TNN online วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ต้องฉีดกี่เข็ม?

TNN ONLINE

Health

วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ต้องฉีดกี่เข็ม?

วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ต้องฉีดกี่เข็ม?

เปิดข้อมูล วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ต้องฉีดกี่เข็ม มีวิธีการฉีดกี่แบบ จะป้องกันโรคได้อย่างไร?

เปิดข้อมูล วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ต้องฉีดกี่เข็ม มีวิธีการฉีดกี่แบบ จะป้องกันโรคได้อย่างไร?


วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า (PEP) ในปัจจุบันมีประสิทธิภาพและความปลอดภัยสูง ผลข้างเคียงที่อาจพบได้จากการฉีดวัคซีน คือ ปวดบริเวณที่ฉีดยาหรือมีไข้ต่ำๆ ซึ่งควรจะหายไปได้เองใน 24-48 ชั่วโมงคล้ายกับวัคซีนอื่นๆ ซึ่งเป็นอาการปกติของการฉีดวัคซีนทั่วไป ส่วนใหญ่แล้วจะไม่พบอาการแพ้ตัวยารุนแรง วัคซีน PEP 1 ชุดประกอบด้วยวัคซีน 5 เข็ม ควรฉีดให้ครบตามที่แพทย์แนะนำ


ทางที่ดีที่สุดที่จะหลีกเลี่ยงจากโรคพิษสุนัขบ้าคือ การป้องกันไม่ให้ได้รับเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า สามารถทำได้โดย ไม่เข้าไปใกล้ หรือเล่นกับสัตว์ที่ไม่มีเจ้าของ ไม่เข้าไปแหย่สัตว์หรือทำร้ายสัตว์เพื่อความสนุกสนาน และควรนำสุนัข หรือแมว ที่เลี้ยงไปรับวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้าทุกปี


หากถูกสุนัขหรือสัตว์กัด โดยเฉพาะสัตว์ที่ไม่มีเจ้าของ อย่าชะล่าใจ ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อรับการรักษาและฉีดวัคซีน เพื่อให้ห่างไกลจากโรคพิษสุนัขบ้า โรคที่ไม่มีทางรักษาแต่สามารถป้องกันได้


วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ต้องฉีดกี่เข็ม?


กระทรวงสาธารณสุข และ สภากาชาดไทยแนะนำการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าที่จำนวน 1-5 เข็ม ขึ้นอยู่กับว่าเคยฉีดวัคซีนมาก่อนหรือไม่ โดยมีวิธีการฉีด 2 แบบ ดังนี้


1.การฉีดวัคซีนใต้ผิวหนัง (Intradermal: ID)


2.การฉีดวัคซีนเข้ากล้ามเนื้อ (Intramuscular: IM)


วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าจัดว่าเป็นวัคซีนที่มีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพสูง สามารถฉีดได้ทุกเพศ ทุกวัย รวมทั้งเด็ก และสตรีมีครรภ์ หากผู้ที่ถูกสัตว์กัดได้รับวัคซีนเข็มแรกหลังจากที่ถูกสัตว์กัดโดยเร็ว และมาฉีดวัคซีนจนครบจำนวนตามเข็มที่แพทย์สั่ง ก็จะสามารถป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าได้


จะป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าได้อย่างไร?


โรคพิษสุนัขบ้าสามารถป้องกันได้ โดยการดูแลสุขภาพอนามัยของสัตว์เลี้ยงให้ปลอดภัย และให้อยู่ห่างจากสัตว์ป่า เพื่อลดความเสี่ยง ในการสัมผัสกับสัตว์ติดเชื้อ รวมทั้งปฏิบัติตามข้อปฎิบัติต่าง ๆ ดังนี้


1.นำสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัข และแมว เข้ารับการฉีดวัคซีนป้องการโรคพิษสุนัขบ้าจนครบตามจำนวนเข็มที่สัตวแพทย์กำหนดและฉีดซ้ำทุกปี


2.จัดที่อยู่อาศัยที่เป็นกิจลักษณะให้สัตว์เลี้ยง ให้สัตว์เลี้ยงอยู่ในกรง หรือในบ้านเวลากลางคืน ไม่ปล่อยสัตว์เลี้ยงไปในที่สาธารณะ


3.ไม่สัมผัสสัตว์ป่า หรือปล่อยให้สัตว์เลี้ยงสัมผัสกับสัตว์ป่าหรือสัตว์จรจัด เพื่อหลีกเลี่ยงโอกาสที่สัตว์เลี้ยงจะถูกกัด


4.หากพบสัตว์จรจัด ที่ต้องสงสัยว่าเป็นโรคพิษสุนัขบ้า ให้ติดต่อเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานท้องถิ่นที่รับผิดชอบทันที


5.แนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าแบบป้องกันล่วงหน้าในผู้ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น สัตวแพทย์ ผู้ที่ทำงานในสวนสัตว์ ผู้ที่ทำงานในห้องทดลองที่มีความเสี่ยงสัมผัสกับไวรัสโรคพิษสุนัขบ้า ผู้ที่ต้องเดินทางไปพื้นที่ห่างไกลที่มีการระบาดของโรคและผู้ที่ชื่นชอบการตั้งแคมป์ เดินป่า ทั้งนี้เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า


โรคพิษสุนัขบ้า เป็นโรคที่ยังไม่มียารักษาในปัจจุบัน ผู้ที่ได้รับเชื้อโดยที่ไม่ได้รับการป้องกันและรักษาอย่างทันท่วงทีมักเสียชีวิตเกือบทุกราย ดังนั้นหากมีการสัมผัสกับสัตว์ที่ต้องสงสัยว่าอาจเป็นโรคพิษสุนัขบ้า แนะนำให้รีบมาพบแพทย์ เพื่อพิจารณาฉีดวัคซีนและหรือยาป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าโดยเร็วที่สุด




ข้อมูลจาก โรงพยาบาลสมิติเวช / โรงพยาบาลเมดพาร์ค 

ภาพจาก TNN Online

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง