TNN พะยูนไทย 5 วัน ตาย 4 ตัว ทส.สั่งวอร์รูมแก้ปัญหาพะยูนตาย

TNN

Earth

พะยูนไทย 5 วัน ตาย 4 ตัว ทส.สั่งวอร์รูมแก้ปัญหาพะยูนตาย

พะยูนไทย 5 วัน ตาย 4 ตัว ทส.สั่งวอร์รูมแก้ปัญหาพะยูนตาย

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สั่งตั้งวอร์รูมแก้ไขปัญหา “วิกฤตพะยูนไทย” หวั่นสูญพันธุ์ หลังล่าสุดพะยูนไทยตาย 4 ตัวภายใน 5 วัน

พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) เปิดเผยว่า พะยูนเป็นสัตว์ป่าสงวนลำดับที่ 6 ตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 โดยพะยูนพบเห็นได้มากที่จังหวัดตรัง บริเวณเกาะลิบง เกาะมุกด์ จังหวัดกระบี่ เกาะปู เกาะจำ เกาะศรีบอยา เกาะลันตา และพื้นที่ตามแนวชายฝั่งทะเล จากอดีตที่ผ่านมาพบว่า พะยูนได้เสียชีวิตทั้งจากการเจ็บป่วยตามธรรมชาติ จากการต่อสู้กันเองระหว่างพะยูนด้วยกัน การติดเครื่องมือประมงโดยบังเอิญ หรือถูกเรือชนหรือถูกใบจักรเรือฟัน และสถานการณ์ในปัจจุบันสืบเนื่องจากสภาวะโลกร้อน ทำให้แหล่งหญ้าทะเลเกิดการเสื่อมโทรมและสูญหายเป็นจำนวนมาก พะยูนบางส่วนที่อาศัยอยู่บริเวณจังหวัดตรัง และจังหวัดกระบี่ มีการเคลื่อนย้ายถิ่นไปหากินแหล่งหญ้าทะเลตามแนวชายฝั่งในพื้นที่จังหวัดอื่นๆ ใกล้เคียง จำนวนพะยูนที่เพิ่มมากขึ้นจากการอพยพย้ายถิ่น ยังไม่มีการปรับตัวที่ดีพอ ประกอบกับปริมาณการสัญจรทางน้ำและกิจกรรมประมงที่มีมากในพื้นที่โดยเฉพาะบริเวณอ่าวพังงา ส่งผลให้พะยูนมีอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางน้ำ และอุปกรณ์ทางการประมงมากขึ้น 
กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (ทส.) กำหนดแนวทางสำหรับการป้องกันและแก้ไขปัญหาการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุของพะยูน ในพื้นที่การแพร่กระจายของพะยูนและแหล่งหญ้าทะเล บริเวณอ่าวพังงา จำนวน 11 พื้นที่ ได้แก่ 1.อ่าวตังเข็น ภูเก็ต 2.อ่าวป่าคลอก ภูเก็ต 3.อ่าวบ้านคลองเคียน พังงา 4.เกาะหมาก พังงา 5.ช่องหลาด เกาะยาว พังงา 6.อ่าวท่าปอม กระบี่ 7.อ่าวนาง กระบี่ 8.อ่าวน้ำเมา กระบี่ 9.เกาะศรีบอยา เกาะปู กระบี่ 10.เกาะลันตา กระบี่ และ 11.แหลมไทร กระบี่ โดยมีมาตรการดังนี้
1. หากมีการพบเห็นพะยูนได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต ให้โทรแจ้งสายด่วนหมายเลข 1362 เพื่อ ทช. และอส. จะประสานเจ้าหน้าที่ในบริเวณใกล้เคียงเข้าไปช่วยเหลือเพื่อนำส่งศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ทะเลหายาก ของทช. ที่มีอยู่ในพื้นที่ 
2. ประกาศให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวและประชาชนที่ใช้ยานพาหนะในการสัญจรทางน้ำ เดินเรือตามแนวร่องน้ำหลัก โดยขอความร่วมมือให้งดการเดินเรือในบริเวณแหล่งหญ้าทะเล และหากจำเป็นต้องเดินเรือผ่านแนวเขตหญ้าทะเล โดยให้ใช้ความเร็วไม่เกิน 3 น๊อต และไม่เกิน 20 น๊อต ในพื้นที่ชายฝั่งที่เป็นเขตการแพร่กระจายพะยูน  
3. ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนที่ประกอบอาชีพประมงในพื้นที่หญ้าทะเลและแหล่งแพร่กระจายของพะยูน หมั่นตรวจเช็ค ดูแลเฝ้าระวังเครื่องมือประมงขณะทำการอย่างต่อเนื่อง หรือหลีกเลี่ยงการทำประมงในพื้นที่ดังกล่าว 
ด้านผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กระบุ 5 วัน พะยูนตาย 4 ตัว กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง, กรมอุทยานฯ, คณะวิกฤตหญ้าทะเล/พะยูน เร่งออกมาตรการดูแล ผศ.ดร.ธรณ์ ระบุด้วยว่า หวังว่าเมื่อมีการประกาศใช้ออกมา ทุกคนจะให้ความร่วมมือ และมีการทำทุ่นบอกเขต ตลอดจนการลาดตระเวนดูแลจริงจัง สถานการณ์ 5 วัน 4 ตัว คือ เหตุฉุกเฉินสูงสุด Red Alert เท่าที่จำได้ ไม่เคยมีครั้งไหนที่พะยูนตายถี่ๆ แบบนี้ หวังว่ากระทรวงทรัพยากรฯ จะทุ่มเทสรรพกำลังและงบประมาณเพื่อช่วยให้ได้ คนไทยรักพะยูน ไม่อยากให้พวกเธอที่อพยพทิ้งบ้านมา ต้องเดินทางมาสู่อันตราย และมีความตายรออยู่


ที่มา: กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง, Thon Thamrongnawasawat

ข่าวแนะนำ