TNN online เตือน "ไข้หวัดใหญ่" มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อาการเป็นอย่างไร ระยะฟักตัวกี่วัน เช็กที่นี่!

TNN ONLINE

Health

เตือน "ไข้หวัดใหญ่" มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อาการเป็นอย่างไร ระยะฟักตัวกี่วัน เช็กที่นี่!

เตือน ไข้หวัดใหญ่ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อาการเป็นอย่างไร ระยะฟักตัวกี่วัน เช็กที่นี่!

กระทรวงสาธารณสุข เผย "โรคไข้หวัดใหญ่" มีแนวโน้มระบาดเพิ่มมากขึ้น มีอาการอย่างไร ระยะฟักตัวกี่วัน เริ่มแพร่เชื้อได้เมื่อใด เช็กที่นี่

วันนี้( 15 ก.ย.65)  นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ที่ผ่านมาการเข้มข้นมาตรการส่วนบุคคล ทั้งการสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ และเว้นระยะห่าง ในการป้องกันโรคโควิด 19 ส่งผลให้โรคติดต่อทางเดินหายใจ เช่น โรคไข้หวัดใหญ่ มีการแพร่ระบาดลดลงด้วย 

แต่ขณะนี้เริ่มพบว่า "โรคไข้หวัดใหญ่" มีแนวโน้มการระบาดเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากตามปกติแล้วช่วงฤดูฝน ตั้งแต่เดือนสิงหาคมเป็นต้นมา เป็นช่วงการแพร่ระบาดตามฤดูกาลของโรคไข้หวัดใหญ่ จึงมีโอกาสพบผู้ป่วยจำนวนมากได้อยู่แล้ว ประกอบกับหลังจากมีการผ่อนคลายมาตรการป้องกันโรคโควิด 19 หลายคนลดความเคร่งครัดในการสวมหน้ากากอนามัย มีกิจกรรมที่มีคนรวมตัวกันและไม่สวมหน้ากากอนามัยเพิ่มขึ้น เช่น งานเลี้ยงสังสรรค์ รับประทานอาหาร ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ร่วมกัน ทำให้มีโอกาสที่โรคติดต่อทางเดินหายใจ อย่างโรคไข้หวัดใหญ่เพิ่มมากขึ้น

สาเหตุที่ทำให้ผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยโควิด 19 ลดลงต่อเนื่อง เป็นเพราะช่วงที่ผ่านมามีการระบาดในวงกว้าง ทำให้คนไทยมีภูมิคุ้มกันจากการติดเชื้อ และยังมีการฉีดวัคซีนไปแล้วกว่า 90% ทำให้มีภูมิคุ้มกันหมู่ สำหรับการลดการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ สามารถทำได้ด้วยการเร่งตรวจคัดกรอง เฝ้าระวัง และเข้ารับบริการฉีดวัคซีนโรคไข้หวัดใหญ่ โดยเฉพาะประชาชน 7 กลุ่มเสี่ยง 

ซึ่งกรมควบคุมโรคร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จัดหาวัคซีนไข้หวัดใหญ่บริการให้ฟรีเพื่อช่วยลดอาการหนักและเสียชีวิตในกลุ่มเสี่ยง 

รวมถึงหากยังเข้มมาตรการป้องกันตนเองด้วยการสวมหน้ากากอนามัย จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยป้องกันได้ทั้งโรคโควิด 19 และโรคไข้หวัดใหญ่


โรค "ไข้หวัดใหญ่" เป็นอย่างไร กรมควบคุมโรค ให้ข้อมูลดังนี้


ลักษณะโรค

-เป็นการติดเชื้อไวรัสที่ระบบทางเดินหายใจแบบเฉียบพลัน โดยมีลักษณะทางคลินิกที่สำคัญคือ มีไข้สูงแบบทันทีทันใด ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย ไข้หวัดใหญ่เป็นโรคที่สำคัญที่สุดโรคหนึ่งในกลุ่มโรคติดเชื้ออุบัติใหม่และโรคติดเชื้ออุบัติซ้ำ เนื่องจากเกิดการระบาดใหญ่ทั่วโลก (pandemic) มาแล้วหลายครั้ง แต่ละครั้งเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางเกือบทุกทวีป ทำให้มีผู้ป่วยและเสียชีวิตนับล้านคน


วิธีการติดต่อ

-เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ติดต่อทางการหายใจ โดยจะได้รับเชื้อที่ออกมาปนเปื้อนอยู่ในอากาศเมื่อผู้ป่วยไอ จาม หรือพูด ในพื้นที่ที่มีคนอยู่รวมกันหนาแน่น เช่น โรงเรียน โรงงาน การแพร่เชื้อจะเกิดได้มาก นอกจากนี้การแพร่เชื้ออาจเกิดโดยการสัมผัสฝอยละอองน้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วย (droplet transmission) จากมือที่สัมผัสกับพื้นผิวที่มีเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ แล้วใช้มือสัมผัสที่จมูกและปาก


ระยะฟักตัว 

-ประมาณ 1-3 วัน


ระยะติดต่อ

-ผู้ป่วยสามารถแพร่เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ตั้งแต่ 1 วันก่อนมีอาการและจะแพร่เชื้อต่อไปอีก 3-5 วันหลังมีอาการในผู้ใหญ่ ส่วนในเด็กอาจแพร่เชื้อได้นานกว่า 7 วัน ผู้ที่ได้รับเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่แต่ไม่มีอาการก็สามารถแพร่เชื้อในช่วงเวลานั้นได้เช่นกัน


การวินิจฉัยแยกโรค

-ไข้หวัดใหญ่จากเชื้ออื่นโดยอาศัยลักษณะทางคลินิกอย่างเดียวทำได้ยาก เชื้ออื่นๆที่ทำให้เกิดอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ ได้แก่ Mycoplasma pneumoniae, adenovirus, respiratory syncytial virus (RSV), rhinovirus, parainfluenza virus, และ Legionella spp.


การตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อยืนยันการวินิจฉัยโรค

-ตรวจพบเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ในเสมหะที่ป้ายหรือดูดจากจมูกหรือลำคอ หรือ

-ตรวจพบแอนติเจนของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ใน epithelial cell จาก nasopharyngeal secretion โดยวิธี fluorescent antibody หรือ

-ตรวจพบว่ามีการเพิ่มขึ้นของระดับภูมิคุ้มกันต่อเชื้อในซีรั่มอย่างน้อย 4 เท่าในระยะเฉียบพลันและระยะพักฟื้น โดยวิธี haemaglutination inhibition (HI) ซึ่งเป็นวิธีมาตรฐาน หรือ complement fixation (CF) หรือ Enzyme - linked immunosorbent assay (ELISA)





ที่มา กระทรวงสาธารณสุข / กรมควบคุมโรค

ภาพจาก รอยเตอร์

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง