TNN online เปิดเคล็ดลับ 4 กลุ่มวัย ออกกำลังกายอย่างไร เพิ่มภูมิคุ้มกันสู้โรคฤดูหนาว

TNN ONLINE

Health

เปิดเคล็ดลับ 4 กลุ่มวัย ออกกำลังกายอย่างไร เพิ่มภูมิคุ้มกันสู้โรคฤดูหนาว

เปิดเคล็ดลับ 4 กลุ่มวัย ออกกำลังกายอย่างไร เพิ่มภูมิคุ้มกันสู้โรคฤดูหนาว

เปิดเคล็ดลับสำหรับ 4 กลุ่มวัย ต้องออกกำลังกายอย่างไร สร้างความอบอุ่น-เพิ่มภูมิคุ้มกัน สู้โรคในฤดูหนาว

วันนี้ ( 20 ธ.ค. 65 )นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า  เมื่อประเทศไทยเข้าสู่ฤดูหนาว สิ่งที่จะตามมา คือ ประชาชนอาจป่วยด้วยโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ เช่น ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ หลอดลมอักเสบและปอดบวม ซึ่งนอกจากการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ สวมเสื้อผ้าให้อบอุ่นแล้ว การเตรียมความพร้อมของร่างกายด้วยการออกกำลังกายก็เป็นสิ่งสำคัญ กรมอนามัยจึงแนะนำให้ประชาชนออกกำลังกายตามความเหมาะสม เพื่อเพิ่มความอบอุ่น และสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย 

1.เด็กเล็กที่อายุต่ำกว่า 6 ปี ควรเน้นการออกกำลังกายที่สนุกสนาน เพื่อให้เด็กใช้เวลาได้นาน ไม่เบื่อหน่าย เช่น วิ่งเก็บของ วิ่งเปี้ยว การละเล่นไทยต่างๆ หรือกายบริหารประกอบเพลง เป็นต้น เด็กวัยนี้ ควรเน้นความสนุกมากกว่าการเอาชนะ
2. ช่วงอายุ 6-17 ปี เป็นช่วงอายุที่มีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอจะช่วยให้มีพัฒนาการที่สมวัย สูงสมส่วน และมีร่างกายแข็งแรง ควรออกกำลังกายเป็นประจำอย่างน้อยวันละ 60 นาที (สะสมต่อเนื่อง 10 นาทีขึ้นไป) สามารถออกกำลังกายได้หลากหลายรูปแบบ เน้นการออกกำลังกายแบบแอโรบิก เป็นหลัก เช่น วิ่ง ปั่นจักรยาน กระโดดตบ กระโดดเชือก เต้นแอโรบิก ว่ายน้ำ บาสเกตบอล ฟุตบอล เป็นต้น ร่วมกับ การออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรงและความอดทนของกล้ามเนื้อ เช่น ซิทอัพ ดันพื้น แพลงก์ สควอช โหนบาร์ ยกดัมเบล เป็นต้น และการออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความอ่อนตัว เช่น จิงโจ้ยืดตัว กายบริหาร ยืดเหยียดกล้ามเนื้อ โยคะ เป็นต้น
3.วัยทำงาน ช่วงอายุ 18-59 ปี ควรออกกำลังกายให้หลากหลายเพื่อพัฒนาและเสริมสร้างกล้ามเนื้อให้แข็งแรง เช่น วิ่ง ปั่นจักรยาน แบดมินตัน วัยนี้กล้ามเนื้อ กระดูก ข้อต่อ และเส้นเอ็นต่างๆ เริ่มเสื่อมสภาพลง จึงควรออกกำลังกายเพื่อฟื้นฟูร่างกายให้ได้อย่างน้อยสัปดาห์ละ 5 วัน วันละ 30 นาที โดยการเดินเร็ว วิ่งเหยาะๆ เต้นแอโรบิก เป็นต้น 

4.ช่วงอายุ 60 ปีขึ้นไป ความคิด การตัดสินใจช้าลง กล้ามเนื้อ กระดูกและข้อต่อ การรับรู้ช้าลง มีภาวะสมองเสื่อม จึงควรออกกำลังกายแบบเบาๆ เช่น การเดิน เต้นรำ บริหารกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ให้แข็งแรง ควบคู่กับการยืดเหยียดกล้ามเนื้อ 2 วันต่อสัปดาห์ มีการออกกำลังกายฝึกการทรงตัว อย่างน้อยสัปดาห์ละ 5 วัน วันละ 30 นาที เช่น เต้นบาสโลบ ฟ้อนรำ รำวง รำไท่จี้ชี่กง กิจกรรมเหล่านี้
จะช่วยพัฒนาการเคลื่อนไหวร่างกายของผู้สูงอายุให้มีประสิทธิภาพ เป็นการฝึกการทรงตัว เพื่อป้องกันการหกล้ม สิ่งสำคัญของทุกวัย คือ การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รักษาร่างกายให้อบอุ่น เพื่อให้สุขภาพดี”
   “ทั้งนี้ ทุกกลุ่มวัยควรพักผ่อนให้เพียงพอ และกินอาหารประเภทผักและผลไม้สด ที่มีวิตามินซีสูง เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย และเนื่องจากช่วงอากาศเย็นจะทำให้อาหารจับตัวเป็นไข ก่อนการบริโภค จึงควรนำไปอุ่นให้ร้อน เพื่อเพิ่มรสชาติของอาหาร และเพิ่มความอบอุ่นให้กับร่างกายอีกด้วย” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

ข้อมูลจาก :  กรมอนามัย

ภาพจาก  :  AFP

ข่าวแนะนำ