TNN online "หลับไม่สนิท" เพียง 1 คืนมีผลต่อโรคหัวใจจริงหรือ กรมการแพทย์ชี้แจงแล้ว?

TNN ONLINE

Health

"หลับไม่สนิท" เพียง 1 คืนมีผลต่อโรคหัวใจจริงหรือ กรมการแพทย์ชี้แจงแล้ว?

หลับไม่สนิท เพียง 1 คืนมีผลต่อโรคหัวใจจริงหรือ กรมการแพทย์ชี้แจงแล้ว?

หลับไม่สนิทเพียง 1 คืน มีผลต่อโรคหัวใจ ร้ายแรงถึงขั้นหัวใจขาดเลือดได้ จริงหรือ กรมการแพทย์ ชี้แจงแล้ว

จากกรณีมีคำเตือนที่กล่าวว่า นอนหลับไม่สนิทเพียง 1 คืน มีผลต่อโรคหัวใจ ร้ายแรงถึงขั้นหัวใจขาดเลือดนั้น ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยทางกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้ชี้แจงว่า นอนหลับไม่สนิทเพียง 1 คืน ไม่ร้ายแรงถึงขั้นหัวใจขาดเลือด แต่การนอนไม่หลับในระยะยาวอาจเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด การนอนหลับเป็นการที่ร่างกายให้เวลาเพื่อปรับสมดุลร่างกาย 


รวมถึงการให้เวลากับอวัยวะภายในร่างกายได้พัก ทั้งหัวใจ หลอดเลือด ช่วยปรับระดับความดันโลหิตให้ลดลง ระบบต่อมไร้ท่อทำงานดีขึ้น ลดภาวะอ้วน ทำให้ควบคุมเบาหวานได้ง่าย น้ำย่อย ฮอร์โมนและระบบภูมิคุ้มกันทำงานได้ดีขึ้น หากมีการรบกวน นอนไม่หลับ หลับไม่สนิท อาจจะทำให้เกิดโรคได้ การนอนที่ดีต้องมีจำนวนชั่วโมงที่เพียงพอต่อความต้องการตามอายุ เด็กแรกเกิดต้องการนอนมากกว่า 10 – 16 ชั่วโมง เด็กวัยเรียน 8 – 10 ชั่วโมง วัยทำงาน 7 – 8 ชั่วโมง และวัยสูงอายุควรนอนอย่างน้อย 7 ชั่วโมง


ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากกรมการแพทย์ สามารถติดตามได้ที่ www.dms.go.th หรือโทร 02 5906000


บทสรุปของเรื่องนี้คือ : นอนหลับไม่สนิทเพียง 1 คืน ไม่ร้ายแรงถึงขั้นหัวใจขาดเลือด แต่การนอนไม่หลับในระยะยาวอาจเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ โดยการนอนที่ดีต้องมีจำนวนชั่วโมงที่เพียงพอต่อความต้องการตามอายุ



การนอนหลับ สิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม


นายแพทย์เอนก กนกศิลป์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ เคยกล่าวไว้ว่า ในผู้ที่มีปัญหานอนไม่หลับ ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพ เช่น ทำให้มีน้ำหนักที่เพิ่มขึ้น เกิดภาวะอ้วน โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมอง โรคซึมเศร้า รวมทั้งยังส่งผลเสียต่อระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้เกิดการเจ็บป่วยมากขึ้นกว่าปกติ อาการนอนไม่หลับสามารถพบได้ในทุกช่วงวัย โดยพบมากในผู้หญิง

และผู้สูงอายุ


สาเหตุของการนอนไม่หลับ สามารถเกิดได้จากหลายปัจจัย ดังนี้ 


ปัจจัยทางกาย 

1.เกิดจากการผิดปกติของโรคทางกาย เช่น โรคสมองเสื่อม โรคหอบหืด ความผิดปกติของฮอร์โมน ปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน โรคปอดเรื้อรัง โรดกรดไหลย้อน 

2.เกิดจากความผิดปกติของโรคจากการหลับ เช่น นอนกรน ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ง่วงมากผิดปกติในเวลากลางวัน พฤติกรรมและการขยับผิดปกติขณะหลับ โรคแปรปรวนของนาฬิกาชีวิต 


ปัจจัยทางจิตใจ 

1.เหตุการณ์ ในชีวิตประจำวันส่งผลกระทบต่อจิตใจ อาจเป็นเรื่องที่ทำให้เสียใจ หรือไม่สบาย 

2.เกิดจากโรคทางจิต เช่น โรคซึมเศร้า

โรควิตกกังวล โรคจิตเวช ยาหรือสารที่มีผลต่อการนอนหลับ เช่น บุหรี่ แอลกอฮอล์ ยาแก้แพ้ ชา กาแฟ 


ปัจจัยสภาพแวดล้อม

1.สภาพห้องนอนมีแสงสว่างมากเกินไป มีเสียงดังรบกวน อุณหภูมิร้อนเกินไป 

2.รู้สึกแปลกสถานที่ เมื่อมีการเปลี่ยนสถานที่นอน 3.การนอนไม่เป็นเวลา เช่น การทำงานกะดึก ทำกิจกรรมตื่นเต้นผาดโผนก่อนนอน





ที่มา กรมการแพทย์ / ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม

ภาพจาก AFP

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง