TNN online "ผลกระทบเอลนีโญ" เปิดรายชื่อไวรัส ส่อระบาดมากับความร้อน

TNN ONLINE

Health

"ผลกระทบเอลนีโญ" เปิดรายชื่อไวรัส ส่อระบาดมากับความร้อน

ผลกระทบเอลนีโญ เปิดรายชื่อไวรัส ส่อระบาดมากับความร้อน

ผลกระทบจากเอลนีโญมีมากกว่าที่คิด องค์การอนามัย​โลก​ เปิดรายชื่อไวรัส เตรียมระบาดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศ

วันนี้ ( 23 มิ.ย. 66 )องค์การอนามัยโลก เตือนทั่วโลกให้เตรียมรับมือกับ เชื้อไวรัสที่อาจจะระบาดรุนแรงขึ้นและติดเชื้อเพิ่มขึ้น เช่นไวรัสไข้เลือดออก ไข้ซิก้า ชิคุนกุนย่า เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศจากปรากฎการณ์เอลนีโญ ซึ่งนักไวรัสวิทยาไทย ก็ให้ข้อมูลว่าเอลนีโญจะส่งผลให้เกิดการขยายตัวเพิ่มประชากรของแมลงที่เป็นพาหะนำไวรัสมากขึ้นโดยเฉพาะยุง ตัวการไข้เลือดออกที่ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน ดังนั้นต้องเฝ้าระวังและเพิ่มมาตรการป้องกันอย่างเข้มงวด


นายอนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ หรือ ไบโอเทค สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) วิเคราะห์ถึงความเสี่ยงผลกระทบของโรคระบาดจากไวรัสที่จะมาพร้อมกับปรากฎการณ์เอนีโญ่ ว่าจากการแจ้งเตือนขององค์การอนามัยโลก เป็นสิ่งที่ต้องมาฉุกคิดหาแนวทางเฝ้าระวังป้องกัน เพราะการเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศที่จะส่งผลให้เกิดอากาศร้อนยาวนานต่อเนื่องไปอีกหลายปี


ทำให้กลุ่มประชากรแมลงซึ่งเป็นพาหะไวรัสไข้เลือดออก ไข้ซิก้า และชิคุนกุนย่า อย่างยุง เพิ่มวงรอบการวางไข่ขยายพันธุ์มากขึ้น จากเดิมวงรอบหารวางไข่อาจจะปีละ 2-3 ครั้ง แต่สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงจะส่งผลต่อพฤติกรรมการวางไข่ของยุงถี่ขึ้น และมีความดุร้าย ต้องการอาหารมากขึ้น จึงออกหาอาหารดูดกินเลือดในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมและมนุษย์ นำมาซึ่งความเสี่ยงของการติดเชื้อไข้เลือดออก


อาจารย์อนันต์ ตั้งข้อสังเกตุ ว่าการที่องค์การอนามัยโลกออกมาเตือนให้เฝ้าระวังเชื้อไวรัสที่อาจจะระบาดรุนแรงขึ้นและติดเชื้อเพิ่มขึ้นจากปรากฎการณ์เอลนีโญ น่าจะกลัวว่าจะมีการแพร่เชื้อที่ไม่เคยพบหรือหายไปนานอย่างไข้ซิก้ากลับมา โดยอ้างอิงจากปรากฎการณ์เอลนีโญเมื่อปี 2516 ที่บราซิล ส่งผลทำให้ไข้ไวรัสซิก้ากลับมาระบาดรุนแรง ซึ่งในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงไทย ก็ไม่พบไข้ซิก้ามานานแล้ว ปรากฎการณ์เอลนีโญ่ครั้งนี้ก็มีความเสี่ยงที่อาจกลับมาระบาดได้  ส่วนความรุนแรงของโรคไข้เลือดออกแม้จำนวนประชากรยุงจะเพิ่มขึ้น และปัจจุบันก็พบผู้ติดเชื้อจำนวนมาก ขึ้นอยู่กับว่าผู้ป่วยติดเชื้อมาแล้วกี่ครั้ง หากครั้งแรกจะไม่รุนแรง จะรุนแรงขึ้นหากติดซ้ำหลายครั้ง 


ขณะเดียวกันทีมข่าวตั้งข้อสังเกตุว่า หากผู้ติดเชื้อไข้เลือดออกและยังติดเชื้อโควิดร่วมด้วยอาการจะรุนแรงน่าเป็นห่วงหรือไม่ อาจารย์อนันต์ บอกว่า ไม่รุนแรงกว่าเดิม โดยมีการศึกษาตัวอย่างกลุ่มผู้ป่วยเด็กในประเทศฟิลิปปินส์ ที่ติดเชื้อไข้เลือดออกและโควิดในระยะเวลา 3 ปี พบว่าอาการไม่รุนแรงขึ้น หรือหากรุนแรงก็ไม่มีความแตกต่าง และส่วนใหญ่จะแสดงอาการของไข้เลือดออกชัดเจนกว่าอาการของโควิด แต่ทัเงนี้ก็ต้องเฝ้าระวังเรื่องของการติดเชื้อร่วมเนื่องจากรักษายาก ใช้ยาคนละตัวและต้องรับในปริมาณมากอาจส่งผลเสียต่อร่างกายได้ 


สิ่งที่ต้องเฝ้าระวังของเชื้อไวรัสไข้เลือดออก คือ การข้ามสายพันธุ์ของไวรัส โดยมียุงเป็นพาหะที่อาจจะไปรับเชื้อจากสัตว์ในป่าเช่นลิง และมาแพร่เชื้อสู่คนด้วยการกัด ดังนั้นหากใครติดเชื้อไข้เลือดออกให้สังเกตุอาการว่า  แตกต่างจากไข้เลือดออกสายพันธุ์ทั่วไปหรือไม่  ซึ่งแนวทางการป้องกัน ภาครัฐควรจะมาทบทวนว่ามีมาตรการใดบ้าง 


โดยต้องเน้นการป้องกันที่ต้นเหตุ เพราะหากไปดูที่ปลายเหตุจนมีการแพร่เชื้อไปแล้วนั้นทำได้ยากเนื่องจากไข้เลือดออกยังไม่มีวัคซีนป้องกัน รักษาไปตามอาการ สิ่งสำคัญคือต้องป้องกันเด็ก เพราะเด็กมีความเสี่ยงติดเชื้อไข้เลือดออกมากกว่าผู้ใหญ่


ภาพจาก : AFP 

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง