TNN online "ความดันโลหิตสูง" อาการเป็นอย่างไร-ใครมีความเสี่ยงเป็นโรคนี้?

TNN ONLINE

Health

"ความดันโลหิตสูง" อาการเป็นอย่างไร-ใครมีความเสี่ยงเป็นโรคนี้?

ความดันโลหิตสูง อาการเป็นอย่างไร-ใครมีความเสี่ยงเป็นโรคนี้?

โรคความดันโลหิตสูง อาการเป็นอย่างไร-ใครมีความเสี่ยงเป็นโรคนี้ สามารถป้องกันได้ง่ายๆ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต

โรคความดันโลหิตสูง ได้ชื่อว่าเป็นเพชฌฆาตแห่งความเงียบ เนื่องจากส่วนใหญ่มักไม่มีอาการหรืออาการแสดงให้เห็น แต่มักตรวจพบโดยบังเอิญ ในกรณีที่มีความดันโลหิตสูงมาก ผู้ป่วยอาจจะมีอาการมึนบริเวณท้ายทอย วิงเวียนศีรษะหรือมีอาการแน่นหน้าอก คลื่นไส้ อาเจียน 

ภาวะแทรกซ้อนจากความดันโลหิตสูง 

ผู้มีความดันโลหิตสูงเรื้อรังที่ไม่สามารถควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในระดับปกติเป็นระยะเวลานานอาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่ออวัยวะสำคัญ เช่น กล้ามเนื้อหัวใจหนาตัว หลอดเลือดแดงแข็ง จอประสาทตาเสื่อม ไตเสื่อม โรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายอย่างยิ่ง เสี่ยงต่อการเกิดอัมพาต โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ไตวายและโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบตัน 

หากมีภาวะความดันโลหิตสูงนานๆ ไม่ได้รับการรักษา อย่างสม่ำเสมอและถูกต้องเหมาะสม หัวใจต้องทำงานหนักมากขึ้น กล้ามเนื้อของหัวใจจะหนาขึ้น หัวใจจะโตขึ้น อาจทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดห้องบนเต้นพริ้ว (Atrial Fibrillation) หรือเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวได้ ดังนั้นเราควรให้ความสำคัญกับการเกิดภาวะความดันโลหิตสูง การป้องกันและการรักษา เพื่อที่จะสามารถชะลอการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ

ค่าความดันโลหิตอยู่ในระดับที่สูงกว่าปกติ

โรคความดันโลหิตสูง เป็นภาวะโรคที่ตรวจพบว่าค่าความดันโลหิตอยู่ในระดับที่สูงกว่าปกติ คือ มีค่าความดันตัวบน (systolic: ค่าความดันเลือดในขณะที่หลอดเลือดหัวใจบีบตัว) สูงกว่า 140 มิลลิเมตรปรอท และความดันตัวล่าง (diastolic : ค่าความดันเลือดในขณะที่หลอดเลือดหัวใจคลายตัว) สูงกว่า 90 มิลลิเมตรปรอท 

ปัจจัยเสี่ยงความดันโลหิตสูง

ความดันโลหิตสูงมักจะพบร่วมกับปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ของกลุ่มอาการผิดปกติทางเมตาบอลิซึม เช่น ไขมันในเลือดสูงหรือระดับน้ำตาลในเลือดสูง นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เช่น ขาดการออกกำลังกาย โรคอ้วน มีภาวะเครียดเรื้อรัง ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ รับประทานอาหารที่มีรสเค็มจัดเป็นประจำ 

นอกจากนี้ โรคความดันโลหิตสูงอาจมีสาเหตุมาจากภาวะไตวาย เนื้องอกของต่อมหมวกไต โรคของต่อมไทรอยด์หรือต่อมพาราไทรอยด์ โรคทางเดินหายใจถูกอุดกลั้นขณะนอนหลับหรือการใช้ฮอร์โมนบางชนิด ในการรักษาผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงควรมีการประเมินความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ และผลกระทบต่ออวัยวะต่างๆที่เป็นผลมาจากความดันโลหิตสูงเป็นระยะเวลานาน เช่น กล้ามเนื้อหัวใจหนา ภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง ไตเสื่อมหรือมีโปรตีนรั่วในปัสสาวะ และจอประสาทตาเสื่อมจากความดันโลหิตสูง

ป้องกันได้ง่าย ๆ โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

ด้านข้อมูลจาก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เผยแพร่ว่า โรคความดันโลหิตสูงเป็นกลุ่มโรคไม่ติดต่อ (NCDs) ที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของคนไทย สามารถป้องกันได้ง่าย ๆ โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตของเรา

1. หลีกเลี่ยงอาหารเค็มทุกชนิด

2. เน้นทานผักและผลไม้ที่ให้สารอาหาร โพแทสเซียม เช่น ฟักทอง บรอกโคลี ผักโขม มะเขือเทศ มะละกอ กล้วย มะม่วง ฝรั่ง เป็นต้น

3. ควรดื่มนมและผลิตภัณฑ์นมไขมันต่ำที่ให้แคลเซียม ธัญพืชและถั่วเปลือกแข็งที่ให้แมกนีเซียม และเส้นใยอาหาร เช่น ถั่วแดง เต้าหู้ งา เป็นต้น

4. ควบคุมน้ำหนักตัว เส้นรอบเอวไม่ควรเกินส่วนสูงของตัวเองหารด้วย 2 ออกกำลังกายสม่ำเสมอ อย่างน้อย 3-4 วัน ต่อสัปดาห์วันละ 30-60 นาที

5. งดหรือลดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่

6. ผู้มีประวัติครอบครัวเป็นโรคความดันโลหิตสูงควรตรวจวัดความดันโลหิตอย่างน้อยทุก 2 ปี หากอายุเลย 35 ปี ควรตรวจทุก 1 ปี

7. ผู้ที่มีความดันโลหิตระหว่าง 120/80 ถึง 139/89 มม. ปรอท จัดเป็นกลุ่มเสี่ยง ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดโอกาสเกิดโรคความดันโลหิตสูง

ความดันโลหิตสูง อาการเป็นอย่างไร-ใครมีความเสี่ยงเป็นโรคนี้?

ภาพจาก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย


ข้อมูลจาก กรมการแพทย์ / โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

ภาพจาก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย / TNN ONLINE

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง