล้ว หากอาการไม่ดีขึ้น แนะนำให้พบแพทย์ โดยผู้ประกันตนสามารถใช้สิทธิประกันสังคมเพื่อรับคำแนะนำจากแพทย์ในสถานพยาบาลที่ได้ลงทะเบียนไว้ โดยมีเงื่อนไข คือ ผู้ประกันตนต้องส่งเงินสมทบไม่น้อยกว่า 3 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือน ก่อนเจ็บป่วย 

อย่างไรก็ตาม กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ในสถานพยาบาลที่สำนักงานกำหนดสิทธิ ผู้ประกันตนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย


ข้อมูลจาก สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน

ภาพจาก TNN ONLINE

ข่าวแนะนำ