TNN online "ฝีดาษลิง" เช็กหลักสังเกตอย่างไรว่าเคยปลูกฝีมาแล้วหรือไม่?

TNN ONLINE

สังคม

"ฝีดาษลิง" เช็กหลักสังเกตอย่างไรว่าเคยปลูกฝีมาแล้วหรือไม่?

ฝีดาษลิง เช็กหลักสังเกตอย่างไรว่าเคยปลูกฝีมาแล้วหรือไม่?

"ฝีดาษลิง" หมอเฉลิมชัย แนะหลักสังเกตว่าเคยปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษแล้วหรือไม่ อย่างไร พร้อมแนะวิธีตรวจสอบแผลเป็น

วันนี้ (30 พ.ค.65) นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย โดยระบุว่า ทำอย่างไรจึงจะทราบว่า ตนเองเคยปลูกฝีป้องกันฝีดาษคนหรือไข้ทรพิษแล้ว

จากที่ขณะนี้ ทั่วโลกพบผู้ป่วยฝีดาษลิง (Monkeypox) แล้วมากกว่า 20 ประเทศ มีจำนวนผู้ติดเชื้อยืนยันมากกว่า 300 คน

ทำให้เกิดความตระหนัก และบางคนไปถึงขั้นวิตกกังวล เพราะการติดเชื้อครั้งนี้เป็นการติดกันเองภายในประเทศแล้วนั้น

จากการที่ผู้ติดเชื้อ ไม่มีประวัติเดินทางไปแอฟริกา ไม่มีประวัติสัมผัสเสี่ยงกับสัตว์ที่เป็นแหล่งของเชื้อ เช่น ลิง กระรอก กระต่าย หนู เป็นต้น

ทำให้องค์การอนามัยโลกได้มีการประชุมด่วน และกระทรวงสาธารณสุขหลายประเทศได้ตั้งคณะกรรมการฉุกเฉินเพื่อเข้ามาดูแลเกี่ยวกับเรื่องฝีดาษลิงแล้วในขณะนี้

แต่ที่พอจะเบาใจได้บ้างในเบื้องต้นก็คือ วัคซีนป้องกันฝีดาษคนหรือไข้ทรพิษ (Smallpox) ที่เราเรียกว่าการปลูกฝีนั้น สามารถข้ามมาป้องกันโรคฝีดาษลิงได้ด้วย

ประกอบกับมีงานวิจัยยืนยันว่า ผู้ที่เคยฉีดหรือปลูกฝีป้องกันฝีดาษคน  จะมีระดับภูมิคุ้มกันที่สูงพอป้องกันโรคได้จนถึงปัจจุบัน (มีครึ่งชีวิตของวัคซีนยาวนานถึง 92 ปี)

ฝีดาษคนหรือไข้ทรพิษ ได้หมดไปจากโลกเรา โดยการประกาศขององค์การอนามัยโลกในปี 2523 ส่วนประเทศไทยเราไม่มีไข้ทรพิษมาตั้งแต่ปี 2517

นั่นคือประเทศไทยเริ่มทยอยเลิกปลูกฝีตั้งแต่ปี 2517 และทั่วโลกเลิกปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษตั้งแต่ปี 2523

หลักสังเกตว่าตนเองเคยปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษแล้วหรือไม่ อย่างไร ได้แก่

1) ถ้าเป็นคนอายุมากกว่า 48 ปี ที่เกิดก่อนปี 2517 มีโอกาสสูงที่จะเคยปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษ เพราะประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการระดมปลูกฝีในช่วงนั้นเป็นจำนวนมาก จึงทำให้ฝีดาษหมดไปจากประเทศไทย ส่วนใหญ่จะฉีดกันที่โรงเรียน

2) ถ้าอายุน้อยกว่า 42  ปี คือเกิดหลังปี 2523 ถือว่าไม่เคยได้รับการปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษมาก่อน

3) กรณีผู้ที่อายุ 43-47 ปี คือเกิดก่อนปี 2523 แต่เกิดหลังปี 2517 เป็นช่วงก้ำกึ่ง จะต้องตรวจดูแผลเป็นต่อไป

4) ในการตรวจสอบแผลเป็น ซึ่งส่วนใหญ่จะฉีดที่ต้นแขนซ้าย

ในกรณีที่เป็นการปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษ แผลเป็นจะเป็นลักษณะแผลแบนเรียบหรือเป็นหลุมลงไปเล็กน้อย

แต่ถ้าเป็นการปลูกฝีป้องกันวัณโรคที่เรียกว่า BCG แผลเป็นนั้นจะนูนขึ้นมา

ดังนั้นการตรวจสอบว่าตนเองเคยปลูกฝีป้องกันฝีดาษคน/ไข้ทรพิษหรือยัง ก็ใช้หลักสองประการดังกล่าวคือ

ดูว่าเกิดก่อนปี 2517 และตรวจสอบว่าแผลเป็นที่เกิดขึ้น เป็นแผลที่เรียบหรือเป็นหลุมลงไปเล็กน้อย ก็ถือว่าเคยปลูกฝีป้องกันฝีดาษคนหรือไข้ทรพิษแล้ว



ข้อมูลจาก blockdit ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย

ภาพจาก AFP 

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง