TNN online "โรคพิษสุนัขบ้า" มีอาการอย่างไร อันตรายแค่ไหน แนะวิธีป้องกัน

TNN ONLINE

Health

"โรคพิษสุนัขบ้า" มีอาการอย่างไร อันตรายแค่ไหน แนะวิธีป้องกัน

โรคพิษสุนัขบ้า มีอาการอย่างไร อันตรายแค่ไหน แนะวิธีป้องกัน

รู้จัก "โรคพิษสุนัขบ้า" อันตรายแค่ไหน หากถูกสัตว์กัดแล้วจะมีอาการอย่างไร พร้อมแนะวิธีป้องกัน

รู้จัก 'โรคพิษสุนัขบ้า" อันตรายแค่ไหน หากถูกสัตว์กัดแล้วจะมีอาการอย่างไร พร้อมแนะวิธีป้องกัน


นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงสถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้า จากการเฝ้าระวังโรคในระบบรายงานเฝ้าระวัง 506 โดยกองระบาดวิทยาว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 23 พฤษภาคม 2566 มีรายงานผู้เสียชีวิต 3 ราย (จังหวัดชลบุรี ระยอง และสุรินทร์) โดยโรคพิษสุนัขบ้าสามารถพบได้ตลอดทั้งปีหากในพื้นที่นั้นๆ มีสุนัขหรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีเชื้อแล้วไปกัดคน หรือสัตว์ตัวอื่นต่อไป โรคนี้ติดต่อจากสัตว์สู่คนที่เกิดจากเชื้อไวรัสเรบีส์ (Rabies virus) พบในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม โดยเฉพาะสุนัขและแมว และพบบ้างในโคกระบือ เชื้อจะเข้าทางบาดแผลที่ถูกกัด ข่วน หรือสัมผัสกับน้ำลายของสัตว์ที่มีเชื้อเข้าทางแผลหรือเยื่อเมือกอ่อน 


โรคพิษสุนัขบ้า คืออะไร?

โรคพิษสุนัขบ้า (Rabies) หรือโรคกลัวน้ำ (Hydrophobia) คือ โรคติดต่อจากสัตว์สู่คนที่มีอันตรายร้ายแรง โดยผู้ป่วยที่สัมผัสกับสัตว์ติดเชื้อ จะได้รับเชื้อไวรัสโรคพิษสุนัขบ้าในตระกูล Rhabdoviridae ผ่านทางน้ำลายของสัตว์ที่กัด ทำให้เกิดอาการทางระบบประสาท เช่น ชัก ประสาทหลอน อัมพาต โดยโรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรคร้ายแรงถึงชีวิต เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มียารักษาโรค อย่างไรก็ตามโรคนี้สามารถป้องกันได้ โดยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า


อาการของโรคพิษสุนัขบ้าเป็นอย่างไร?

อาการของโรคพิษสุนัขบ้าจะยังไม่แสดงออกในทันทีหลังจากที่ได้รับเชื้อ โดยผู้ป่วยจะเริ่มแสดงอาการประมาณ 3 สัปดาห์ ไปจนถึง 3 เดือนหลังได้รับเชื้อ ในบางรายอาจใช้เวลาร่วมปีกว่าที่เชื้อโรคพิษสุนัขบ้าจะแสดงอาการ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาด จำนวน และตำแหน่งของบาดแผล โดยเฉพาะตำแหน่งที่มีเส้นประสาทมาเลี้ยงจำนวนมาก (Richly innervated area) โดยเชื้อโรคจะแพร่กระจายจากบาดแผลเข้าสู่ระบบประสาทและสมอง อาการของโรคพิษสุนัขบ้าแบ่งเป็น 3 ระยะดังนี้

-ระยะแรกเริ่ม (Prodromal phase)
ผู้ป่วยโรคพิษสุนัขบ้าในระยะแรกเริ่ม จะมีอาการไม่จำเพาะ ได้แก่ มีไข้ ปวดศีรษะ เจ็บคอ หนาวสั่น คลื่นไส้ อาเจียน ครั่นเนื้อครั่นตัว ปวดเมื่อยตามตัว กระสับกระส่าย นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร ระคายเคืองบริเวณที่ถูกสัตว์กัดเป็นอย่างมาก มีอาการเจ็บแปลบคล้ายหนามทิ่มตำ โดยระยะนี้ อาจกินระยะเวลาเฉลี่ย 2-10 วัน


-ระยะที่มีอาการทางระบบประสาท (Acute neurologic phase) ผู้ป่วยโรคพิษสุนัขบ้าในระยะนี้ จะมีอาการแบ่งได้ 2 ประเภท

*ภาวะสมองอักเสบ (Encephalitis)ผู้ป่วยจะมีอาการไข้ กลัวลม กลัวน้ำ กล้ามเนื้อกระตุก กล้ามเนื้อหดเกร็ง เพ้อ เห็นภาพหลอน นอนไม่หลับ
*ภาวะอัมพาตแบบกล้ามเนื้ออ่อนแรงปวกเปียก (Flaccid paralysis) ผู้ป่วยจะมีอาการกล้ามเนื้อหดตัว กล้ามเนื้ออ่อนแรง


- ระยะโคม่า หรือ ระยะสุดท้าย (Coma)
ผู้ป่วยโรคพิษสุนัขบ้าในระยะนี้ จะพบภาวะแทรกซ้อน ได้แก่ ระบบหายใจล้มเหลว หัวใจหยุดเต้น และมักเสียชีวิตภายใน 2 สัปดาห์


การป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า

โรคนี้ไม่มียารักษาจำเพาะ แต่สามารถป้องกันได้โดยการนำสัตว์เลี้ยงไปรับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ประชาชนที่ถูกสัตว์กัด/ข่วน หรือสัมผัสน้ำลายของสัตว์เข้าทางบาดแผล หรือเยื่อเมือกอ่อน โดยเฉพาะสัตว์ที่ไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าหรือได้รับครั้งล่าสุดเกิน 1 ปี หรือไม่ทราบประวัติวัคซีน  ลูกสัตว์ที่เกิดจากแม่ที่ไม่เคยได้รับวัคซีนหรือไม่ทราบประวัติวัคซีน  ได้รับวัคซีนยังไม่ครบตามกำหนด หรือสัตว์ที่เคยได้รับวัคซีนแต่มีอาการป่วย หรือมีพฤติกรรมเปลี่ยนไปให้ล้างแผลด้วยน้ำสะอาดและสบู่ 


โดยให้น้ำไหลอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 15 นาที หลังจากนั้นรักษาบาดแผลโดยการใส่ยาฆ่าเชื้อ กักขังสัตว์ที่กัด/เลีย สังเกตอาการอย่างน้อย 10 วัน หากสุนัขหรือแมวเสียชีวิต ให้รีบแจ้งผู้นำชุมชนที่อยู่ใกล้ที่สุด และแจ้งปศุสัตว์ในพื้นที่ เพื่อส่ง ซากสัตว์สงสัยที่เพิ่งตายตรวจหาเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าทางห้องปฏิบัติการ และไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับวัคซีนหลังสัมผัสโรคที่สถานพยาบาลหลังถูกกัด ข่วน หรือสัมผัสน้ำลายสัตว์ดังกล่าว ซึ่งปัจจุบันจะฉีดวัคซีนเพียง 4-5 ครั้งเท่านั้น สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422




ที่มา กรมควบคุมโรค / โรงพยาบาลเมดพาร์ค


ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง