TNN online ไขข้อสงสัย? ควรป้อนกล้วยลูกตอนกี่เดือน อายุเท่าไรถึงรับประทานได้!

TNN ONLINE

Health

ไขข้อสงสัย? ควรป้อนกล้วยลูกตอนกี่เดือน อายุเท่าไรถึงรับประทานได้!

ไขข้อสงสัย? ควรป้อนกล้วยลูกตอนกี่เดือน อายุเท่าไรถึงรับประทานได้!

ไขข้อสงสัย? ควรป้อนกล้วยลูกตอนกี่เดือน อายุเท่าไรถึงรับประทานอาหารชนิดอื่นๆได้ ควรป้อนเท่าไรถึงมีปริมาณที่เหมาะสม

วันนี้ ( 12 ก.ค. 66 )จากกระแสการวิพากษ์วิจารณ์ในโลกออนไลน์ กรณีที่ดาราสาว “ไอซ์ อภิษฎา” ได้ป้อนกล้วยให้กับลูกสาว “น้องเลอา” ซึ่งขณะนี้อายุได้ 6 เดือนแล้ว โดยชาวเน็ตแสดงความเป็นห่วงว่าการให้น้องเลอากินกล้วยตั้งแต่ตอนเล็กๆจะส่งผลกระทบต่อระบบลำไส้หรือไม่ โดยประเด็นดังกล่าว TNN ONLINE ได้หาคำตอบมาให้แล้วมีรายละเอียดดังต่อไปนี้


เด็กทารกอายุเท่าไรถึงกินกล้วยได้ ?


จากข้อมูลสำนักโภชนาการและคณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ให้ข้อมูลระบุไว้ดังนี้ว่า ร่างกายของทารกจะมีความพร้อมที่จะรับอาหารอื่นๆ นอกจากนมแมื่ออายุประมาณ 4 เดือน สำหรับทารกอายุ 6 เดือน สามารถเริ่มให้รับประทานอาหารชนิดอื่นๆตามวัยได้ 


ขณะที่ข้อมูลจาก กุมารแพทย์ทารกแรกเกิด โรงพยาบาลบีเอ็นเอช ระบุว่า กล้วยบดกินได้ แต่ต้องเริ่มกินในเวลาที่เหมาะสม หลัง 6 เดือนไปแล้ว สามารถให้อาหารเสริมได้ กินกล้วยหรือผลไม้อื่นๆ แต่โดยทั่วไปนั้น ทางการแพทย์แนะนำให้เริ่มทานอาหารเสริมจาก "ข้าวบดผัก" ไปก่อน เนื่องจากเด็กบางคนหากรู้จักรสชาติหวานก่อนจืด อาจทำให้เด็กติดรถชาติหวานของกล้วยจนไม่ยอมกินผักก็ได้


นอกจากนี้ หลังจากที่ป้อนกล้วยบดให้กับลูก พ่อแม่ควรหมั่นสังเกตด้วยว่า ระบบขับถ่ายของลูกเป็นอย่างไร เนื่องจากเด็กบางคนกินกล้วยแล้วท้องผูก แต่เด็กบางคนกินกล้วยแล้วถ่ายง่ายนิ่มเป็นปกติดี


ป้อนกล้วยบดเด็กแรกเกิด เสี่ยงปัญหาลำไส้จริงหรือไม่?


อาหารของทารกแรกเกิดที่ดีที่สุดคือนมแม่ ซึ่งสามารถย่อยและดูดซึมได้ดี  แต่ถ้าหากป้อนอาหารอื่นๆ ให้แก่ทารกแรกเกิด เช่น ข้าว หรือก ล้วย การทำงานของระบบย่อยอาหารยังไม่สมบูรณ์ กล้วยที่รับประทานไปไม่สามารถย่อยและดูดซึมในกระเพาะอาหารและลำไส้ของเด็กทารกได้ จึงไปขัดขวางการทำงานของลำไส้ ทำให้ลำไส้อุดตัน รวมถึงอาจสำลัก ทำให้เกิดภาวะอุดกั้นทางเดินหายใจ อาจเสียชีวิตได้   ทารกในวัยแรกเกิดถึง 6 เดือน ควรได้รับสารอาหารที่ครบถ้วนจากนมแม่เป็นหลัก ซึ่งในนมแม่มีสารอาหารมากกว่า 200 ชนิด มีภูมิคุ้มกันโรค ฮอร์โมน ช่วยระบบการย่อยได้


เริ่มอาหารมื้อแรกให้ลูกเล็ก ควรเริ่มแบบไหน


เมื่อลูกอายุ 6 เดือน จะเป็นช่วงระยะเวลาที่เหมาะที่สุดที่จะเริ่มอาหารตามวัยควบคู่กับนมแม่ เนื่องจากนมแม่อย่างเดียวมีสารอาหารไม่เพียงพอต่อการเจริญเติบโตของลูก  และ ลูกมีความพร้อมที่รับอาหารอื่นนอกจากนมแม่ได้ สามารถควบคุมการทรงตัวและศีรษะได้ดี ทำให้กลืนอาหารกึ่งแข็งกึ่งเหลวได้ อีกทั้งระบบทางเดินทางอาหาร ไต ระบบประสาทและกล้ามเนื้อได้พัฒนาจนสามารถทำหน้าที่พร้อมสำหรับการเริ่มให้อาหารตามวัยของลูกน้อย 


ลักษณะอาหาร 


ควรเป็นอาหารบด หรืออาจใช้วิธีครูดผ่านกระชอน หากอาหารมีความหนืดเกินไป สามารถเติมน้ำซุปหรือน้ำต้มผัก ที่ไม่ปรุงรส เพื่อให้ลูกสามารถกลืนอาหารได้ง่ายขึ้น


ควรป้อนลูกปริมาณแค่ไหน


อาหารตามวัยเมื่อลูกอายุ 6 เดือน เริ่มให้อาหารทีละอย่าง ครั้งละ 1- 2 ช้อนชา และกินอาหารเดิมต่อเนื่องอีก 2 – 3 วัน ก่อนเริ่มให้อาหารชนิดใหม่ เพื่อดูการยอมรับอาหารและอาการแพ้อาหาร จากนั้นค่อยๆ เพิ่มปริมาณขึ้น 

โดยเฉลี่ยทารก ที่ได้รับนมแม่ควรได้รับอาหารตามวัย เป็นมื้อละ 2-4 ช้อนกินข้าว วันละ 1 -2 มื้อ เมื่ออายุ 6-8 เดือน และเพิ่มเป็นมื้อละ 4 ช้อนกินข้าว วันละ 3 มื้อ เมื่ออายุ 9-12 เดือน 


ป้อนอาหารอะไรให้ลูกอายุครบ 6 เดือน ?


อาหารที่เริ่มป้อนให้ลูก เมื่ออายุ 6 เดือน จะเป็นอาหารบดละเอียด ไม่ปรุงรส เช่น ข้าวต้มสุก บดละเอียด 2 ช้อนกินข้าว รวมกับไข่แดงสุก ครึ่งฟองและผักตำลึงต้มเปื่อย ครึ่งช้อนกินข้าว บดละเอียด 

ในแต่ละวันสามารถเปลี่ยนชนิดของอาหารให้มีความหลากหลาย เพื่อให้ลูกได้รับสารอาหารเพียงพอและสร้างความคุ้นเคยกับอาหารชนิดใหม่ ๆ 


ตัวอย่างเมนูอาหารต่อมื้อ ของเด็กทารก อายุ 6 เดือน 


ตัวอย่างที่ 1 

- ข้าวต้มสุกบดละเอียด 2 ช้อนกินข้าว 

- ไข่แดงสุก ครึ่งฟอง 

- ตำลึงต้มเปื่อยบดละเอียด ½ ช้อนกินข้าว

- น้ำมันพืช ½ ช้อนชา

- อาหารว่าง เป็นกล้วยน้ำว้าสุกครูด ½ ลูก 


ตัวอย่าง 2 

- ข้าวต้มสุกบดละเอียด 2 ช้อนกินข้าว 

- ปลาสุกบด ½ ช้อนกินข้าว

- ฟักทองต้มเปื่อยบดละเอียด ½ ช้อนกินข้าว

- น้ำมันพืช ½ ช้อนชา

- อาหารว่าง เป็นมะละกอสุก 1 ชิ้นเล็ก 



ข้อมูลจาก : สำนักโภชนาการ, คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล, กรมอนามัย, กุมารแพทย์ทารกแรกเกิด โรงพยาบาลบีเอ็นเอช 

ภาพจาก :  AFP 

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง