TNN "วัณโรค" แพร่เชื้อง่าย! เช็กอาการ-ปัจจัยเสี่ยงในการเกิดวัณโรคปอด

TNN

Health

"วัณโรค" แพร่เชื้อง่าย! เช็กอาการ-ปัจจัยเสี่ยงในการเกิดวัณโรคปอด

วัณโรค แพร่เชื้อง่าย! เช็กอาการ-ปัจจัยเสี่ยงในการเกิดวัณโรคปอด

รู้จัก "วัณโรค" โรคติดต่อที่แพร่เชื้อง่าย มีอาการอย่างไร อะไรคือปัจจัยเสี่ยงในการเกิดวัณโรคปอด

รู้จัก "วัณโรค" โรคติดต่อที่แพร่เชื้อง่าย มีอาการอย่างไร อะไรคือปัจจัยเสี่ยงในการเกิดวัณโรคปอด


วัณโรค เป็นโรคติดต่อเรื้อรัง ทำให้มีการอักเสบในปอด ซึ่งในผู้ใหญ่มักจะพบส่วนใหญ่เป็นที่ปอด ในเด็กอาจเป็นที่อวัยวะอื่นร่วมด้วย เช่น ต่อมน้ำเหลือง เยื่อหุ้มสมอง กระดูก สาเหตุเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Mycobacterium tuberculosis ซึ่งเป็น acid fast bacillus (AFB) ย้อมติดสีแดง ซึ่งจะมีอยู่ในปอดของผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการรักษา


เด็กมักจะได้รับเชื้อจากผู้ใหญ่ที่เป็นวัณโรคระยะแพร่เชื้อ โดยเชื้อจะออกมากับการไอ จาม ทำให้เชื้อกระจายในอากาศ ในห้องที่ทึบอับแสง เชื้อวัณโรคอาจมีชีวิตอยู่ได้ถึง 1 สัปดาห์ ถ้าเสมหะที่มีเชื้อลงสู่พื้นที่ไม่มีแสงแดดส่อง เชื้ออาจอยู่ได้ในเสมหะแห้งได้นานถึง 6 เดือน เชื้อจะกระจายอยู่ในอากาศ และเข้าสู่ร่างกายทางการหายใจเอาเชื้อเข้าไป บางครั้งเชื้ออาจผ่านจากแม่ไปยังลูกในท้องโดยผ่านทางรกได้



อาการของผู้ป่วยวัณโรค 

อาการวัณโรคแบ่งออกเป็น 2 ระยะ ได้แก่ ระยะแฝง (Latent TB) และระยะแสดงอาการ (Active TB) โดยในระยะแรกจะสังเกตได้ยากเพราะอาการจะเกิดขึ้นอย่างช้าๆ อาจต้องใช้เวลาเป็นสัปดาห์ ไปจนถึงหลายปีกว่าจะแสดงอาการให้เห็น

-ระยะแฝง (Latent TB) เมื่อผู้ป่วยได้รับเชื้อแล้วจะยังไม่แสดงอาการใดๆ โดยเชื้อจะซ่อนอยู่ภายในร่างกาย จนกว่าร่างกายจะอ่อนแอ จะก่อให้เกิดอาการที่ชัดเจนได้ ดังนั้นหากผู้ป่วยมีการตรวจพบในช่วงระยะแฝง แพทย์จะรักษาโดยการควบคุมการแบ่งตัวของเชื้อ รวมถึงลดความเสี่ยงที่โรคจะเข้าสู่ระยะแสดงอาการ


-ระยะแสดงอาการ (Active TB) ระยะที่เชื้อได้รับการกระตุ้นจนทำให้แสดงอาการต่างๆ ได้ชัดเจน เช่น ไอเรื้อรัง ไอเป็นเลือด เจ็บหน้าอก หรือรู้สึกเจ็บเวลาหายใจหรือไอ อ่อนเพลีย มีไข้ หนาวสั่น มีอาการเหงื่อออกในเวลากลางคืน น้ำหนักลด หรือเบื่ออาหาร


การวินิจฉัยวัณโรค

-ตรวจหาเชื้อวัณโรคโดยการย้อมเสมหะ 2 ครั้ง หรือการตรวจทางอณูชีววิทยาที่มีความไวมากขึ้น
-เอกซเรย์ปอด


วัณโรครักษาได้อย่างไร

เป้าหมายสำคัญในการรักษาวัณโรค คือ การรักษาให้หายขาดเพื่อหยุดการแพร่กระจายของเชื้อและเพื่อป้องกันการดื้อยาของเชื้อวัณโรค แม้ว่าวัณโรคจะสามารถรักษาให้หายขาด แต่ก็มีโอกาสกลับไปเป็นซ้ำได้ หากผู้ป่วยไม่มีวินัยในการรับประทานยาตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด


-การรักษาผู้ป่วยวัณโรค 2 เดือนแรก แพทย์จะให้รับประทานยา 4 ชนิด คือ Isoniazid, Rifampicin, Pyrazinamide และ Ethambutol หากผู้ป่วยดื้อยาอาจจำเป็นต้องใช้ยาอื่นร่วมด้วย เพื่อให้การรักษาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ


-เมื่อรักษาครบ 2 เดือน แพทย์จะตรวจเสมหะหรือเอกซเรย์ปอดซ้ำ หากมีการตอบสนองที่ดีแพทย์จะลดยาให้เหลือเพียง 2 ชนิด และยังต้องให้การรักษาต่อไปอีก 4 เดือน



ยารักษาวัณโรคปอดที่ใช้บ่อยที่สุด

แพทย์อาจเลือกใช้ยารักษาผู้ป่วยที่เป็นวัณโรค ดังต่อไปนี้:

-ไอโซไนอะซิด (Isoniazid)
-ริฟามพิน (Rifampin)
-เอทแทมบูท (Ethambutol)
-ไพราซีนาไมด์ (Pyrazinamide)

ทั้งนี้ แพทย์อาจสั่งยาเพิ่มเติมในกรณีที่ผู้ป่วยเป็นวัณโรคชนิดที่ดื้อยาแล้ว เช่น:

-เบดาไคลีน (Bedaquiline)
-ไลน์โซลิด (Linezolid)


ปัจจัยเสี่ยงในการเกิดวัณโรคปอดมีอะไรบ้าง

-มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เนื่องจากมีโรคบางอย่างหรือเข้ารับการรักษาบางประเภท เช่น เป็นเอดส์ หรือ กำลังทำเคมีบําบัดเพื่อรักษาโรคมะเร็ง


-เดินทางหรืออาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดวัณโรคสูง


-กำลังใช้สารบางอย่าง เช่น สูบบุหรี่ ใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน เป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง


-ไม่มีบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขให้ผู้ป่วยได้เข้าใช้บริการ


-อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อวัณโรค เช่น กำลังอาศัยอยู่หรือเคยทำงานในสถานพยาบาล หรือกำลังอาศัยอยู่ในหรืออพยพมาอยู่ในประเทศที่มีการติดเชื้อวัณโรคสูง หรือกำลังอาศัยอยู่กับผู้ที่ติดเชื้อวัณโรค






ที่มา กรมควบคุมโรค / โรงพยาบาลพญาไท / โรงพยาบาล Medpark
ภาพจาก AFP


ข่าวแนะนำ