TNN ฤดูร้อน 2567 กรมควบคุมโรค เตือนระวัง 5 โรคติดต่อทางเดินอาหารและน้ำ

TNN

Health

ฤดูร้อน 2567 กรมควบคุมโรค เตือนระวัง 5 โรคติดต่อทางเดินอาหารและน้ำ

ฤดูร้อน 2567 กรมควบคุมโรค เตือนระวัง 5 โรคติดต่อทางเดินอาหารและน้ำ

กรมควบคุมโรคห่วงใย เตือน ฤดูร้อน 2567 ระวังป่วยด้วยโรคติดต่อทางเดินอาหารและน้ำ พร้อมแนะวิธีป้องกัน

กรมควบคุมโรคห่วงใย เตือน ฤดูร้อน 2567 ระวังป่วยด้วยโรคติดต่อทางเดินอาหารและน้ำ พร้อมแนะวิธีป้องกัน


วันนี้ (8 มีนาคม 2567) แพทย์หญิงจุไร วงศ์สวัสดิ์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ และโฆษกกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้เข้าสู่ฤดูร้อนของประเทศไทย เริ่มตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ไปจนถึงกลางเดือนพฤษภาคม อากาศที่ร้อนและแห้งแล้งเหมาะแก่การเจริญเติบโตของเชื้อโรคหลายชนิด โดยเฉพาะเชื้อโรคที่ปนเปื้อนในน้ำ และอาหาร ส่งผลให้อาหารบูดเสียได้ง่าย รวมถึงความร้อนอาจทำให้เกิดการภัยสุขภาพที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อประชาชนได้ กรมควบคุมโรค จึงขอออกประกาศเตือน เรื่อง การป้องกันโรคและภัยสุขภาพ ที่อาจเกิดในช่วงฤดูร้อนของประเทศไทย พ.ศ. 2567 เพื่อให้ประชาชนสามารถ ลดความเสี่ยงและดูแลสุขภาพอนามัยของตนเองได้อย่างถูกต้อง


โรคติดต่อทางเดินอาหารและน้ำ ที่สำคัญได้แก่ 


1) โรคอาหารเป็นพิษ เกิดจากการรับประทานอาหารหรือน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อก่อโรค ผู้ป่วยจะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง อาจมีถ่ายเหลว อาการมักเกิดขึ้นแบบเฉียบพลันหลังรับประทานอาหารที่ปนเปื้อน 


2) โรคอหิวาตกโรค เกิดจากการรับประทานอาหารหรือน้ำที่มีเชื้อปนเปื้อนหรือพิษของเชื้อปะปนอยู่ ผู้ป่วยจะท้องเสียอย่างมาก อาเจียน เป็นตะคริว ขาดน้ำอย่างรุนแรงจนช็อก และอาจเสียชีวิตได้ 


3) โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน พบได้ในทุกกลุ่มวัย เกิดจากการรับประทานอาหารหรือน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อก่อโรคอื่นๆ ที่เป็นได้ทั้ง เชื้อไวรัส แบคทีเรีย โปรโตซัว หรือหนอนพยาธิ ซึ่งอาจเกิดภาวะขาดน้ำ และเกลือแร่ ได้จากน้อยถึงรุนแรงมาก 


4) โรคไวรัสตับอักเสบ เอ ส่วนใหญ่ติดต่อผ่านการรับประทานอาหารหรือน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัสที่มาจากอุจจาระของผู้ที่ติดเชื้อ ผู้ป่วยอาจไม่มีอาการ หรือมีอาการตั้งแต่น้อยจนถึงรุนแรงมาก อาจทำให้เกิดตับอักเสบแบบเฉียบพลันได้ โดยเฉพาะในผู้ใหญ่ที่จะแสดงอาการมากกว่าในเด็ก 


5) ไข้ไทฟอยด์ หรือไข้รากสาดน้อย ติดต่อผ่านการรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อ เช่น ผักสด ผลไม้ที่รับประทานทั้งเปลือก น้ำดื่มที่ไม่สะอาด ผู้ป่วยจะมีไข้สูงลอยมากกว่า 1 สัปดาห์ ร่วมกับมีอาการปวดศีรษะ ปวดท้อง ท้องอืด หรือท้องผูก ในบางรายอาจมีถ่ายเหลว หรือมีอาการแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมาได้ 


สำหรับแนวทางการป้องกันโรคทางเดินอาหารและน้ำ ได้แก่ “กินสุก ร้อน สะอาด” กินอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ ใช้ช้อนกลางตักกับข้าวใส่จาน และล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ทุกครั้งก่อนประกอบอาหาร รับประทานอาหาร และหลังเข้าห้องน้ำ นอกจากนี้ ต้องดื่มน้ำที่สะอาด น้ำต้มสุก หรือน้ำที่บรรจุในขวดที่มีฝาปิดสนิท


แพทย์หญิงจุไร กล่าวเพิ่มเติมว่า ในหน้าร้อนนี้นอกจากโรคติดต่อทางเดินอาหารและน้ำที่ประชาชนควรระวังแล้ว ยังมีภัยสุขภาพในหน้าร้อนที่ส่งผลกระทบต่อการเจ็บป่วยของประชาชนโดยตรง ได้แก่ 


1) การเจ็บป่วย และเสียชีวิตจากภาวะอากาศร้อน ทั้งจากการทำงานหรือกิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั้งที่อยู่ในอาคารและนอกอาคาร โดยในปีที่แล้ว ตั้งแต่เดือนมีนาคม - พฤษภาคม 2566 ได้รับรายงานการเจ็บป่วยและเสียชีวิตรวม 47 ราย แบ่งเป็นรายงานผู้ป่วย 10 ราย และผู้เสียชีวิต 37 ราย โดยพฤติกรรมและปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ คือ การอยู่กลางแจ้งเป็นเวลานาน และการดื่มสุรา ประชาชนควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกาย ทำงาน หรือทำกิจกรรมกลางแจ้งเป็นเวลานาน ไม่ออกแรงหนักเกินไปในวันที่มีอากาศร้อน จิบน้ำบ่อยๆ ไม่ให้ร่างกายขาดน้ำ และควรดื่มน้ำให้เพียงพอ อย่างน้อยวันละ 8-10 แก้ว สวมเสื้อผ้าที่ไม่อึดอัด สีอ่อน ระบายความร้อนได้ดี


2) การบาดเจ็บ และเสียชีวิตจากการจมน้ำ ซึ่งการจมน้ำยังคงมีความเสี่ยงสูงเหมือนทุกปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะระหว่างเดือนมีนาคม - พฤษภาคม มีเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี เสียชีวิตจากการจมน้ำสูงที่สุด เฉลี่ยประมาณเกือบ 200 คน ซึ่งเป็นการเสียชีวิตมากกว่า 1 ใน 3 ของการจมน้ำตลอดทั้งปี ส่วนใหญ่เกิดจากเด็กชวนกันไปเล่นน้ำ ขาดความรู้เรื่องกฎความปลอดภัยทางน้ำ ทักษะการเอาชีวิตรอด และวิธีการช่วยเหลือคนตกน้ำ จมน้ำที่ถูกต้อง รวมไปถึงผู้ปกครองอาจไม่ได้ดูแลอย่างใกล้ชิด 


ทั้งนี้ ขอความร่วมมือผู้ปกครองดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิดถ้าจำเป็นต้องไปใกล้แหล่งน้ำ ควรมีอุปกรณ์ป้องกันการจมน้ำเช่นสวมเสื้อชูชีพ หรือ อุปกรณ์ ช่วยลอยน้ำอย่างง่าย เช่นถังแกลลอนพลาสติกเปล่า ผูกเชือกสะพายแล่งไว้กับตัวตลอดเวลา เป็นต้นและขอให้ผู้ใหญ่ในชุมชนตระหนักถึงความปลอดภัยของแหล่งน้ำในชุมชน และควรมีป้ายเตือน ทั้งนี้เพื่อป้องกันความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุจมน้ำเสียชีวิต




ที่มา กรมควบคุมโรค 

ภาพจาก AFP

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง