TNN online "โรคแพ้ภูมิตัวเอง" ดูแลตัวเองอย่างไร ต้องหลีกเลี่ยงอะไรบ้าง ไม่ให้โรคกำเริบ

TNN ONLINE

Health

"โรคแพ้ภูมิตัวเอง" ดูแลตัวเองอย่างไร ต้องหลีกเลี่ยงอะไรบ้าง ไม่ให้โรคกำเริบ

โรคแพ้ภูมิตัวเอง ดูแลตัวเองอย่างไร ต้องหลีกเลี่ยงอะไรบ้าง ไม่ให้โรคกำเริบ

ป่วย "โรคแพ้ภูมิตัวเอง (SLE) หรือ โรคพุ่มพวง" ควรจะปฎิบัติตัวอย่างไร อะไรบ้างที่ต้องหลีกเลี่ยง ไม่ให้โรคกำเริบ

ป่วย "โรคแพ้ภูมิตัวเอง (SLE) หรือ โรคพุ่มพวง" ควรจะปฎิบัติตัวอย่างไร อะไรบ้างที่ต้องหลีกเลี่ยง ไม่ให้โรคกำเริบ


โรคแพ้ภูมิตัวเอง หรือ SLE (Systemic Lupus Erythematosus) คือโรคที่เกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน โดยภูมิคุ้มกันของคน ๆ นั้นทำลายเนื้อเยื่อภายในร่างกายของตัวเองจนเกิดการอักเสบและสามารถทำให้เกิดความผิดปกติกับอวัยวะได้ทั่วร่างกาย พบได้ในเพศหญิงมากกว่าเพศชายในช่วงวัยเจริญพันธุ์ 


นอกจากนี้ยังมีปัจจัยร่วมอื่น ๆ ที่สัมพันธ์กับการเกิดโรคได้ เช่น กรรมพันธุ์ (อาจจะมีสารพันธุกรรมบางชนิดที่สัมพันธ์กับการเป็นโรคแพ้ภูมิตัวเอง) ส่วนปัจจัยที่กระตุ้นให้โรคกำเริบมากขึ้น ได้แก่ การติดเชื้อภายในร่างกาย แสงแดด เป็นต้น หากป่วยเป็นโรคนี้ร่างกายจะมีการสร้างโปรตีนชนิดหนึ่งขึ้นมาชื่อว่า Antinuclear Antibody ทำให้แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคได้ชัดเจน


อาการบอกโรค
อาการของโรคนี้จะแสดงความผิดปกติในร่างกายในหนึ่งอวัยวะหรือหลายอวัยวะ ที่พบได้บ่อยคือ
-ปวดข้อ
-เป็นไข้ตั้งแต่ไข้ต่ำ ๆ จนถึงไข้สูง
-อ่อนเพลีย
-เบื่ออาหาร
-เกิดผื่นผิวหนังตามใบหน้า แขน ขา ที่อยู่บริเวณนอกเสื้อผ้า
-ผมร่วง
-มีสภาวะเลือดจาง เม็ดเลือดขาวต่ำ เกล็ดเลือดต่ำ ถ้าโรครุนแรงอาจมีเม็ดเลือดแดงแตก ปอดอักเสบ ไตอักเสบ


การรักษา
-การรักษาโรคเอสแอลอีจะต้องอาศัยความเข้าใจเกี่ยวกับตัวโรคของผู้ป่วย การปฎิบัติตัวอย่างถูกต้องของผู้ป่วย และการดูแลอย่างใกล้ชิดของแพทย์ผู้ทำการรักษา
-การเลือกวิธีการรักษาโรคนี้ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของผู้ป่วยแต่ละราย ถ้าผู้ป่วยมีอาการไม่รุนแรง การใช้ยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล หรือแอสไพริน หรือยาลดการอักเสบก็ควบคุมอาการได้
-สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงขึ้นอาจต้องใช้ยาประเภทสตีรอยด์หรือยากดภูมิคุ้มกันในขนาดต่างๆตามความเหมาะสม ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัย ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นกับความรุนแรงและระบบอวัยวะที่มีการอักเสบ



ผู้ป่วยโรคแพ้ภูมิตัวเอง ควรจะปฎิบัติตัวอย่างไร

การปฎิบัติตัวที่ถูกต้องเป็นส่วนที่สำคัญที่สุดในการรักษาโรคให้ได้ผล การปฎิบัติตัวที่ถูกต้องทำได้ดังนี้

1. พยายามหลีกเลี่ยงแสงแดดตั้งแต่ช่วง 10.00 - 16.00 น. ถ้าจำเป็นให้กางร่ม ใส่หมวก สวมเสื้อแขนยาว ใช้ยาทากันแดด
2. พักผ่อนให้เพียงพอ
3. หลีกเลี่ยงความตึงเครียด พยายามฝึกจิตใจให้ปล่อยวาง ทำใจยอมรับกับโรคและปัญหาอื่น ๆ
4. ออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ
5. ไม่กินอาหารที่ไม่สุกหรือไม่สะอาด
6. กินอาหารที่มีแคลเซียมสูง
7. ไม่กินยาเองโดยไม่จำเป็นเพราะยาบางตัวอาจทำให้โรคกำเริบได้
8. ป้องกันการตั้งครรภ์ขณะโรคยังไม่สงบ และหลีกเลี่ยงการคุมกำเนิดโดยวิธีใส่ห่วง เพราะมีโอกาสติดเชื้อสูงกว่าคนปกติ
9. เมื่อโรคอยู่ในระยะสงบสามารถตั้งครรภ์ได้ โดยได้รับการตรวจจากแพทย์อย่างใกล้ชิด
10. หลีกเลี่ยงจากสถานที่แออัดและไม่เข้าใกล้ผู้ที่กำลังเป็นโรคติดเชื้อ เช่น ไข้หวัด เพราะมีโอกาสติดเชื้อระบบทางเดินหายใจได้ง่าย
11. ถ้ามีลักษณะที่บ่งชี้ว่ามีการติดเชื้อ เช่น ไข้สูง หนาวสั่น มีฝีตุ่มหนองตามผิวหนัง ไอเสมหะเหลืองเขียว ปัสสาวะแสบขัด ให้รีบปรึกษาแพทย์ทันที
12. หากกินยากดภูมิคุ้มกันอยู่ให้หยุดยานี้ชั่วคราวในระหว่างที่มีการติดเชื้อ
13. มาตรวจตามแพทย์นัดอย่างสม่ำเสมอ
14. ถ้ามีอาการผิดปกติที่เป็นอาการของโรคกำเริบให้มาพบแพทย์ก่อนนัด เช่น มีอาการไข้เป็น ๆ หาย ๆ อ่อนเพลีย น้ำหนักลด บวม ผมร่วง ผื่นใหม่ ๆ ปวดข้อ เป็นต้น
15. ถ้ามีการทำฟัน หรือถอนฟัน ให้กินยาปฎิชีวนะก่อนและหลังทำฟัน เพื่อป้องกันการติดเชื้อ โดยต้องปรึกษาแพทย์สม่ำเสมอ


ภาวะแทรกซ้อนจากโรคพุ่มพวง หรือ แพ้ภูมิตัวเอง
-หัวใจและสมอง เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ โรคหลอดเลือดสมอง หรือความจำเสื่อม เป็นต้น
-ปัญหาทางโลหิต เช่น ภาวะโลหิตจาง การติดเชื้อในกระแสเลือด เป็นต้น
นอกจากนี้ยังสามารถเกิดปัญหากับอวัยวะอื่น ๆ ได้ เช่น การอักเสบที่ไต ภาวะไตวาย ไปจนถึงเยื่อหุ้มปอดอักเสบ ภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้เป็นได้ตั้งแต่อาการที่รุนแรงน้อยไปจนถึงรุนแรงมากแล้วแต่บุคคล และปัจจัยอื่น ๆ ร่วมด้วย





ข้อมูลจาก หมอชาวบ้าน / โรงพยาบาลเพชรเวช
ภาพจาก ผู้สื่อข่าวชลบุรี

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง