TNN online “โรคไวรัสตับอักเสบบี”ภัยเงียบไม่ควรมองข้ามอาจนำไปสู่ภาวะมะเร็งตับ

TNN ONLINE

สังคม

“โรคไวรัสตับอักเสบบี”ภัยเงียบไม่ควรมองข้ามอาจนำไปสู่ภาวะมะเร็งตับ

“โรคไวรัสตับอักเสบบี”ภัยเงียบไม่ควรมองข้ามอาจนำไปสู่ภาวะมะเร็งตับ

“โรคไวรัสตับอักเสบบี” ภัยเงียบตัวร้ายติดเชื้อแล้วอาจนำไปสู่ภาวะมะเร็งตับ-ตับแข็ง แต่มีวิธีป้องกันได้แค่การสร้างอนามัยส่วนบุคคล

ทำความรู้จัก “โรคไวรัสตับอักเสบบี” ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของประเทศไทย และ เป็นสาเหตุนำไปสู่ภาวะตับอักเสบ ตับแข็ง และ มะเร็งตับได้ จากข้อมูลจากกรมควบคุมโรคเมื่อปี 2563 พบว่ามีจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรัง ประมาณ 2.2–3 ล้านคน มีอัตราความชุกประมาณร้อยละ 4–5 ของประชาชนที่เกิดก่อนปี พ.ศ.2535 ทำให้ปัจจุบันพบการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บีเรื้อรัง ในประชากรที่อายุ 30 ปีขึ้นไปเป็นส่วนมาก ส่วนประชาชนที่เกิดหลังปี พ.ศ.2535 ได้มีการบรรจุวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี ในแผนการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคด้วยวัคซีนของประเทศ ทำให้พบอัตราความชุกที่ลดลง ร้อยละ 0.6  ดังนั้น กลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี คือกลุ่มประชากรที่เกิดก่อนปีพ.ศ. 2535 ซึ่งต้องมาตรวจคัดกรองโรคไวรัสตับอักเสบบี เพื่อป้องกันการติดเชื้อ หรือเข้าสู่ระบบการรักษาต่อไป

“โรคไวรัสตับอักเสบบี”ติดต่อกันได้อย่างไร?

จากข้อมูลของสำนักการแพทย์ระบุว่าคนเป็นพาหะ (Carrier) ที่สำคัญของเชื้อไวรัสนี้พบเชื้อนี้ในประชากรโลกกว่า 200 ล้านคน ประเทศไทยมีความชุกคนของพาหะร้อยละ 8 - 10 คือ ประมาณ 5 ล้านคนที่มีเชื้อในร่างกาย พบเชื้อได้ในเลือด น้ำเหลือง สิ่งคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อ เช่น น้ำอสุจิ น้ำในช่องคลอด น้ำลาย น้ำตา น้ำนม เป็นต้น ทำให้มีโอกาสแพร่ เชื้อได้หลายทาง ทางเข้าของเชื้อ ได้แก่

1.ทางเพศสัมพันธ์ กับผู้เป็นพาหะของเชื้อนี้

2.ทารกคลอดจากมารดาที่เป็นพาหะ อาจติดเชื้อระหว่างคลอด การเลี้ยงดู

3.ทางเลือดและน้ำเหลือง การได้รับเลือดที่ติดเชื้ออาจเกิดจากการใช้ของมีคม/ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้ติดเชื้อ เช่น การใช้เข็มฉีดยาเสพติดเข้าเส้นร่วมกัน การฝังเข็ม การสัก การเจาะหูที่ไม่สะอาด การใช้ใบมีดโกน แปรงสีฟัน ร่วมกัน เป็นต้น

4.ทางผิวหนังที่เกิดบาดแผล ผิวหนังถลอก

5.ทางสัมผัสใกล้ชิด (Close contact) ระหว่างพาหะกับผู้อื่น เช่น สมาชิกในครอบครัว เด็กวัยเรียน เป็นต้น

ระยะฟักตัวของเชื้อนี้ 30 - 180 วัน เฉลี่ย 60 - 90 วัน ร้อยละ 90 ของผู้ป่วยตับอักเสบเฉียบพลันจากไวรัสนี้จะหายเป็นปกติ ที่เหลือเป็นพาหะของเชื้อต่อไปพาหะของเชื้อไวรัสตับอักเสบนี้ อาจไม่มีอาการแต่แพร่เชื้อต่อไป ส่วนหนึ่งอาจป่วยเป็นตับอักเสบเรื้อรัง ตับแข็ง มะเร็งตับได้ ผู้ที่เป็นพาหะของเชื้อนี้มีโอกาสเสี่ยงของมะเร็งตับสูงกว่าคนทั่วไปถึง 223 เท่า

การรักษา“โรคไวรัสตับอักเสบบี” ทำได้อย่างไร

1. การกินยา เพื่อยับยั้งการแบ่งตัวของไวรัสและการแพร่กระจายของเชื้อ ถือเป็นวิธีที่นิยมใช้ในปัจจุบัน
2. การฉีดยา (Interferon) เพื่อเพิ่มภูมิต้านทาน โดยการฉีดใต้ผิวหนังอาทิตย์ละครั้ง และฉีดต่อเนื่องเป็นเวลา 1 ปี แต่อาจจะมีผลข้างเคียงจากยามากกว่ายาแบบรับประทาน

การป้องกัน“โรคไวรัสตับอักเสบบี”ต้องทำอย่างไรบ้าง 

  1. 1.การมีอนามัยส่วนบุคคล ส่วนรวมที่ดี เช่น การล้างมือให้สะอาดก่อนทำสิ่งใด หลังการขับถ่าย การประกอบอาหารถูกหลักอนามัย เลือกรับประทานอาหารที่สุก น้ำดื่มที่สะอาด เป็นต้น
  2. 2.หลีกเลี่ยงการรับ การสัมผัสเลือด น้ำเหลือง สิ่งคัดหลั่ง ของผู้อื่น ไม่ใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น
  3. 3.ไม่สำส่อนทางเพศ ใช้ถุงยางอนามัย
  4. 4.การฉีดวัคซีนป้องกัน ไวรัสตับอักเสบ
  5. “โรคไวรัสตับอักเสบบี”ภัยเงียบไม่ควรมองข้ามอาจนำไปสู่ภาวะมะเร็งตับ

ข้อมูลจาก :  กรมควบคุมโรค/สำนักการแพทย์กรุงเทพมหานคร/โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

ภาพจาก :  AFP

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง