TNN online เฝ้าระวังโรค "ฝีดาษลิง" กทม.คุมเข้มมาตรการจัดงาน Pride Month

TNN ONLINE

สังคม

เฝ้าระวังโรค "ฝีดาษลิง" กทม.คุมเข้มมาตรการจัดงาน Pride Month

เฝ้าระวังโรค ฝีดาษลิง กทม.คุมเข้มมาตรการจัดงาน Pride Month

กรมควบคุมโรคยืนยันยังไม่พบโรคฝีดาษลิงในไทย ด้านผู้ว่าฯกทม.กำชับสำนักอนามัยคุมเข้มมาตรการการจัดงาน Pride Month

วันนี้ (4 มิ.ย.65) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมปักธงสีรุ้งเป็นสัญลักษณ์ของการเริ่มงานไพรด์ มันท์( Bangkok Pride Month) ที่กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศมารวมตัวกัน เพื่อรำลึกถึงการยอมรับความหลากหลายทางเพศ จากการเกิดเหตุจราจลในสถานบันเทิงแห่งหนึ่งในนครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อปี 1969 ซึ่งทั่วโลกจะจัดขึ้นพร้อมกันทุกปีช่วงเดือนมิถุนายน โดยประเทศไทยได้จัดงานในเดือนมิถุนายน ไปจนถึงวันที่ 3 กรกฎาคม และในวันพรุ่งนี้จะมีขบวนไพรด์พาเหรดบนถนนสีลม ตั้งแต่เวลา 15.00-19.00 น. 

นายชัชชาติ ระบุว่า งานบางกอกไพรด์ มันท์ ( Pride Month) คือ 1 ในนโยบายที่วางไว้ว่า 12 เดือน จะจัดงาน 12 เทศกาล ซึ่งงานไพรด์  เป็นสิ่งที่แสดงออกให้สังคมเปิดกว้างยอมรับความหลากหลายทางเพศ โดยย้ำว่ากรุงเทพมหานคร มีจุดยืนสนับสนุนความหลากหลายทางเพศ ไม่เลือกปฏิบัติ และไม่จำกัดการแต่งกายแค่ให้มีความเหมาะสม เช่นหน่วยงานราชการก็สามารถแต่งกายตามเพศวิถีได้ ทั้งนี้จุดยืนยอมรับความหลากหลายทางเพศ มีมิติอื่นทางสังคมเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เช่นความหลากหลายทางความคิด การแสดงความเห็น และการแสดงออกทางการเมือง 

ส่วนการที่กระทรวงสาธารณสุข กังวลว่างาน ไพรด์ มันท์ จะสุ่มเสี่ยงต่อการระบาดฝีดาษลิง นายชัชชาติ ขอให้ประชาชนไม่ต้องตระหนก เพราะมอบหมายให้สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร คอยควบคุมดูแลอย่างเข้มงวด พร้อมประสานกับทีมผู้จัดงานวางมาตรการแนวทางป้องกันตามหลักสาธารณสุขเอาไว้แล้ว 

สำหรับสถานการณ์โรคฝีดาษลิงในประเทศทางศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ยืนยันว่ายังไม่พบผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงในประเทศไทย ก่อนหน้านี้มีผู้ป่วยเข้าเกณฑ์ รวม 6 คน แต่ผลตรวจทางห้องปฏิบัติการไม่พบเชื้อทั้ง 6 คน

ทั้งนี้ได้มีข้อเสนอแนะต่อสถานการณ์โรคฝีดาษลิงในประเทศไทย คือสร้างการประชาสัมพันธ์ในเทศกาล "บางกอกไพรด์" เพื่อให้ประชาชนรับทราบถึงการป้องกันตนเองจากโรคฝีดาษลิง เพิ่มการดําเนินการในสถานที่เสี่ยงอย่างสถานบันเทิงโดยเฉพาะสถานบันเทิงของผู้หลากหลายทางเพศ  

ส่วนการการคัดกรอง ณ ด่านท่าอากาศยาน อาจพิจารณาเพิ่มการคัดกรองในกลุ่มผู้ที่เดินทางมาจากประเทศสหรัฐอเมริกา เนื่องจากมีจํานวนผู้ที่เดินทางเข้ามาในประเทศเป็นจํานวนมาก

ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกเชื่อว่า การแพร่ระบาดของโรคฝีดาษลิงอาจไม่สามารถควบคุมได้อย่างสมบูรณ์ จึงจําเป็นต้องลดความเสี่ยงอย่างเร่งด่วน ผ่านการสื่อสารที่ชัดเจน การดําเนินการที่นําโดยชุมชน เพื่อแยกผู้ติดเชื้อ รวมถึงการติดตามและตรวจสอบผู้สัมผัสติดต่ออย่างมีประสิทธิภาพ แต่ยังไม่ต้องใช้มาตรการในระดับเดียวกับที่ใช้ในการควบคุมโรคโควิด-19 เพราะมีการแพร่ระบาดในลักษณะที่ต่างกัน แต่มีแนวโน้มที่ไวรัสฝีดาษลิงจะแพร่ระบาดต่อไปในระดับสูง

สำหรับสถานการณ์โรคฝีดาษลิงทั่วโลก ข้อมูลถึงวันที่ 3 มิถุนายน 2565 มีผู้ป่วยทั้งหมด 878 คน  เป็นผู้ป่วยยืนยัน 782 คน  และผู้ป่วยอยู่ในข่ายสงสัย 96 คน  ใน 42 ประเทศทั่วโลก 

ประเทศที่มีผู้ป่วยฝีดาษลิงสูง 5 ลําดับแรก ได้แก่

1. สเปน 208 คน (ร้อยละ 24)

2. อังกฤษ 199 คน (ร้อยละ 23)

3. โปรตุเกส 138 คน (ร้อยละ 16)

4. แคนาดา 66 คน (ร้อยละ 8)

5. เยอรมนี 50 คน (ร้อยละ 6)



ภาพจาก AFP

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง