TNN โรคหลอดเลือดสมอง มีอาการอย่างไร? เปิดวิธีป้องกันและการรักษา

TNN

Health

โรคหลอดเลือดสมอง มีอาการอย่างไร? เปิดวิธีป้องกันและการรักษา

โรคหลอดเลือดสมอง มีอาการอย่างไร? เปิดวิธีป้องกันและการรักษา

"โรคหลอดเลือดสมอง" หรือ อัมพาตเฉียบพลัน มีอาการอย่างไร? เปิดวิธีป้องกันและการรักษา

"โรคหลอดเลือดสมอง" หรือ อัมพาตเฉียบพลัน  มีอาการอย่างไร? เปิดวิธีป้องกันและการรักษา

โรคหลอดเลือดสมอง หรือ โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต คือภาวะที่สมองขาดเลือดไปเลี้ยง ทำให้เกิดอาการชาที่ใบหน้า ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด แขน ขา ข้างใดข้างหนึ่ง อ่อนแอ เคลื่อนไหวไม่ได้หรือเคลื่อนไหวลำบากอย่างทันทีทันใด เป็นนาทีหรือเป็นชั่วโมง แบ่งเป็น 2 ประเภทตามลักษณะการเกิดคือโรคหลอดเลือดสมองตีบตันและโรคหลอดเลือดสมองแตก

องค์การอัมพาตโลก (World Stroke Organization: WSO) ได้กำหนดให้ วันที่ 29 ตุลาคม ของทุกปี เป็นวันอัมพาตโลก (World Stroke Day) โดยได้กำหนดประเด็นการรณรงค์ในปี 2562 คือ Don’ t Be the One สำหรับประเทศไทยนั้น กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดคำขวัญในการณรงค์วันอัมพาตโลกปี 2562 “อย่าให้ อัมพฤกษ์ อัมพาต…เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตคุณ” เพื่อเน้นสร้างการรับรู้ข้อมูล สร้างกระแส เพื่อให้เกิดความตระหนักในการป้องกันและการจัดการปัจจัยเสี่ยงการเกิดโรคหลอดเลือดสมองในระดับบุคคล



โรคหลอดเลือดสมอง เส้นเลือดในสมองตีบ แตกหรืออุดตัน มีอาการอย่างไร?

-มีอาการอ่อนแรงที่ใบหน้า เช่น ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด หลับตาไม่สนิท หรือชาที่ใบหน้า


-มีอาการแขนขาอ่อนแรงอย่างเฉียบพลันโดยมักเป็นครึ่งซีก


-มีอาการแขนหรือขาชาอย่างเฉียบพลัน มักจะเป็นซีกใดซีกหนึ่งของร่างกาย


-พูดไม่ออก หรือฟังไม่เข้าใจ รวมทั้งพูดลำบาก หรือพูดไม่ชัด


-มองเห็นภาพซ้อน หรือมองไม่เห็น


-มีอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรงเฉียบพลัน โดยที่ไม่มีสาเหตุ


-มีการเปลี่ยนแปลงของระดับความรู้สึกตัวอย่างรวดเร็ว เช่น ซึมลง เรียกไม่รู้ตัว


-มีอาการวิงเวียนศีรษะ บ้านหมุน


-มีอาการเดินเซ เดินลำบาก การทรงตัวไม่ดีอย่างเฉียบพลัน



การป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง เส้นเลือดในสมองตีบ แตกหรืออุดตัน

โรคหลอดเลือดสมอง เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 2 ของคนไทย รองจากโรคมะเร็ง นอกจากการตรวจสุขภาพเป็นประจำแล้ว การดูแลสุขอนามันของตนเองก็สามารถช่วยป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง เส้นเลือดในสมองตีบ แตกหรืออุดตันได้

-รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เช่น ผัก ผลไม้ หรืออาหารที่มีเส้นใยมาก


-ลดอาหารรสเค็ม อาหารคอเลสเตอรอลสูง อาหารที่มีแป้งและน้ำตาลสูง


-ออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 30 นาที อย่างน้อย 5 วันต่อสัปดาห์


-กรณีมีความดันโลหิตสูง ควรตรวจวัดความดันโลหิตเป็นระยะและรับการรักษาอย่างสม่ำเสมอ


-หยุดสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ และปฏิบัติตามที่แพทย์แนะนำเสมอ


การรักษาโรคหลอดเลือดสมอง เส้นเลือดในสมองตีบ แตกหรืออุดตัน

การรักษาขึ้นอยู่กับความรุนแรงและระยะเวลาตั้งแต่ผู้ป่วยเริ่มมีอาการ โดยแบ่งตามลักษณะของโรค ดังนี้

1. หลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน (ischemic stroke) สามารถรักษาได้ 2 วิธี ได้แก่

-การรักษาด้วยยาละลายลิ่มเลือด (rtPA) จะใช้ในกรณีผู้ป่วยมาพบแพทย์ภายในระยะเวลาไม่เกิน 4.5 ชั่วโมงนับจากมีอาการ และพิจารณาความเหมาะสมของร่างกายผู้ป่วยแล้ว โดยแพทย์จะทำการฉีดยาละลายลิ่มเลือดทางหลอดเลือดดำ เพื่อละลายลิ่มเลือดที่ปิดกั้นหลอดเลือดอยู่ออกเพื่อช่วยให้เลือดกลับไปเลี้ยงสมองอีกครั้ง


-การใส่สายสวนลากลิ่มเลือด (Clot Retrieval) หากเส้นเลือดที่ตีบเป็นเส้นเลือดใหญ่ โดยการใส่สายสวนเข้าทางหลอดเลือดแดงใหญ่พร้อมขดลวดที่ขาหนีบไปจนถึงจุดที่เกิดการอุดตัน แล้วดึงเอาลิ่มเลือดที่อุดตันออกจากหลอดเลือดสมองเพื่อเปิดรูของหลอดเลือดโดยไม่ต้องผ่าตัดใหญ่ ช่วยให้เลือดกลับไปเลี้ยงสมองอีกครั้ง

2. หลอดเลือดสมองแตก (hemorrhagic stroke) จะต้องการควบคุมปริมาณเลือดที่ออกด้วยการรักษาระดับความดันโลหิต โดยให้ยาลดความดันโลหิตเพื่อป้องกันการแตกซ้ำ พร้อมทั้งหาสาเหตุของเส้นเลือดในสมองแตก ในกรณีที่เลือดออกมาก แพทย์อาจพิจารณาผ่าตัดเพื่อป้องกันความเสียหายต่อสมอง โดยการผ่าตัดจะขึ้นอยู่กับตำแหน่งของเลือดที่ออกภายในสมองและขนาดของก้อนเลือด






ขอบคุณที่มา โรงพยาบาลนครธน / โรงพยาบาลพญาไท / กรมควบคุมโรค

ภาพจาก AFP

ข่าวแนะนำ