TNN "บูลลี่" กลั่นแกล้ง-ล้อเลียน ทำเด็กเสี่ยงซึมเศร้า

TNN

Health

"บูลลี่" กลั่นแกล้ง-ล้อเลียน ทำเด็กเสี่ยงซึมเศร้า

บูลลี่ กลั่นแกล้ง-ล้อเลียน ทำเด็กเสี่ยงซึมเศร้า

การบูลลี่ไม่ใช่แค่เรื่องเล่นสนุกหรือการแกล้งกันทั่วไป หากปล่อยไว้จะส่งผลกระทบต่อทางร่างกายและจิตใจต่อผู้ที่ถูกกระทำจนอาจกลายเป็นโรคซึมเศร้า


พฤติกรรมการถูกบูลลี่ กลายเป็นปัญหาเรื้อรังในสังคมไทยที่พบบ่อยในเด็กที่มีการกระทำรุนแรงต่อกันทั้งทางร่างการและจิตใจ เช่น การล้อเลียน การตำหนิจุดด้อยของคนอื่นจนทำให้ผู้อื่นมีความรู้สึกแย่ การพูดจาใส่ร้ายคนอื่นจนทำให้คนอื่นเข้าใจผิด การกลั่นแกล้งทางโซเชียล ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้ไม่ใช่แค่เรื่องเล่นสนุกหรือการแกล้งกันทั่วไป หากปล่อยไว้จะส่งผลกระทบต่อทางร่างกายและจิตใจต่อผู้ที่ถูกกระทำจนอาจกลายเป็นโรคซึมเศร้า


แพทย์หญิงณัฏฐพัชร์ ลำเลียงพล จิตแพทย์โรงพยาบาล BMHH- Bangkok Mental Health Hospital กล่าวว่า การแกล้งกัน (Bully) คือ การกระทำต่อบุคคลที่อ่อนแอกว่า ให้ได้รับอันตรายทางร่างกายหรือรู้สึกเจ็บปวดทางจิตใจ ด้วยการกระทำซ้ำ ๆ อย่างตั้งใจ เพื่อให้อีกฝ่ายรู้สึกสิ้นหวัง และไม่มีอำนาจที่จะสู้ได้ ซึ่งการบูลลี่สามารถเกิดขึ้นทุกที่ แต่มักจะพบมากที่สุด ในโรงเรียน ที่ทำงาน และสังคมออนไลน์


4 รูปแบบการบูลลี่ มีดังนี้


1.การกลั่นแกล้งทางวาจา คือ การสื่อสาร เขียน เพื่อสื่อความหมายกลั่นแกล้ง เช่น ล้อเล่น, เรียกชื่อ, แสดงความคิดเห็นทางเพศที่ไม่เหมาะสม, เหน็บแนม และขู่ว่าจะทำอันตราย


2.การกลั่นแกล้งทางสังคม คือ วิธีการทำให้เสียหน้า หรือแกล้งให้สูญเสียความสัมพันธ์กับผู้อื่นอย่างตั้งใจ เช่น ขับเพื่อนออกจากกลุ่ม, กระจายข่าวลือให้เสียหาย, กีดกันไม่ให้เป็นเพื่อนกัน, ทำให้อับอายในที่สาธารณะ


3.การกลั่นแกล้งทางกายภาพ คือ การกลั่นแกล้งที่เกี่ยวข้องกับร่างกายและสวัสดิภาพของผู้ถูกกลั่นแกล้ง เช่น การทุบตี ทำร้าย ทำให้สะดุด แย่งสิ่งของ แสดงออกทำท่าทางหยาบคายใส่


4.การกลั่นแกล้งทางสื่อออนไลน์ (Cyber Bullying) เป็นหนึ่งในการกลั่นแกล้งที่มีแนวโน้มมากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากสื่อออนไลน์เข้ามามีอิทธิพลต่อการใช้ชีวิตประจำวันอย่างมาก สามารถทำได้ง่ายโดยไม่ต้องเปิดเผยตัวตนผู้กระทำ ซึ่งจะทำร้ายเหยื่อผ่านช่องทางโลกออนไลน์ต่าง ๆ เช่น เฟซบุ๊ก ไลน์ ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม อีเมล เป็นต้น

 

อาการของเด็กที่ถูกกลั่นแกล้ง จะมีอาการผิดปกติทางสุขภาพจิต เช่น หงุดหงิด วิตกกังวล ซึมเศร้า นอนไม่หลับ ฝันร้าย ไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง ซึม เก็บตัว ทำร้ายตัวเอง คิดฆ่าตัวตาย,มีร่องรอยบาดเจ็บฟกช้ำตามตัว บอกสาเหตุไม่ได้ชัดเจน, มีเพื่อนน้อยลง ไม่ค่อยพูดถึงเพื่อนหรือกิจกรรมที่โรงเรียน, มีอาการเครียด ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ ไม่อยากอาหาร, หลีกเลี่ยงการเข้าสังคม เช่น หนีออกจากบ้าน ไปโรงเรียนสาย ไม่อยากไปโรงเรียน ขาดเรียนบ่อย ผลการเรียนตกต่ำ


ผลกระทบจากจากการถูกกลั่นแกล้ง โดยเฉพาะเด็กที่ถูกกลั่นแกล้งในโรงเรียนจะเสี่ยงต่อการเกิดภาวะซึมเศร้า ซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาทางการเรียน เช่น ไม่อยากไปโรงเรียนหรือขาดเรียนบ่อย ๆ รวมทั้งอาจรู้สึกโดดเดี่ยวและแยกตัวออกจากสังคม


อาการของเด็กที่กำลังกลั่นแกล้งคนอื่น จะมีพฤติกรรมก้าวร้าว, มีของเล่นหรืออุปกรณ์การเรียนใหม่ๆโดยไม่รู้ที่มา, ชอบว่าคนอื่น ชอบแข่งขัน อยากเป็นที่ยอมรับ และทำผิดแต่ไม่ยอมรับผิด

ผลกระทบจากการที่ไปกลั่นแกล้งผู้อื่น เช่น เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่เสพติดแอลกอฮอล์หรือสารเสพติดอื่นๆ มีพฤติกรรมลักขโมยและเรียนไม่จบ มีพฤติกรรมทางเพศก่อนวัยอันควร มีพฤติกรรมใช้ความรุนแรงกับคู่สมรสหรือลูก คนใกล้ตัว และอาจจะเป็นอาชญากรในอนาคตได้


การรับมือการบูลลี่ที่อาจเกิดขึ้น ได้แก่


  • ใช้ความนิ่งสยบการบูลลี่  การนิ่งเฉยต่อการบูลลี่ช่วยให้เรื่องราวการบูลลี่หายไปอย่างรวดเร็ว เนื่องจากผู้กระทำมักมีเจตนาให้เหยื่อตอบโต้ เพื่อสร้างกระแสความรุนแรง หรือเพิ่มความสะใจ แต่เมื่อผู้ถูกกระทำเลือกที่จะนิ่งเฉย ผู้ลงมือบูลลี่อาจรู้สึกเบื่อและถอยทัพไปเองในที่สุด


  • ตอบโต้อย่างสุภาพ ด้วยคำพูดและการแสดงออกว่าไม่ได้รู้สึกสนุก หรือไม่ชอบการกระทำรวมถึงวาจาต่างๆ ที่ถูกกล่าวถึงด้วยคำพูดและท่าทีสุภาพ ไม่ตะโกน ขึ้นเสียง หรือใช้คำหยาบคาย รวมถึงชี้แจงอย่างชัดเจนหากเรื่องที่ถูกกล่าวหาไม่เป็นความจริง


  • พูดคุยกับเพื่อนร่วมชะตากรรมเพื่อช่วยกันแก้ไข บางครั้งการถูกบูลลี่ไม่ได้เกิดขึ้นกับบุคคลเพียงคนเดียว การหาผู้ร่วมถูกกระทำจะเป็นการเพิ่มหลักฐานและพยานว่า ผู้บูลลี่สร้างเรื่องขึ้นทำร้ายเหยื่อมากกว่าจะเป็นเรื่องจริง นอกจากนี้เพื่อนร่วมชะตากรรมอาจเป็นที่ปรึกษาคลายทุกข์ได้เป็นอย่างดี


  • เปลี่ยนสิ่งแวดล้อม หากการบูลลี่นั้นทำร้ายร่างกายหรือจิตใจจนยากยอมรับ การเปลี่ยนที่ทำงาน กลุ่มเพื่อน ก็อาจช่วยฟื้นฟูภาวะบอบช้ำจากการถูกบูลลี่ได้เร็วขึ้น


  • ปรึกษานักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์ หลายครั้งที่การบูลลี่ล้ำเส้นได้สร้างบาดแผล จนผู้ถูกกระทำไม่สามารถอยู่ในสังคมต่อไป บางกรณีอาจกลายเป็นความเครียด ปลีกตัวจากสังคม ไปจนถึงขั้นเก็บกด เป็นโรคซึมเศร้า และจบลงด้วยการฆ่าตัวตาย ดังนั้นทางออกที่ดีคือการพบจิตแพทย์ หรือนักจิตวิทยา เพื่อปรึกษาและเข้ารับรักษาอย่างถูกต้องและเหมาะสม


อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่สุดที่จะช่วยหยุดเรื่องการกลั่นแกล้งกันได้ คือ ทุกคน ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ต้องเข้าใจตรงกันว่าเรื่องการแกล้งกัน  ไม่ใช่เรื่องเล็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องเด็กแกล้งกัน ไม่ใช่แค่การเล่นที่เป็นปกติหรือเป็นเรื่องที่เด็กสามารถจัดการกันได้เอง ต้องใช้ความร่วมมือกันจากทุกภาคส่วนทั้ง ครอบครัว โรงเรียน ชุมชน ในการช่วยกันแก้ไขปัญหาเพื่อลดผลร้ายแรงที่จะเกิดขึ้น


บทความโดย

แพทย์หญิงณัฏฐพัชร์ ลำเลียงพล

จิตแพทย์โรงพยาบาลBMHH- Bangkok Mental Health Hospital

ข่าวแนะนำ