TNN online ดื่มน้ำร้อนแก้ปวดท้อง เสี่ยงเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร จริงหรือ?

TNN ONLINE

Health

ดื่มน้ำร้อนแก้ปวดท้อง เสี่ยงเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร จริงหรือ?

ดื่มน้ำร้อนแก้ปวดท้อง เสี่ยงเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร จริงหรือ?

ข่าวปลอม อย่าแชร์! ดื่มน้ำร้อนแก้ปวดท้อง เสี่ยงเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร

จากกรณีที่มีผู้โพสต์ข้อมูลด้านสุขภาพที่ระบุว่า ดื่มน้ำร้อนแก้ปวดท้อง เสี่ยงเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยทางสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้ตรวจสอบข้อมูลและชี้แจงว่า มะเร็งกระเพาะอาหารเกิดจากการเจริญเติบโตที่ผิดปกติของเซลล์เยื่อบุกระเพาะอาหาร โดยสาเหตุของการเกิดโรคยังไม่ทราบแน่ชัด แต่พบว่ามีความเชื่อมโยงกับปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เช่น การติดเชื้อแบคทีเรียเอชไพโลไร (H.pylori) การอักเสบของกระเพาะอาหารเรื้อรัง การสูบบุหรี่ ผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งกระเพาอาหาร เป็นต้น 

นอกจากนี้ การเผยแพร่ข้อมูลว่า ดื่มน้ำร้อนแก้ปวดท้องเสี่ยงเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารนั้น พบว่าปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลที่ยืนยันว่าการดื่มน้ำร้อนจะเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งกระเพาะอาหารแต่อย่างใด

ทั้งนี้ การดื่มเครื่องดื่มที่มีอุณหภูมิสูงหรือร้อนเกินไป (อุณหภูมิที่มากกว่า 65 องศาเซลเซียล) อาจส่งผลให้เกิดการระคายเคืองต่อเยื่อบุหลอดอาหารและหากดื่มเป็นประจำจะเกิดการอักเสบเรื้อรังและอาจเพิ่มความเสี่ยงโรคมะเร็งหลอดอาหารได้

ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ http://thaicancernews.nci.go.th/_v2/ หรือ www.nci.go.th หรือโทร. 02-202-6800

บทสรุปของเรื่องนี้คือ : ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลที่ยืนยันว่าการดื่มน้ำร้อนจะเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งกระเพาะอาหารแต่อย่างใด ซึ่งมะเร็งกระเพาะอาหารเกิดจากการเจริญเติบโตที่ผิดปกติของเซลล์เยื่อบุกระเพาะอาหาร โดยสาเหตุของการเกิดโรคยังไม่ทราบแน่ชัด แต่พบว่ามีความเชื่อมโยงกับปัจจัยเสี่ยง เช่น การสูบบุหรี่ เป็นต้น


รู้จักมะเร็งกระเพาะอาหาร


นายแพทย์วีรวุฒิ  อิ่มสำราญ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ เคยกล่าวว่า มะเร็งกระเพาะอาหารระยะเริ่มแรกอาจไม่มีอาการแสดงออกชัดเจน และอาจมีอาการคล้ายโรคอื่นๆ เช่น โรคแผลในกระเพาะอาหาร หรือกระเพาะอาหารอักเสบ อาการท้องอืดจุกแน่นท้องหลังรับประทานอาหาร กลืนอาหารลำบาก เบื่ออาหาร คลื่นไส้  อาเจียน เป็นต้น  

ในผู้ป่วยมะเร็งระยะลุกลามอาจมีอาเจียนเป็นเลือด ถ่ายอุจจาระเป็นสีดำคล้ำ หรืออาจมีเลือดปนในอุจจาระ น้ำหนักตัวลดโดยไม่ทราบสาเหตุ เป็นต้น การวินิจฉัยโรคทำได้ด้วยการส่องกล้องตรวจทางเดินอาหาร การตัดชิ้นเนื้อ  บนผิวกระเพาะเพื่อตรวจพิสูจน์ทางห้องปฏิบัติการ นอกจากนี้ยังมีการตรวจเพิ่มเติมด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์  เพื่อประเมินการแพร่กระจายของโรคไปยังอวัยวะอื่น ๆ อีกด้วย

นายแพทย์วีรวุฒิ อิ่มสำราญ กล่าวเพิ่มเติมว่า การรักษามะเร็งกระเพาะอาหารเป็นการดำเนินงานภายใต้  ความร่วมมือของทีมแพทย์ในสาขาต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นศัลยแพทย์ วิสัญญีแพทย์ รังสีแพทย์ และอายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคมะเร็ง ทั้งนี้ เพื่อวางแผนการรักษาที่เหมาะสมที่สุดสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย โดยปัจจัยที่มีผลต่อการเลือกวิธีการรักษาของแพทย์ ได้แก่ ขนาดของก้อนมะเร็ง ตำแหน่งและลักษณะของเซลล์มะเร็ง ตลอดจนระยะและการกระจายของโรคมะเร็งรวมถึงสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วยด้วย



ที่มา ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม / สธ.

ภาพจาก AFP

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง