TNN online "แอสปาร์แตม" คืออะไร? WHO เตรียมประกาศเป็นสารก่อมะเร็ง

TNN ONLINE

Health

"แอสปาร์แตม" คืออะไร? WHO เตรียมประกาศเป็นสารก่อมะเร็ง

แอสปาร์แตม คืออะไร? WHO เตรียมประกาศเป็นสารก่อมะเร็ง

ทำความรู้จัก "แอสปาร์แตม" สารให้ความหวานแทนน้ำตาล คืออะไร? ล่าสุด WHO เตรียมประกาศเป็นสารก่อมะเร็ง

ทำความรู้จัก "แอสปาร์แตม" สารให้ความหวานแทนน้ำตาล คืออะไร? ล่าสุด WHO เตรียมประกาศเป็นสารก่อมะเร็ง

หลังจาก องค์การอนามัยโลก (WHO) เตรียมขึ้นบัญชีสารแทนความหวาน หรือ "แอสปาร์แตม" เป็นสารก่อให้เกิดมะเร็ง เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ซึ่งสารนี้สามารถพบได้อย่างแพร่หลายในเครื่องดื่ม และอาหารต่างๆ เรื่องนี้มีข้อเท็จจริงอย่างไร วันนี้จะพาไปรู้จักกับ แอสปาร์แตม กัน


แอสปาร์แตม หรือ Aspartame คืออะไร


เป็นวัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาล (จัดเป็นวัตถุเจือปนอาหารชนิดหนึ่ง) ซึ่งไม่ให้พลังงาน มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Aspartyl-phenylalanine-1-methyl ester ซึ่งมีองค์ประกอบหลักคือกรดอะมิโน 2 ตัวต่อกันได้แก่ กรดแอสปาร์ติก และ ฟีนิลอะลานีน

แอสปาร์แตมมีความหวานกว่าน้ำตาลซูโครส (น้ำตาลทราย) ประมาณ 180–200 เท่า ในปัจจุบันผลิตออกจำหน่ายภายใต้เครื่องหมายการค้าจดทะเบียนในยี่ห้อสินค้าต่างๆ แอสปาร์แตมเป็นส่วนประกอบในอาหารสำเร็จรูปและเครื่องดื่มกว่า 5,000 ชนิด ที่วางขายทั่วโลก โดยทั่วไปเราจะใช้แอสปาร์แตมผสมเครื่องดื่ม หรือทำอาหารให้ผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวาน 


สำหรับในประเทศไทย ผลิตภัณฑ์ที่มีแอสปาร์แตมเป็นส่วนประกอบ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข ได้กำหนดให้มีคำเตือนบนฉลากของบรรจุภัณฑ์ว่า "ผู้ที่มีสภาวะฟีนิลคีโตนูเรีย ผลิตภัณฑ์นี้มีฟีนิลอะลานีน" ซึ่งภาวะดังกล่าวเป็นผู้ที่มีความผิดปกติทางพันธุกรรมซึ่งไม่สามารถย่อยฟีนิลอะลานีนได้ (ในประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคนี้ราว 1 คนต่อประชากร 100,000 คน)

โครงสร้างสารของแอสปาร์แตมจะเปลี่ยนไปเมื่อโดนความร้อนและเมื่อเก็บไว้นาน จึงไม่ควรใช้แอสปาร์แตมปรุงอาหารร้อนๆและไม่ควรเก็บไว้นาน ๆ


ปริมาณที่กินได้ต่อวัน


สำหรับเรื่องความปลอดภัยในการบริโภคแอสปาร์แตมนั้น มันเป็นสารปรุงแต่งอาหารที่ได้รับการทดสอบอย่างเข้มข้นมากที่สุดแล้วตัวหนึ่ง และได้รับการยอมรับว่ามีความปลอดภัยในการบริโภคของมนุษย์จากองค์กรด้านอาหารและยาทั่วโลกกว่า100 แห่ง ทั้งในสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร สหภาพยุโรป แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ฯลฯ รวมถึงประเทศไทย


คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญขององค์การอาหารโลกและองค์การอนามัยโลก (The Joint FAO/WHO Expert Committee on Food Additives (JECFA)) รวมทั้งคณะกรรมการวิทยาศาสตร์ด้านอาหารของคณะกรรมาธิการยุโรป (the European Commission's Scientific Committee on Food) ได้กำหนดให้ระดับของการบริโภคแอสปาร์แตมต่อวันไว้ที่ไม่เกิน 40 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัวหนึ่งกิโลกรัม ขณะที่ อย. ของสหรัฐอเมริกากำหนดไว้ที่ 50 mg/kg นั้นคือ ถ้าคนที่


น้ำหนักตัว 75 กิโลกรัม ดื่มน้ำอัดลมไดเอ็ตขนาด 355 มิลลิลิตร ที่ใส่แอสปาร์แตมไป 0.18 กรัม ก็จะดื่มได้ถึง 21 กระป๋องต่อวัน


ผลต่อน้ำหนักตัว


มีรายงานตีพิมพ์ในปี 2017 ในวารสาร Canadian Medical Association Journal (CMAJ) ที่รีวิวทบทวนงานวิจัยทางการแพทย์ต่างๆ เกี่ยวกับการใช้แอสปาร์แตม บริโภคแทนน้ำตาลทราย สรุปว่าแอสปาร์แตมสามารถลดปริมาณแคลอรี่ที่ร่างกายได้รับ และลดน้ำหนักตัว ของทั้งผู้ใหญ่และเด็กได้ (สนใจรายละเอียด อ่านได้ที่ https://www.cmaj.ca/content/189/28/E929)


ผลต่อระดับสารในร่างกาย


มีรายงานในปี 2018 ในวารสาร Critical Reviews in Food Science and Nutrition ที่รีวิวงานวิจัยถึงผลกระทบทางเมตาบอลิซึมจากการบริโภคแอสปาร์แตม ก็ยืนยันว่า มันไม่ได้ส่งผลกระทบต่อระดับน้ำตาลในเลือด อินซูลิน คลอเรสเตอรอลรวม ไตรกลีเซอไรด์ ปริมาณแคลอรี่ที่่ร่างกายได้รับ หรือน้ำหนักตัว แถมยังช่วยเพิ่มระดับของ HDL (high-density lipoprotein หรือคลอเรสเตอรอลตัวที่ดีต่อร่างกาย) อีกด้วย 


ความหวานมีประโยชน์หรือโทษขึ้นอยู่กับปริมาณ


กรมอนามัย เผยว่า ทั้งน้ำตาลธรรมชาติและน้ำตาลเทียมควรกินในปริมาณที่เหมาะสม หากกินในปริมาณที่มากเกินไปก็จะส่งผลกระทบกับร่างกายได้ การกินน้ำตาลธรรมชาติมากเกินไป จะส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง มีภาวะน้ำหนักเกิน สี่ยงต่อโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน เป็นต้น หรือหากเราบริโภคน้ำตาลเทียมเป็นประจำ ลิ้นจะคุ้นกับรสหวานที่มากเกินไป อาจจะทำให้ติดรสหวาน และไม่สามารถควบคุมอาหารการกินได้ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น หญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ที่เป็นไมเกรน ผู้ป่วยโรคลมชัก และเด็ก 


ซึ่งเด็กต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะกินอาหารและเครื่องดื่มในปริมาณมากเมื่อเทียบกับปริมาณที่แนะนำต่อน้ำหนักตัว โดย American Diabetes Association (ADA) ได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการใช้สารให้ความหวาน คือ ไม่แนะนำให้ใช้ในเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 2 ปี ส่วนหญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตรใช้ได้ในปริมาณที่น้อยที่สุดหรือจำกัดการใช้ นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยพบว่า แม้สารให้ความหวานจะมีแคลอรีต่ำ แต่ส่งผลให้เราน้ำหนักเพิ่มขึ้นได้ เพราะกระตุ้นให้เกิดการผลิตเซลล์ไขมันมากขึ้นอีกด้วย


ดังนั้น หากร่างกายต้องการความหวาน ควรกินน้ำตาลแต่พอดี คือ ไม่ควรกินเกินร้อยละ 10 ของพลังงานที่ร่างกายได้รับต่อวัน โดยเด็กไม่ควรกินน้ำตาลเกิน วันละ 4 ช้อนชา และสำหรับผู้ใหญ่ไม่ควรกินน้ำตาลเกินวันละ 6 ช้อนชา และควรจำกัดการกินสารให้ความหวานแทนน้ำตาล อย่างแอสปาร์แทม ซูคราโลส อะเซซัลเฟมเค และแซลคาริน เลือกกินน้ำตาลจากธรรมชาติหรือน้ำตาลจากผลไม้สด เพราะมีประโยชน์และให้คุณค่าทางโภชนาการที่หลากหลาย อุดมไปด้วย วิตามิน เกลือแร่ ใยอาหาร และไฟโตนิวเทรียนท์ 


แต่ถึงแม้ว่าน้ำตาลในผลไม้จะมีคุณค่าต่อร่างกาย แต่ไม่ควรรับประทานผลไม้ที่มีรสหวานจัดมากเกินไป ควรเลือกผลไม้หวานน้อย เช่น กล้วย แอปเปิล ส้ม ฝรั่ง สาลี่ แตงโม สตรอว์เบอร์รี และออกกำลังกายเป็นประจำเพื่อสุขภาพที่ดี



แอสปาร์แตม คืออะไร? WHO เตรียมประกาศเป็นสารก่อมะเร็ง




ที่มา อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ / wikipedia / กรมอนามัย 

ภาพจาก รอยเตอร์

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง