TNN "สมองเสื่อมในคนอายุน้อย" สาเหตุเกิดจากอะไร? แนะวิธีสังเกตอาการเบื้องต้น

TNN

Health

"สมองเสื่อมในคนอายุน้อย" สาเหตุเกิดจากอะไร? แนะวิธีสังเกตอาการเบื้องต้น

สมองเสื่อมในคนอายุน้อย สาเหตุเกิดจากอะไร? แนะวิธีสังเกตอาการเบื้องต้น

"โรคสมองเสื่อม" ไม่ใช่เรื่องไกลตัว อายุน้อยก็เป็นได้ เปิดข้อมูลสำคัญ สาเหตุเกิดจากอะไร แนะวิธีสังเกตเบื้องต้น

"โรคสมองเสื่อม" ไม่ใช่เรื่องไกลตัว อายุน้อยก็เป็นได้ เปิดข้อมูลสำคัญ สาเหตุเกิดจากอะไร แนะวิธีสังเกตเบื้องต้น


โรคสมองเสื่อม คือ  ชื่อกลุ่มอาการที่มีการทำงานของสมองในด้านความจำ ความคิด การใช้เหตุผล การใช้ภาษา และการรับรู้สิ่งแวดล้อม ผิดปกติไป ทำให้เกิดปัญหาทางความคิด การตัดสินใจ พฤติกรรม และ อารมณ์ผิดปกติไป มีผลต่อการใช้ชีวิต หรือการทำกิจวัตรประจำวัน จนในที่สุดผู้ป่วยหลายคนช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ต้องมีผู้ดูแลอย่างใกล้ชิด


ภาวะสมองเสื่อมในคนอายุน้อย (Dementia in younger) เริ่มพบมากขึ้นถึง 6.9% ของจำนวนผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมทั้งหมด ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในวัยทำงาน จึงมักถูกมองว่าเป็นเพียงเรื่องของความเครียด หรือภาวะซึมเศร้าจากการทำงาน เลยไม่ได้สังเกตความผิดปกติ ละเลยคิดว่าไม่อันตราย จนกลายเป็นภัยเงียบที่ไม่รู้ตัว



สาเหตุของโรคสมองเสื่อมในคนอายุน้อย อาจเกิดจาก

-คนในครอบครัวมีประวัติว่าเป็นภาวะสมองเสื่อมตอนอายุน้อยๆ


-ภาวะเส้นเลือดสมองตีบ ซึ่งมักพบในผู้ป่วยอายุน้อยที่มีภาวะเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และไขมันในเลือดสูง ทำให้เส้นเลือดฝอยในสมองตีบ ส่งผลให้เซลล์สมองตาย


-ฮอร์โมนผิดปกติ โดยเฉพาะฮอร์โมนไทรอยด์ที่มีระดับต่ำกว่าปกติ


-ภาวะร่างกายขาดวิตามินบี 12 หากขาดเป็นเวลานานอาจส่งผลให้เซลล์สมองเสื่อม


-สูบบุหรี่ หรือดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ ซึ่งบุหรี่เป็นปัจจัยเสี่ยงของภาวะหลอดเลือดสมองตีบ ส่วนแอลกอฮอล์จะไปยับยั้งการดูดซึมของวิตามินบี12 ทั้งนี้การดื่มแอลกอฮอล์มาเป็นระยะเวลานานหรือดื่มในปริมาณมากอาจทำลายสมองส่วนต่างๆได้


-การติดเชื้อในสมอง เช่น เอชไอวี ซิฟิลิส และไวรัสอื่นๆ


-ได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ หรือเนื้องอกสมอง


การสังเกตอาการเบื้องต้นของโรคสมองเสื่อมในคนอายุน้อย

-ลืมเรื่องง่ายๆ เช่น วัน เดือน ปี สถานที่ที่เพิ่งไปมา ลืมนัดสำคัญหรือบางคนถึงขั้นลืมวันเกิดตัวเอง มักจะต้องใช้ตัวช่วย เช่น สมาร์ทโฟน หรือสมุดโน้ตมาช่วยจำ


-บุคลิกภาพเปลี่ยน เช่น พูดไม่ได้ใจความ บางครั้งพูดติดๆ ขัดๆ หรือพูดซ้ำๆ ทำให้ประสิทธิภาพในการสื่อสารกับคนรอบข้างถดถอยลง


-การตัดสินใจแย่ลง การตัดสินใจไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ หรือต้องใช้เวลานานในการตัดสินใจ


-มักเกิดความผิดพลาดในการกะระยะ การบอกสี บอกความแตกต่าง ซึ่งเป็นปัญหามากถ้าผู้ป่วยต้องขับรถ


-ภาวะเครียด ซึมเศร้า แยกตัวออกจากสังคม ไม่ว่าจะครอบครัวหรือเพื่อนร่วมงาน


-ประสิทธิภาพการทำงานลดลง ไม่มีสมาธิ กระวนกระวาย ย้ำคิดย้ำทำ





ขอบคุณที่มา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล / โรงพยาบาลสมิติเวช

ภาพจาก AFP



ข่าวแนะนำ