TNN ‘พายุดีเปรสชัน’ ก่อตัวอ่าวเบงกอล ดันมรสุมแรงขึ้นเตือน 4 จว. ฝนตกหนัก

TNN

Earth

‘พายุดีเปรสชัน’ ก่อตัวอ่าวเบงกอล ดันมรสุมแรงขึ้นเตือน 4 จว. ฝนตกหนัก

‘พายุดีเปรสชัน’ ก่อตัวอ่าวเบงกอล ดันมรสุมแรงขึ้นเตือน 4 จว. ฝนตกหนัก

‘พายุดีเปรสชัน’ ก่อตัวอ่าวเบงกอลจ่อทวีกำลังเป็นไซโคลน ดันมรสุมและคลื่นลมกำลังแรงขึ้น เตือนฝนตกหนัก 4 จังหวัดภาคเหนือ - ภาคกลาง

กรมอุตุนิยมวิทยาติดตามสถานการณ์ ‘พายุหมุนเขตร้อน’ ในขณะนี้มีการก่อตัวของพายุในระดับ ‘ดีเปรสชัน’ ในบริเวณอ่าวเบงกอล หย่อมความกดอากาศต่ำมีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุดีเปรสชัน กำลังเคลื่อนตัวทางทิศเหนือ และคาดว่าจะทวีกำลังแรงขึ้นเป็น ‘พายุไซโคลน’ ในระยะต่อไป จะเคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศบังคลาเทศในวันที่ 26 - 27 พ.ค.67 


ทั้งนี้พายุไม่มีผลกระทบโดยตรงกับประเทศไทย แต่จะทำให้มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ และคลื่นลมมีกำลังแรงขึ้น ต้องระวังฝนตกหนักด้านตะวันตกของภาคเหนือ (ตาก แม่ฮ่องสอน) ภาคกลาง (กาญจนบุรี ราชบุรี) ระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และในทะเลอันดามันระวังคลื่นลมแรง เรือเล็กขอให้งดออกจากฝั่ง ในระยะ 3 - 4 วันนี้ 


ขณะที่ในมหาสมุทรแปซิฟิก (ตะวันออกของประเทศฟิลิปปินส์) หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรง ได้แรงขึ้นเป็น ‘พายุดีเปรสชัน’  คาดว่าจะทวีกำลังขึ้นเป็นโซนร้อนในระยะต่อไป แต่ทิศทางไม่ได้เคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทย อยู่ห่างจากไกลมาก จึงไม่มีผลกระทบแต่อย่างใด แต่ขอให้ประชาชนติดตามข่าวสารสภาพอากาศเป็นระยะ และ อย่าตื่นตระหนกกับข่าวลือ 

‘พายุดีเปรสชัน’ ก่อตัวอ่าวเบงกอล ดันมรสุมแรงขึ้นเตือน 4 จว. ฝนตกหนัก


อย่างไรก็ตามคาดว่าจะมี ‘พายุหมุนเขตร้อน’ เคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทย จำนวน 1-2 ลูก มีโอกาสสูงที่จะเคลื่อนผ่านบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ ในช่วงเดือนสิงหาคมหรือกันยายน ซึ่งเป็นช่วงที่มีฝนตกชุกหนาแน่นที่สุด เตือนประชาชนระมัดระวังอันตรายจากฝนที่ตกสะสม น้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก 


สำหรับคาดการณ์ปริมาณฝนรวมปีนี้ใกล้เคียงค่าปกติและใกล้เคียงปีที่ผ่านมา ซึ่งมากกว่าค่าปกติร้อยละ 1 ในช่วงเริ่มต้นฤดูจะมีฝนเพิ่มมากขึ้นและตกต่อเนื่อง โดยเฉพาะภาคตะวันออกและภาคใต้ฝั่งตะวันตก ต่อมาช่วงกลางเดือนมิถุนายนถึงกลางเดือนกรกฎาคม ปริมาณและการกระจายของฝนจะลดลง อาจทำให้เกิดการขาดแคลนน้ำโดยเฉพาะพื้นที่นอกเขตชลประทานได้


สำหรับในวันนี้ กรมอุตุนิยมวิทยา ได้ออกคำเตือนฉบับที่ 11 ซึ่งเป็นฉบับล่าสุด โดยระบุว่า คลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันมีกำลังค่อนข้างแรง โดยทะเลอันดามันตอนบนมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนทะเลอันดามันตอนล่างมีคลื่นสูง 1 - 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร สำหรับอ่าวไทยมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูง 1 - 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง สำหรับเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันตอนบนควรงดออกจากฝั่งถึงวันที่ 26 พ.ค. 67 


ข้อมูลจาก: กรมอุตุนิยมวิทยา 

ภาพจาก: AFP , กรมอุตุนิยมวิทยา 

ข่าวแนะนำ