TNN online ทำความรู้จัก "ผู้รับผลประโยชน์" เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

TNN ONLINE

สังคม

ทำความรู้จัก "ผู้รับผลประโยชน์" เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

ทำความรู้จัก ผู้รับผลประโยชน์ เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

ก.ล.ต. เผยแพร่บทความเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ "ผู้รับผลประโยชน์" ของเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เงินของสมาชิกจะเป็นของใคร หากผู้รับผลประโยชน์เสียชีวิต

วันนี้( 30 พ.ค.65) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เผยแพร่บทความ เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ "ผู้รับผลประโยชน์" ของเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โดยนางศิษฏศรี นาคะศิริ ผู้อำนวยการ ฝ่ายกำกับธุรกิจออกแบบการลงทุนและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สำนักงาน ก.ล.ต. ดังนี้  

ยังจำกันได้ไหมว่าตอนที่สมัครเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเมื่อเริ่มเข้าทำงานหรือเมื่อทำงานไประยะหนึ่งแล้วก็ตาม เพื่อนสมาชิกได้กรอกเอกสารอะไรบ้าง นอกจากใบสมัครและแบบประเมินความเหมาะสมในการลงทุน (suitability test) เพื่อประเมินความสามารถในการรับความเสี่ยงจากการลงทุน เชื่อว่าเพื่อนสมาชิกคงจำกันได้ว่ายังมีเอกสารที่สำคัญอื่นอีกหนึ่งฉบับที่พวกเราได้กรอกข้อมูลไว้นั้นคือ “หนังสือแจ้งรายชื่อบุคคลผู้รับผลประโยชน์”  

ทำไมต้องระบุผู้รับผลประโยชน์ 

หนังสือแจ้งรายชื่อบุคคลผู้รับผลประโยชน์เป็นเอกสารที่ให้สมาชิกระบุชื่อบุคคลที่ต้องการยกเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้เมื่อตนเสียชีวิตไปแล้ว แม้กฎหมายกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมีเจตนารมณ์หลักเพื่อให้สมาชิกมีเงินออมเป็นหลักประกันไว้ใช้ในยามเกษียณอายุ แต่ก็ไม่ได้มองข้ามความจริงของชีวิต หากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด เงินที่สมาชิกได้เก็บออมมาตลอดชีวิตจะส่งต่อให้กับบุคคลที่สมาชิกต้องการ ไม่ใช่ตกเป็นของนายจ้างหรือของกองทุน

แม้ว่าหนังสือแจ้งรายชื่อบุคคลผู้รับประโยชน์จะไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการบริหารจัดการเงินออมเพื่อการเกษียณให้เติบโต แต่ก็มีความสำคัญที่เพื่อนสมาชิกควรใส่ใจ โดยสามารถระบุชื่อผู้รับผลประโยชน์เพียงคนเดียวหรือหลายคนก็ได้ พร้อมส่วนแบ่งผลประโยชน์ที่แต่ละคนจะได้รับ และที่สำคัญควรระบุที่อยู่และเบอร์โทรศัพท์ของบุคคลดังกล่าวไว้อย่างชัดเจน เพื่อให้มั่นใจได้ว่าหากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้น นายจ้างจะสามารถติดต่อบุคคลดังกล่าวให้มารับเงินได้ ไม่เช่นนั้นเงินออมของเพื่อนสมาชิกจะกลายเป็นเงินคงค้างที่หาเจ้าของไม่ได้

ควรทบทวนข้อมูลผู้รับผลประโยชน์หรือไม่ และเมื่อใด 

ในสถานการณ์ทั่วไป เพื่อนสมาชิกอาจไม่จำเป็นต้องทบทวนรายชื่อผู้รับผลประโยชน์เหมือนกับที่ต้องทบทวนความสามารถในการรับความเสี่ยงซึ่งทำเป็นประจำอย่างน้อยทุก 2 ปี เพราะความสามารถในการรับความเสี่ยงมักผันแปรตามอายุที่เพิ่มขึ้น ขณะที่การทบทวนรายชื่อผู้รับผลประโยชน์ควรทำในโอกาสที่เหมาะสม กล่าวคือ เมื่อเวลาผ่านไปหลายปีจนทำให้เพื่อนสมาชิกอาจลืมไปว่าระบุให้ใครเป็นผู้รับผลประโยชน์ หรืออาจเกิดสถานการณ์ที่ทำให้เพื่อนสมาชิกต้องการหรือจำเป็นต้องเปลี่ยนรายชื่อผู้รับผลประโยชน์หรือส่วนแบ่งที่จะมอบให้แต่ละคน การขอทบทวนรายชื่อผู้รับผลประโยชน์และข้อมูลอื่นที่เกี่ยวข้องเป็นสิ่งที่เพื่อนสมาชิกควรให้ความสำคัญเช่นกัน โดยสามารถติดต่อเจ้าหน้าที่ฝ่ายทรัพยากรบุคคล (HR) ของหน่วยงาน/บริษัทที่เพื่อนสมาชิกทำงานอยู่ เพื่อขอดูหนังสือดังกล่าวและนำมาทบทวนใหม่ได้

เงินของสมาชิกจะเป็นของใคร หากผู้รับผลประโยชน์เสียชีวิต

นอกจากการระบุรายชื่อผู้รับผลประโยชน์แล้ว สมาชิกอาจระบุรายชื่อบุคคลที่จะได้รับเงินกองทุนดังกล่าวเผื่อไว้กรณีผู้รับผลประโยชน์เสียชีวิต เช่น กำหนดให้นาย ก เป็นผู้รับผลประโยชน์ โดยได้รับเงินในสัดส่วน 50% นาย ข ได้รับเงินในสัดส่วนคนละ 20% และนาย ค ได้รับเงินในสัดส่วน 30%  แต่หากนาย ก เสียชีวิต ให้เงินดังกล่าวตกเป็นของนาย ข และนาย ค ในสัดส่วนตามที่ระบุไว้ หรือคนละส่วนเท่ากัน หรือให้เงินดังกล่าวตกเป็นของนาย ง ในสัดส่วนที่นาย ก มีสิทธิได้รับก็ได้ 

หากผู้รับผลประโยชน์รายใดรายหนึ่งหรือทั้งหมดเสียชีวิตก่อนสมาชิก หรือสมาชิกไม่ได้ระบุชื่อบุคคลที่จะรับเงินไว้ กฎหมายกองทุนสำรองเลี้ยงชีพกำหนดให้เงินในส่วนดังกล่าวตกเป็นของบุคคล 3 กลุ่ม ได้แก่ บุตร สามีหรือภรรยา และบิดามารดา ตามสัดส่วนที่กฎหมายกำหนด กล่าวคือ หากสมาชิกมีบุตรน้อยกว่า 3 คน เงินดังกล่าวจะแบ่งเป็น 4 ส่วน โดยบุตรได้รับ 2 ส่วน คู่สมรสได้รับ 1 ส่วน และบิดามารดาได้รับ 1 ส่วน และหากสมาชิกมีบุตรตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป เงินดังกล่าวจะแบ่งเป็น 5 ส่วน โดยบุตรได้รับ 3 ส่วน คู่สมรสได้รับ 1 ส่วน และบิดามารดาได้รับ 1 ส่วน  ทั้งนี้ หากบุคคลดังกล่าวได้เสียชีวิตแล้วทั้งหมดหรือสมาชิกไม่มีทายาทตามกฎหมายแล้ว เงินกองทุนจะตกเป็นของกองทุนในท้ายที่สุด

ดังนั้น เพื่อนสมาชิกควรหาโอกาสทบทวนหนังสือแจ้งรายชื่อบุคคลผู้รับผลประโยชน์ ว่ารายชื่อดังกล่าวยังเป็นไปตามความต้องการของเพื่อนสมาชิกหรือไม่ และมีข้อมูลสำหรับการติดต่อเพียงพอแล้วหรือยัง เพื่อให้มั่นใจได้ว่าหากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้น ผลพวงจากการเก็บออมเงินของเราจะสามารถส่งไปถึงคนที่เรารักและปรารถนาดี ให้มีเงินออมเพิ่มขึ้นนั่นเอง  

ทั้งนี้ เพื่อนสมาชิกสามารถอ่านข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้เพิ่มเติมได้ที่ ลิงก์ และศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้ที่เว็บไซต์ www.ThaiPVD.com

หมายเหตุ : ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

ทำความรู้จัก ผู้รับผลประโยชน์ เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

ทำความรู้จัก ผู้รับผลประโยชน์ เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

ทำความรู้จัก ผู้รับผลประโยชน์ เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

ทำความรู้จัก ผู้รับผลประโยชน์ เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ


ทำความรู้จัก ผู้รับผลประโยชน์ เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ภาพจาก สำนักงาน กลต.

 






ข้อมูลจาก สำนักงาน กลต.

ภาพจาก TNN Online/AFP

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง