TNN online 14 มิถุนายน "วันผู้บริจาคโลหิตโลก" ผู้บริจาคต้องรู้อะไรบ้าง ถอนฟัน-มีโรคประจำตัวทำอย่างไร?

TNN ONLINE

Health

14 มิถุนายน "วันผู้บริจาคโลหิตโลก" ผู้บริจาคต้องรู้อะไรบ้าง ถอนฟัน-มีโรคประจำตัวทำอย่างไร?

14 มิถุนายน วันผู้บริจาคโลหิตโลก ผู้บริจาคต้องรู้อะไรบ้าง ถอนฟัน-มีโรคประจำตัวทำอย่างไร?

14 มิถุนายน "วันผู้บริจาคโลหิตโลก" เช็กเลย ผู้บริจาคต้องรู้อะไรบ้าง ถอนฟัน-ท้องเสียต้องเว้นกี่วัน? มีโรคประจำตัวต้องทำอย่างไร

14 มิถุนายน "วันผู้บริจาคโลหิตโลก" เช็กเลย ผู้บริจาคต้องรู้อะไรบ้าง ถอนฟัน-ท้องเสียต้องเว้นกี่วัน? มีโรคประจำตัวต้องทำอย่างไร


14  มิถุนายนของทุกปี กำหนดให้เป็นวันผู้บริจาคโลหิตโลก เพื่อระลึกถึง ดร.คาร์ล แลนด์สไตเนอร์ แพทย์ชาวออสเตรียผู้ค้นพบหมู่โลหิตระบบเอบีโอเป็นครั้งแรก ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่องานบริการโลหิตทั่วโลก ท่านได้รับรางวัลโนเบลสาขาสรีรวิทยาหรือแพทยศาสตร์ในปี ค.ศ.1930 


ในการนี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) สหพันธ์สภากาชาดและสภาเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศ (IFRC) สหพันธ์ผู้บริจาคโลหิตระหว่างประเทศ (FIODS) และสมาคมบริการโลหิตระหว่างประเทศ (ISBT) เชิญชวนให้สภากาชาดทั่วโลกจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองและขอบคุณผู้บริจาคโลหิต โดยศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย จัดงานวันผู้บริจาคโลหิตโลกเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2547 และจัดมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันเป็นปีที่ 17


คุณสมบัติผู้บริจาคโลหิต ต้องรู้อะไรบ้าง 


1. อายุ 17 ปีบริบูรณ์ -70 ปี สุขภาพสมบูรณ์พร้อมที่จะบริจาคโลหิต

ผู้บริจาคโลหิตต้องมีอายุ 17 ปี ไม่ถึง 18 ปี ต้องมีเอกสารยินยอมจากผู้ปกครอง แต่อายุ 18 ปี สามารถตัดสินใจบริจาคโลหิตได้ด้วยตนเอง เช่นเดียวกับการมีสิทธิเลือกตั้ง
ผู้บริจาคที่มีอายุมากกว่า 60-65 ปี และบริจาคต่อเนื่องมาตลอด ให้บริจาคได้ทุก 3 เดือน ที่ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ หน่วยเคลื่อนที่ และภาคบริการโลหิตแห่งชาติ
ผู้บริจาคที่มีอายุมากกว่า 65 -70 ปี และบริจาคต่อเนื่องมาตลอด ให้บริจาคได้ทุก 6 เดือน และต้องมีการตรวจนับจำนวนของเม็ดเลือดทุกชนิดทุกครั้ง ไม่รับบริจาคในหน่วยเคลื่อนที่

2. สุขภาพแข็งแรง และพักผ่อนเพียงพอ

ผู้บริจาคโลหิตแต่ละคนมีพฤติกรรมการนอนหลับพักผ่อนแตกต่างกัน หากการนอนหลับพักผ่อนนั้นเป็นไปตามปกติ และเพียงพอกับร่างกายของเขา โดยไม่มีอาการอ่อนเพลียใดๆ สุขภาพพร้อมในวันที่มาบริจาคโลหิต ก็พิจารณาให้บริจาคได้โดยไม่มีเงื่อนไขเรื่องจำนวนชั่วโมงของการนอน


3. หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูงก่อนบริจาคโลหิต

ผู้บริจาคโลหิตแต่ละคนมีพฤติกรรมการรับประทานอาหารแต่ละมื้อในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน ผู้บริจาคโลหิตอาจยังไม่ได้รับประทานอาหารประจำมื้อ แต่ก็ปกติดี ไม่มีอาการหิวจัด อ่อนเพลีย จะเป็นลม ก็รับบริจาคโลหิตได้ ยกเว้นผู้บริจาคโลหิตที่รับประทานอาหารมันจัด เช่น ข้าวมันไก่ ข้าวขาหมู ก่อนมาบริจาคโลหิตไม่ถึง 3 ชั่วโมง จะมีผลทำให้พลาสมาขาวขุ่น ไม่สามารถจ่ายให้แก่โรงพยาบาลเพื่อไปให้แก่ผู้ป่วยได้ ต้องทิ้งไป และพลาสมา ที่ขาวขุ่นอาจรบกวนการบริจาคเกล็ดเลือดด้วยเครื่องอัตโนมัติ (platelet apheresis) เนื่องจากเครื่องไม่สามารถ นับระดับเกล็ดเลือดที่เก็บได้อย่างถูกต้อง


4. การตั้งครรภ์และการให้นมบุตร

โลหิตของหญิงตั้งครรภ์ มีสารอาหารต่างๆ ที่จำเป็นสำหรับทารกในครรภ์ ควรเก็บโลหิตของตนเองเอาไว้ให้เพียงพอสำหรับทารก และเพื่อเป็นโลหิตสำรองในร่างกาย เพราะขณะคลอดบุตรอาจมีการเสียโลหิตเป็นจำนวนมากการบริจาคโลหิต อาจทำให้เกิดภาวะโลหิตจาง ในข้อนี้ ถ้าตอบ “ใช่” ให้งดบริจาคโลหิตชั่วคราว
ผู้บริจาคหญิงที่กำลังให้นมบุตร ต้องการสารอาหารเป็นจำนวนมาก เพื่อใช้ผลิตเป็นน้ำนม และอาจต้องมีการตื่นบ่อยครั้งเพื่อให้นมบุตร เป็นผลทำให้พักผ่อนไม่เพียงพอ ถ้าตอบ “ใช่” งดบริจาคโลหิตชั่วคราว

5. สตรีอยู่ระหว่างมีประจำเดือน

ไม่เป็นข้อห้ามในการบริจาคโลหิต ถ้าขณะนั้นมีสุขภาพแข็งแรง มีประจำเดือนไม่มากกว่าปกติ ร่างกายทั่วไปสบายดี ไม่มีอาการอ่อนเพลียใดๆ ก็สามารถบริจาคโลหิตได้ และสตรีที่หมดประจำเดือนแล้ว สามารถบริจาคโลหิตได้ หากสุขภาพร่างกายยังแข็งแรงสมบูรณ์ ไม่มีโรคประจำตัวใดๆ


6. การสักหรือการเจาะผิวหนัง

การเจาะหูและการกระทำอื่นๆ ข้างต้น ด้วยเครื่องมือทางการแพทย์ที่สะอาด ปราศจากเชื้อ โดยผู้ชำนาญและเป็นเข็มหรือวัสดุที่ใช้ครั้งเดียวเฉพาะตัว ก็ปลอดภัยจากการติดเชื้อ แต่ก็ควรเว้นระยะเวลาให้แผลอักเสบจากการเจาะหู หายสนิท อย่างน้อย 7 วัน แต่หากผู้บริจาคโลหิตไม่มั่นใจว่าการเจาะหูทำได้อย่างปลอดภัยหรือไม่ มีการใช้เครื่องมือร่วมกัน หรือเจาะในสถานที่ที่มีคุณภาพด้านความสะอาดต่ำ ก็อาจจะติดเชื้อโรคทางกระแสโลหิต เช่น เชื้อไวรัสตับอักเสบ เชื้อเอชไอวี เป็นต้น จึงควรงดบริจาคโลหิตอย่างน้อย 1 ปีหลังการเจาะหู เจาะอวัยวะ และอื่นๆ ข้างต้น เจ้าหน้าที่สัมภาษณ์คัดกรองจึงต้องสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมจากผู้บริจาคโลหิต


7. ท้องเสีย ท้องร่วง ควรงดบริจาคโลหิต 7 วัน

ผู้บริจาคอาจจะยังมีอาการอ่อนเพลียเพราะสูญเสียน้ำในร่างกาย ถึงแม้จะหยุดท้องเสียแล้วถ้าหากฝืนบริจาคโลหิต อาจอ่อนเพลียมากขึ้นและมีอาการเป็นลมหน้ามืดได้ ส่วนผู้ป่วยที่รับโลหิตอาจได้รับเชื้อโรคที่เป็นสาเหตุของอาการท้องร่วงที่อาจติดต่อทางกระแสโลหิต


8. น้ำหนักลดอย่างรวดเร็ว โดยไม่ทราบสาเหตุในระยะ 3 เดือนที่ผ่านมา

การที่น้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็วภายในระยะเวลาสั้น อาจมีสาเหตุมาจากโรคที่เป็นอันตรายร้ายแรง เช่น โรคมะเร็ง โรคติดเชื้อต่างๆ โดยเฉพาะโรคเอดส์ ซึ่งทำให้น้ำหนักตัวลดลงอย่างรวดเร็ว รวมถึงสภาวะทางจิตใจที่มีความวิตกกังวล หรือพักผ่อนไม่เพียงพอ


9. ผู้บริจาคโลหิตที่ได้รับการผ่าตัดใหญ่ หรือผ่าตัดเล็ก

ผู้บริจาคโลหิตที่ได้รับการผ่าตัดใหญ่ คือ การผ่าตัดที่ต้องมีการใช้ยาสลบ หรือให้ยาชาเข้าไขสันหลัง มีการสูญเสียโลหิตจำนวนหนึ่ง ซึ่งต้องใช้เวลาสร้างทดแทนขึ้นโดยเฉพาะการผ่าตัดใหญ่อาจเสียโลหิตมาก เนื้อเยื่อของร่างกายต้องใช้เวลาและสารอาหารในการซ่อมแซม จึงควรเว้นการบริจาคโลหิต 6 เดือน หากบางรายต้องรับโลหิตด้วยต้องเว้น 1 ปี


ผู้บริจาคที่ได้รับการผ่าตัดเล็ก คือ การผ่าตัดที่ไม่ต้องใช้ยาสลบ แต่ใช้การระงับความรู้สึกเฉพาะที่ และไม่ต้องมีการช่วยหายใจ ควรเว้นการบริจาคอย่างน้อย 7 วัน เพื่อให้ผู้บริจาคมีสุขภาพแข็งแรงดีพอที่จะบริจาคโลหิต และลดโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อจากการผ่าตัด

10.ถอนฟัน อุดฟัน ขูดหินปูน และรักษารากฟัน ต้องเว้นอย่างน้อย 3 วัน

การถอนฟัน อุดฟัน ขูดหินปูน และรักษารากฟัน และการรักษาอื่นๆ ในช่องปากซึ่งก่อให้เกิดบาดแผลหรือการอักเสบภายใน 3 วัน อาจมีภาวะติดเชื้อโรคในกระแสโลหิตชั่วคราวโดยไม่มีอาการ (transient bacteremia) ซึ่งเชื้อโรคในกระแสเลือด อาจติดต่อไปสู่ผู้ป่วยได้ หากมีการผ่าตัดเล็ก เช่น ผ่าฟันคุด ให้เว้นอย่างน้อย 7 วัน จนกว่าแผลหายสนิทไม่มีอาการอักเสบ


11. เคยมีประวัติติดยาเสพติดหรือเพิ่งพ้นโทษในระยะ 3 ปี

ผู้ที่เคยมีประวัติติดยาเสพติดชนิดต่างๆ หรือเพิ่งพ้นโทษ อาจมีโอกาสเสี่ยงสูงต่อโรคที่มีการติดต่อทางโลหิตและน้ำเหลือง โดยเฉพาะโรคเอดส์และโรคตับอักเสบ เนื่องจากมีโอกาสที่จะมีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ รวมทั้งอาจใช้ยาเสพติดชนิดฉีด โดยใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน จึงงดบริจาคโลหิต และรอให้ผ่าน 3 ปีเสียก่อน เพื่อให้มั่นใจว่าพ้นจากระยะฟักตัวของโรคต่างๆ ที่อาจได้รับมาแล้ว


12. เดินทางหรือพำนักในพื้นที่ที่มีเชื้อมาลาเรียชุกชุมในระยะ 1 ปี หรือเคยป่วยเป็น โรคมาลาเรียในระยะ 3 ปี

เนื่องจากยังไม่มีการตรวจเชื้อมาลาเรียทางห้องปฏิบัติการที่ไวเพียงพอ และสะดวกรวดเร็วเหมาะสมในการตรวจโลหิตบริจาค จึงต้องใช้การซักประวัติเป็นหลักในการคัดกรองผู้บริจาค ถ้าเข้าไปอยู่ในพื้นที่มาลาเรียชุกชุม ถึงแม้ไม่ป่วยเป็นโรคมาลาเรีย ต้องเว้นการบริจาค 1 ปี ถ้าป่วยเป็นโรคนี้ต้องหายแล้ว 3 ปี สามารถหาข้อมูลพื้นที่มาลาเรียชุกชุมได้จากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข


13. มีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ


-ท่านมีเพศสัมพันธ์กับผู้อื่นที่ไม่ใช่คู่ของท่าน
การมีเพศสัมพันธ์กับผู้ท่ีไม่ใช่คู่ประจํา มีโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อที่ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น โรคเอดส์ โรคไวรัสตับอักเสบ เป็นต้น
-ท่านมีเพศสัมพันธ์กับเพศเดียวกัน(ตอบเฉพาะชาย)
จากหลักฐานทางการแพทย์จนถึงปัจจุบันยังยืนยันว่าชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย (men who have sex with men, MSM) มีสถิติการติดเชื้อเอชไอวี มากกว่าประชากรกลุ่มอื่นๆ
-คู่ของท่านมีเพศสัมพันธ์กับผู้อื่น
คู่ของผู้บริจาคโลหิตที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้อื่น เป็นพฤติกรรมสุ่มเสี่ยงทางเพศ แม้ไม่ใช่ MSM มีโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อท่ีติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โดยเฉพาะเชื้อเอชไอวี และเชื้อไวรัสตับอักเสบซึ่งอาจจะติดต่อมายังผู้บริจาคโลหิตได้
-คู่ของท่านมีเพศสัมพันธ์กับเพศเดียวกัน (ตอบเฉพาะหญิงที่มีคู่เป็นชาย)
คู่ของผู้บริจาคโลหิตที่เป็นชาย หากไปมีเพศสัมพันธ์กับชายจากหลักฐานทางการแพทย์ยืนยันว่าชาย ที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย มีสถิติการติดเชื้อเอชไอวี มากกว่าประชากรกลุ่มอื่นๆ ซึ่งอาจจะติดต่อมายังผู้บริจาคโลหิตได้

หัวข้อแบบสอบถามสัมภาษณ์คัดกรองในข้อนี้ เน้นที่พฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ โดยมิได้มุ่งกลุ่มบุคคล หรืออาชีพ ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติและธนาคารเลือดซึ่งรับผิดชอบการให้บริการโลหิต มีหน้าที่ต้องจัดหาโลหิตที่เพียงพอ และปลอดภัยจากผู้บริจาคโลหิตที่สมัครใจ จากกลุ่มผู้บริจาคที่มีความเสี่ยงตํ่า ตามหลักการขององค์การอนามัยโลก โดยอาศัยหลักฐานทางการแพทย์และข้อมูลปัจจุบัน จึงจําเป็นต้องงดรับบริจาคโลหิตถาวร ในกลุ่มพฤติกรรมเสี่ยงดังกล่าว ทั้งนี้ ไม่ว่าจะใช้ถุงยางอนามัยหรือไม่ก็ตาม เพราะอาจมีปัญหาในคุณภาพของถุงยางอนามัยและการใช้ที่ไม่ถูกต้อง หรือใช้ไม่สม่ำเสมอทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์

ผู้บริจาคโลหิตที่มีพฤติกรรมเสี่ยงดังกล่าวเมื่ออ่านแบบสอบถามแล้ว อาจงดบริจาคโลหิตด้วยตนเองโดยไม่เข้ามาพบเจ้าหน้าที่สัมภาษณ์คัดกรอง ซึ่งคือวัตถุประสงค์ของการคัดกรองด้วยตนเอง (self deferral) แต่หากผู้บริจาคโลหิตไม่แน่ใจ และเข้ามาพบเจ้าหน้าที่สัมภาษณ์คัดกรองเพื่อซักถาม เจ้าหน้าที่สัมภาษณ์คัดกรองต้องให้ข้อมูลด้วยความสุภาพ เคารพในสิทธิส่วนบุคคล และอธิบายให้ผู้บริจาคโลหิตเข้าใจและยอมรับ แต่หากผู้บริจาค โลหิตไม่ตอบความจริง แต่เจ้าหน้าที่สัมภาษณ์คัดกรองสงสัยว่าอาจมีพฤติกรรมเสี่ยงที่ไม่ควรบริจาคโลหิต ก็ควรใช้ทักษะในการสอบถามประเด็นแวดล้อมอื่นๆ โดยสุภาพ หากจําเป็นต้องปฏิเสธการรับบริจาคโลหิตต้องอธิบายเหตุผลอย่างนุ่มนวลและท่าทีเป็นมิตร


14. ผู้บริจาคที่เคยได้รับโลหิตจากผู้บริจาคในประเทศอังกฤษหรือเคยพำนักอยู่ในประเทศอังกฤษ ระหว่างปี พ.ศ. 2523 - 2539 หรือเคยพำนักในทวีปยุโรป รวมระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2523- ปัจจุบัน

เนื่องจากเป็นช่วงระยะเวลาการแพร่ระบาดของโรควัวบ้าในประเทศอังกฤษ และประเทศในยุโรป รวมทั้งมีรายงานการติดเชื้อวัวบ้าจากการรับโลหิต จึงงดรับบริจาคโลหิตถาวร


15. การรับประทานยาแก้ปวด

กรณีรับประทานยาแก้ปวดพาราเซตามอล ถ้าไม่มีอาการปวดหรืออาการผิดปกติใดๆแล้ว จึงสามารถบริจาคโลหิตได

กรณีรับประทานยาแก้ปวดแอสไพริน ถ้าไม่มีอาการปวดหรืออาการผิดปกติใดๆแล้ว ให้เว้นอย่าง น้อย 3 วัน จึงสามารถบริจาคโลหิตได้ เนื่องจากยาแอสไพริน ทำให้การทำงานของเกล็ดเลือดผิดปกติ

16. กรณีที่ผู้บริจาคโลหิตรับประทานยาปฏิชีวนะ (แก้อักเสบจากการติดเชื้อ)

หลังจากรับประทานยามื้อสุดท้าย และไม่มีอาการผิดปกติใดๆแล้ว ให้เว้น 1 สัปดาห์ จึงสามารถบริจาคโลหิตได้


17. เคยเป็นโรคตับอักเสบ

โรคตับอักเสบมีหลายชนิด ผู้ที่เคยเป็นโรคตับอักเสบแล้วไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นชนิดใด หรือไม่สามารถบอกได้ว่าหายขาดหรือไม่มีเชื้อโรคตับอักเสบแล้ว ให้งดบริจาคโลหิต และปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจติดตามภาวะของโรคต่อไป


18. ผู้ที่มีประวัติการเจ็บป่วย

-เป็นไข้หวัดธรรมดา หลังจากหายดีแล้ว 7 วัน บริจาคโลหิตได้ กรณีเป็นไข้วัดใหญ่ หลังจากหายดีแแล้ว 4 สัปดาห์ สามารถบริจาคโลหิตได้
-โรคความดันโลหิตสูง หากได้รับการรักษาจนควบคุมความดันโลหิตอยู่ในเกณฑ์ ความดันโลหิต Systilic ไม่เกิน 160 มม.ปรอท และความดันโลหิต Diastolic ไม่เกิน 100 มม.ปรอท และร่างกายปกติดีไม่มีโรคแทรกซ้อน รับประทานยาแล้วควบคุมความดันโลหิตได้ดี สามารถบริจาคโลหิตได้
-โรคภูมิแพ้ หากอาการไม่รุนแรง เช่น จาม คัดจมูก ทานยาแก้แพ้ และไม่มีอาการแล้ว สามารถบริจาคโลหิตได้ แต่ถ้ามีอาการรุนแรง เช่น ผื่นคันทั้งตัว ไอ หอบหืด หรือใช้ยาลดภูมิต้านทานให้งดบริจาคโลหิจจนกว่าจะหายดีแล้ว 4 สัปดาห์ จึงบริจาคโลหิตได้
-โรคไขมันนเลือดสูง หากรับประทานยาลดไขมัน และควบคุมอาหาร จนระดับไมันในเลือดอยู่ในเกณฑ์ปกติ สามารถบริจาคได้ ถ้าคอเลสเตอรอล สูงเพียงอย่างเดียว บริจาคโลหิตได้ หากไตรกลีเซอไรด์สูง ให้งดบริจาคโลหิตชั่วคราว จนกว่าจะควบคุมอยู่ในเกณฑ์ปกติ
-โรคเบาหวาน หากควบคุมเบาหวานได้ดี ด้วยการรับประทานยาลดน้ำตาล ไม่ใช้อินซูลิน และไม่มีปัยโรคแทรกซ้อน สามารถบริจาคโลหิตได้
-โรควัณโรค หลังรักษาหายดีแล้ว 2 ปี จึงสามารถบริจาคโลหิตได้
-โรคไมเกรน หากไม่มีอาการ และหยุดยาแล้ว 7 วัน สามารถบริจาคโลหิตได้
-โรคหอบหืด หากควบคุมอาการได้ด้วยยา สามารถบริจาคโลหิตได้ หากมีประวัติเป็นดรคหอบหืดชนิดรุนแรง และเป็นบ่อยให้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ของแพทย์
-เป็นไทรอยด์ไม่เป็นพิษ ที่มีระดับฮอร์โมนไทรอยด์กลับสู่ปกติ ไม่มีอาการของโรค เช่น กินจุ น้ำหนักลด เหงื่อออกง่าย เหนื่อยง่าย ใจสั่น สามารถบริจาคโลหิตได้ กรณีไทรอยด์เป็นพิษ แม้ว่ารักษาหายแล้ว ต้องงดบริจาคโลหิตถาวร

**ทั้งนี้ ต้องขึ้นอยู่กับดุลพินิจของบุคลากรทางการแพทย์ และพยาบาล ที่ทำหน้าที่ในการคัดกรองผู้บริจาคโลหิต *


19. การบริจาคโลหิตไม่ทำให้อ้วน

เพราะสาเหตุแท้จริงที่ทำให้อ้วน อาจเกิดได้จากหลายปัจจัย อาทิ การรับประทานอาหารมากเกินไป โดยเฉพาะแป้ง และไขมัน ความบกพร่องของการเผาผลาญพลังงาน ฮอร์โมน พันธุกรรม ขาดการออกกำลังกาย และเมื่อมีอายุมากขึ้นมีโอกาสน้ำหนักเพิ่มได้ง่าย เนื่องจากมีอัตราการเผาผลาญน้อยลง

14 มิถุนายน วันผู้บริจาคโลหิตโลก ผู้บริจาคต้องรู้อะไรบ้าง ถอนฟัน-มีโรคประจำตัวทำอย่างไร?





 ที่มา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี / สภากาชาดไทย
แฟ้มภาพ TNN Online


ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง