TNN online "กลิ่นปาก" เกิดจากสาเหตุอะไรบ้าง? แนะวิธีป้องกัน

TNN ONLINE

Health

"กลิ่นปาก" เกิดจากสาเหตุอะไรบ้าง? แนะวิธีป้องกัน

กลิ่นปาก เกิดจากสาเหตุอะไรบ้าง? แนะวิธีป้องกัน

"กลิ่นปาก" ปัญหากวนใจทำให้ขาดความมั่นใจ มีสาเหตุมาจากอะไร แนะวิธีป้องกัน

"กลิ่นปาก" ปัญหากวนใจทำให้ขาดความมั่นใจ มีสาเหตุมาจากอะไร แนะวิธีป้องกัน


ปัญหากลิ่นปาก สาเหตุที่สำคัญและพบได้บ่อยที่สุด คือปัญหาสุขภาพภายในช่องปาก จากการที่มีเศษอาหารและคราบจุลินทรีย์ตกค้างอยู่ตามซอกฟัน ลิ้น ร่องเหงือก และบริเวณฟันผุเป็นรูลึก  อีกทั้งการเป็นโรคปริทันต์อักเสบ มักมีคราบฟันและหินปูนสะสม ที่เกิดจากการทำความสะอาดช่องปากที่ไม่ทั่วถึง ทำให้กลิ่นปากรุนแรงยิ่งขึ้น และในภาวะปากแห้ง น้ำลายน้อย ก็ทำให้การชะล้างจุลินทรีย์และเศษอาหารได้น้อยลง เกิดการหมักหมมได้มากขึ้น ซึ่งการที่มีน้ำลายน้อยอาจมีสาเหตุมาจากสภาวะของร่างกายเอง  ผลจากยาที่ทานประจำ หรือการดื่มน้ำไม่เพียงพอ


กลิ่นปากอาจเกิดจากสาเหตุดังต่อไปนี้

-ฟันผุที่เป็นรูลึก ทำให้เป็นที่สะสมของเศษอาหารหรือแบคทีเรีย
-ฟันผุถึงโพรงประสาทฟันทำให้เกิดการอักเสบติดเชื้อบริเวณปลายรากฟัน เกิดหนองซึ่งมีกลิ่น
-โรคเหงือกอักเสบ อันเกิดจากการสะสมของคราบจุลินทรีย์และก่อตัวเป็นหินปูน
-ภาวะน้ำลายน้อย
-โรคระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคหวัด ทอนซิลอักเสบ ไซนัสอักเสบ โรคภูมิแพ้จมูก
-โรคระบบทางเดินอาหาร เช่น โรคกรดไหลย้อน
-โรคเรื้อรังต่าง ๆ เช่น โรคตับ โรคไต โรคเบาหวาน


สาเหตุที่สำคัญและพบได้บ่อยที่สุดคือ

การมีฝ้าขาวบนลิ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่โคนลิ้นด้านใน สำหรับสาเหตุอื่นๆในช่องปากยังมีอีกมากมาย เช่น ฟันผุ ยิ่งฟันผุเป็นรูลึก ยิ่งมีกลิ่นเหม็นมาก หรือมีเศษอาหารตกค้างอยู่ตามซอกฟัน โรคเหงือกอักเสบซึ่งเกิดจากการแปรงฟันไม่สะอาด ทำให้มีแผ่นคราบฟันและหินปูนสะสม หากไม่ได้รับการรักษาโรคเหงือกอักเสบก็จะลุกลามมากขึ้นกลายเป็นโรคปริทันต์อักเสบซึ่งจะมีกลิ่นเหม็นรุนแรงยิ่งขึ้น


สรุปว่ากลิ่นปาก เกิดได้จากหลายๆ สาเหตุ การรักษาคือ

การแก้ไขสาเหตุเหล่านั้น ประกอบกับการปรับพฤติกรรมให้เกิดสภาพแวดล้อมที่ดีในช่องปาก ที่สำคัญที่สุดคือ อย่าปล่อยให้ปากแห้ง และการดื่มน้ำจะช่วยขจัดแบคทีเรียและช่วยเพิ่มปริมาณออกซิเจนในช่องปาก ช่วยขจัดคราบบนลิ้นและเสมหะในลำคอ ตลอดจนเศษอาหารที่ติดอยู่ตามร่องของทอนซิล และทำให้มีน้ำลายเพิ่มขึ้น ฉะนั้นควรแปรงฟันทุกครั้งหลังอาหาร และเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ในช่องปากให้เหมาะสมที่ไม่ทำให้ปากแห้ง

แต่ถ้าหากยังมีกลิ่นปากอย่างเรื้อรัง ขอแนะนำให้ไปพบทันตแพทย์ เพื่อทำการซักประวัติ ทั้งในเรื่องของโรคประจำตัวและการดูแลอนามัยภายในช่องปากและตรวจเพื่อหาสาเหตุของโรคต่อไป


การป้องกันและแก้ไขปัญหากลิ่นปาก


ควรหาสาเหตุว่าเกิดจากอะไร และทำการแก้ไข  การใช้เพียงน้ำยาบ้วนปากหรือลูกอมเพื่อระงับกลิ่นปากนั้นทำได้เพียงชั่วคราว ควรดูแลทำความสะอาดช่องปากให้ทั่วถึง รวมทั้งร่องลึกบนลิ้นและโคนลิ้น หากมีฟันปลอมก็ควรถอดล้างทำความสะอาดทุกครั้งหลังรับประทานอาหาร  ดื่มน้ำให้เพียงพอไม่ปล่อยให้ปากแห้ง  และพบทันตแพทย์ทุก 6 เดือนอย่างสม่ำเสมอเพื่อตรวจสุขภาพช่องปาก ทำการรักษาฟันผุ และโรคเหงือกอักเสบ ขูดหินปูน รวมทั้งรับคำแนะนำเกี่ยวกับการดูแลช่องปากอย่างถูกวิธี




ที่มา กรมการแพทย์ / RAMA CHANNEL / โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ 

ภาพจาก AFP

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง