TNN บาดแผลจากอดีตที่เจ็บปวด อาจนำสู่ "โรคหลายบุคคลิก"

TNN

Health

บาดแผลจากอดีตที่เจ็บปวด อาจนำสู่ "โรคหลายบุคคลิก"

บาดแผลจากอดีตที่เจ็บปวด อาจนำสู่ โรคหลายบุคคลิก

หลายคนอาจเคยเห็นตัวละครในหนัง หรือ ละคร ที่มีพฤติกรรมแปลกๆ มี หลายบุคลิก หรือหลายนิสัย เหมือนเป็นคนละคน อยู่ในร่างเดียวกัน บางทีตัวละครอาจไปทำร้ายใคร แต่อีกไม่กี่ชั่วโมงถัดมา กลับจำเหตุการณ์ไม่ได้เลย ทำเหมือนเหตุการณ์นั้นไม่เคยเกิดขึ้น ซึ่งบ่อยครั้ง ในหนัง จะให้คำอธิบายว่า อาการเหล่านี้คือ โรคหลายบุคลิก หรือ โรคหลายอัตลักษณ์ (Dissociative Identity Disorder) ซึ่งในชีวิตจริงนั้น มีโอกาสพบโรคนี้ได้น้อยมาก แต่โรคนี้เป็นโรคที่รุนแรง ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของตัวเองและคนรอบข้าง

นายแพทย์ณชารินทร์ พิภพทรรศนีย์ จิตแพทย์ โรงพยาบาล BMHH – Bangkok Mental Health Hospitalกล่าวว่า โรคหลายบุคลิก หรือโรคหลายอัตลักษณ์ (Dissociative Identity Disorder) เป็นโรคทางจิตเวชรูปแบบหนึ่ง ที่พบได้น้อยมาก โดยผู้ป่วยจะมี บุคลิก หรือ ตัวตน มากกว่าหนึ่งบุคลิก โดยบุคลิกเหล่านี้จะเข้าควบคุมพฤติกรรมในบางช่วงขณะ ซึ่งแต่ละบุคลิกจะมีความคิด ความรู้สึก ความทรงจำ และพฤติกรรมที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ทำให้ผู้ป่วยอาจสูญเสียความทรงจำในระหว่างการเปลี่ยนบุคลิก 


สาเหตุของโรคหลายบุคลิก ยังไม่ได้มีข้อสรุปชัดเจน สันนิษฐานว่าเกิดหลายปัจจัย ทั้งจากพันธุกรรมและประสบการณ์วัยเด็ก ที่อาจมีเหตุการณ์กระทบกระเทือนจิตใจอย่างรุนแรงมาเป็นเวลานาน เช่น การโดนทำร้ายร่างกาย ถูกล่วงละเมิดทางเพศในวัยเด็ก หรือสูญเสียคนที่รักไปเพราะเมื่อผู้ป่วยต้องเจอกับเหตุการณ์ที่รุนแรงทางร่างกายและจิตใจจนไม่สามารถรับมือได้ สมองจึงสร้างกลไกป้องกันตัวเองโดยเปลี่ยนเป็นอีกบุคลิกเพื่อตัดขาดจากความทรงจำและตัวตนเดิม


อาการของโรคหลายบุคลิก


- มีบุคลิกภาพ หรืออัตลักษณ์ 2 แบบขึ้นไป โดยแต่ละแบบแยกออกจากกันโดยสิ้นเชิง ไม่มีความเกี่ยวข้องกัน และผลัดกันแสดงออกมา

- ความทรงจำขาดหาย จำไม่ได้ว่าเคยทำอะไรไป

- ได้ยินเสียงในหัวแต่ไม่ใช่เสียงตัวเอง

- มองกระจกแล้วจำตัวเองไม่ได้

- ช่วงเวลาเปลี่ยนบุคลิกอาจเกิดขึ้นตอนไหนก็ได้ และอาจเกิดขึ้นเพียงนาที ชั่วโมง หรืออาจเป็นวัน ๆ


ปัจจุบัน ยังไม่มีหลักฐานชัดเจนเกี่ยวกับแนวทางการรักษาโรคหลายบุคลิก การกำหนดการรักษามักพิจารณาจากอาการ ความรุนแรง และปัจจัยกระตุ้นให้เกิดอาการ โดยมาก การทำจิตบำบัด (Psychotherapy) เป็นวิธีการรักษาหลัก จิตแพทย์ หรือ นักจิตวิทยา จะพูดคุยเกี่ยวกับอาการของผู้ป่วย และช่วยให้ผู้ป่วยได้พูดเกี่ยวกับความทรงจำอันเลวร้ายรุนแรงที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วย เน้นการทำความเข้าใจสาเหตุ ให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างเหตุการณ์ในอดีต กับ อาการในปัจจุบัน ซึ่งบางเหตุการณ์อาจจะถูกตัดขาดจากความทรงจำในปัจจุบันผ่านกลไกทางจิต แต่ยังส่งสามารถส่งผลกระทบต่ออารมณ์ ความรู้สึก โดยไม่รู้ตัว นอกจากนี้ ยังอาจมีการฝึกฝนให้ผู้ป่วยมีทักษะในการจัดการกับปัญหาของตัวเองได้อย่างเหมาะสม สำหรับการใช้ยานั้น ยังไม่มียารักษาโรคหลายบุคลิกได้โดยตรง แต่จิตแพทย์อาจมีการพิจารณาใช้ยารักษาตามอาการ เช่น ยาต้านเศร้า สำหรับอาการวิตกกังวล อาการซึมเศร้า ทั้งนี้การรักษาโรคหลายบุคลิก มักต้องใช้เวลารักษายาวนาน และตัวผู้ป่วยเองก็ควรต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง


ทั้งนี้ โดยปกติแล้ว ทุกคนสามารถมีอารมณ์ พฤติกรรม ที่แตกต่างกันไปในแต่ละสถานการณ์ได้อยู่แล้ว การที่ใครคนใดคนหนึ่ง มีอารมณ์ขึ้น ๆ ลง ๆ ดีบ้าง ร้ายบ้าง ไม่ได้แปลว่า คน ๆ นั้น เป็นโรคหลายบุคลิก หรือ ป่วยทางจิตเวช และบ่อยครั้ง อารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้น เป็นการตอบสนองที่ "เข้าใจได้" ต่อสถานการณ์ ดังนั้น การพยายามทำความเข้าใจสาเหตุของอารมณ์ พฤติกรรม ที่เกิดขึ้น และเปิดใจรับฟัง จึงเป็นสิ่งที่ควรกระทำ มากกว่าการที่จะไปด่วนตีตราเขาว่าป่วยทางจิตเวช 


อย่างไรก็ตามหากเริ่มสังเกตว่าตนเอง หรือ คนรอบข้าง มีปัญหาในการควบคุมอารมณ์ พฤติกรรม ของตนเอง ก็สามารถมาปรึกษาจิตแพทย์ หรือ นักจิตวิทยาได้ เพื่อรับการประเมิน และคำแนะนำที่เหมาะสมต่อไป ซึ่งการมาพบจิตแพทย์ นักจิตวิทยา ไม่ได้แปลว่า ป่วยทางจิตเวช เสมอไป


ที่มา : นพ.ณชารินทร์ พิภพทรรศนีย์ จิตแพทย์ โรงพยาบาล BMHH – Bangkok Mental Health Hospital



ติดตาม TNN Health ผ่านช่องทางต่าง ๆ ได้ที่ 

Website : https://www.tnnthailand.com/news/health/

Facebook : https://bit.ly/TNNHealthFacebook

Youtube : https://bit.ly/TNNHealthYoutube

TikTok : https://bit.ly/TNNHealthTikTok

Instagram : https://www.instagram.com/tnn_health/

Line @TNNHEALTH : https://lin.ee/MNckVHq

หรือดูรายการ Live ได้ทาง https://bit.ly/TNNHealthFacebook

ข่าวแนะนำ