TNN สังเกต เด็กชอบกระพริบตาถี่ๆ สัญญาณเตือนโรคติกส์

TNN

Health

สังเกต เด็กชอบกระพริบตาถี่ๆ สัญญาณเตือนโรคติกส์

สังเกต เด็กชอบกระพริบตาถี่ๆ สัญญาณเตือนโรคติกส์

เคยสังเกตไหมว่า เด็กบางคนชอบกระพริบตาถี่ ๆ ยักคิ้ว หรือส่งเสียงแปลก ๆ พฤติกรรมเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณของ โรคติกส์

เคยสังเกตไหมว่า เด็กบางคนชอบกระพริบตาถี่ ๆ ยักคิ้ว หรือส่งเสียงแปลก ๆ พฤติกรรมเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณของ โรคติกส์ โรคทางระบบประสาทชนิดเคลื่อนไหวผิดปกติ ส่งผลต่อบุคลิกภาพของเด็ก


นายแพทย์ศุภชัย เลาหพงศ์สมบูรณ์ กุมารแพทย์เฉพาะทางด้านประสาทวิทยา โรงพยาบาลเวชธานี กล่าวว่า โรคติกส์ เป็นภาวะกล้ามเนื้อกระตุก จากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนและสารสื่อประสาทในสมอง ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อโดยไม่ได้ตั้งใจ และควบคุมลำบาก เช่น กระพริบตา ยักคิ้ว ยักไหล่ คอกระตุก หรือกระดิกเท้า 


สังเกต เด็กชอบกระพริบตาถี่ๆ สัญญาณเตือนโรคติกส์ นายแพทย์ศุภชัย เลาหพงศ์สมบูรณ์ กุมารแพทย์เฉพาะทางด้านประสาทวิทยา โรงพยาบาลเวชธานี


โดยปกติโรคนี้ไม่อันตราย แต่อาจทำให้เกิดความรู้สึกรำคาญหรือเสียบุคลิกภาพได้ ส่วนมากมักเกิดขึ้นในเด็กช่วงอายุ 3-7 ปี และมักพบร่วมกับโรคอื่นๆ ด้วย เช่น โรคสมาธิสั้น โรคย้ำคิดย้ำทำ โรคซึมเศร้า และโรควิตกกังวล


อาการของโรคกล้ามเนื้อกระตุก มักเริ่มจากกล้ามเนื้อบริเวณใบหน้า (Motor tics) เช่น กระพริบตา ย่นจมูก กระตุกมุมปาก หรือกล้ามเนื้อบริเวณใกล้เคียง เช่น ยักไหล่ สะบัดคอ บางรายอาจพบอาการส่งเสียงผิดปกติ (Vocal tics) เช่น กระแอม ไอ เป็นต้น โดยอาการจะเป็นแบบซ้ำๆ เป็นบ่อย บางรายอาจทุกนาที ถึงชั่วโมง มักมีอาการต่อเนื่องเป็นอาทิตย์ เดือนหรือปี ทำให้ดูเหมือนเด็กทำกิริยาแปลกๆ


สาเหตุของภาวะกล้ามเนื้อกระตุก ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่อาจเกิดจาก การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนหรือสารสื่อประสาทในสมอง


ดังนั้นหากเด็กเริ่มมีอาการควรพาไปพบแพทย์ เพื่อการวินิจฉัย ประเมินอาการและโรคร่วมอื่นๆ การรักษาโรคติกส์ มีวิธีการรักษาหลายอย่าง ได้แก่


1. การรักษาด้วยยา โดยปกติแล้วโรคกล้ามเนื้อกระตุกจะมีอาการแบบเป็นๆ หายๆ อาการจะมาเป็นระยะ อาจไม่ต้องรักษาโดยใช้ยา แต่อาจส่งผลต่อจิตใจและบุคลิกที่รบกวนชีวิตประจำวัน การกินยาจะเป็นการช่วยลดอาการกระตุกหรือส่งเสียงได้ โดยกินเป็นช่วงๆ ตามความรุนแรงของอาการ โดยแพทย์จะเป็นผู้พิจารณา


2. รักษากับโรคที่ตรวจพบร่ว หากมีโรคหรืออาการอื่น เช่น โรคสมาธิสั้น, โรควิตกกังวล, โรคบกพร่องทักษะการเรียนเฉพาะด้าน จะมีจิตแพทย์เข้ามาร่วมรักษาในรูปแบบการบำบัดความคิดและพฤติกรรม เพื่อช่วยบรรเทาอาการและลดความเครียดไม่ให้โรคติกส์หนักขึ้น

 

3.การปรับพฤติกรรม การรักษานี้ถือว่าได้ผลลัพธ์ที่ดีในเด็กโตที่มีอาการนำ แต่ต้องใช้เวลาและอาศัยความร่วมมือของผู้ปกครองและตัวเด็กเอง เช่น 


  • การทำความเข้าใจกับผู้ปกครองและบุคคลรอบข้าง ที่ต้องเข้าใจก่อนว่าอาการดังกล่าวคือโรคไม่ใช่การแกล้งทำ ต้องเปิดใจกว้างไม่ตำหนิ หรือล้อเลียน ไม่ทักหรือห้ามเพื่อไม่ให้เด็กเครียด เพราะหากยิ่งเครียดอาการจะยิ่งชัดมากยิ่งขึ้น  ควรหาทางให้เด็กได้พักผ่อนหรือเบี่ยงเบนให้ทำกิจกรรมผ่อนคลาย ที่สำคัญควรปรึกษาแพทย์  หากเด็กมีอาการที่โรงเรียน คุณครูควรทำความเข้าใจโรคนี้ด้วยเช่นกันและจัดการไม่ให้เด็กรู้สึกแปลกแยกหรือถูกกลั่นแกล้ง


  • พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่ให้เด็กทำกิจกรรมหรือออกกำลังกายหนักและเหนื่อยเกินไป


  • ขจัดความเครียดให้เด็ก พยายามไม่ให้เด็กกลุ่มนี้เกิดความเครียด เพราะความเครียดมีผลต่ออาการกล้ามเนื้อกระตุก และที่สำคัญที่สุด ควรพาเด็กไปพบแพทย์ เพื่อหาแนวทางการรักษาที่เหมาะสมและเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น


อย่างไรก็ตาม หากผู้ปกครองพบเห็นความผิดปกติของบุตรหลาน ควรรีบพามาพบแพทย์ เพราะหากรักษาล่าช้า อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพกายและสภาพจิตใจ ที่ก่อให้เกิดความเครียด  และไม่กล้าเข้าสังคมของเด็กในอนาคตได้

 

บทความโดย: นายแพทย์ศุภชัย เลาหพงศ์สมบูรณ์ กุมารแพทย์เฉพาะทางด้านประสาทวิทยา โรงพยาบาลเวชธานี


ข่าวแนะนำ