TNN ภาวะโลกเดือดก่อ ‘พายุฤดูร้อน’ ถี่ขึ้น กทม.เผชิญวันร้อนระอุ 80 วัน/ปี

TNN

Earth

ภาวะโลกเดือดก่อ ‘พายุฤดูร้อน’ ถี่ขึ้น กทม.เผชิญวันร้อนระอุ 80 วัน/ปี

ภาวะโลกเดือดก่อ ‘พายุฤดูร้อน’ ถี่ขึ้น กทม.เผชิญวันร้อนระอุ 80 วัน/ปี

ดร.เสรีเผยภาวะโลกเดือดก่อ ‘พายุฤดูร้อน’ ถี่และรุนแรงขึ้น กทม.เผชิญวันที่ร้อนที่สุดมากกว่าเดิม 80 วัน/ปี

รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ประธานกรรมการบริหาร Futuretales LAB, MQDC และผู้เชี่ยวชาญ คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ระบุผ่านเพจเฟซบุ๊กว่า  รายงานฉบับที่ 6 จากการประเมินโดยคณะทำงานระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC-AR6) พบว่าในภาวะโลกเดือด จะก่อให้เกิด ‘พายุฤดูร้อน’ ถี่ขึ้น และความรุนแรงมากขึ้นโดยเฉพาะในพื้นที่แถบโซนร้อน รวมประเทศไทย 


เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของพลังงานสะสมของการยกตัวของอากาศร้อน (CAPE : Convective Available Potential Energy) ซึ่งจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาสั้นๆรายชั่วโมง จะมีทั้งลม ฝน ลูกเห็บ ฟ้าแลบ ฟ้าร้อง หรือฟ้าผ่าตามมา


จากนี้ต่อไปก่อนเข้าฤดูฝน จะต้องเฝ้าระวังพายุฤดูร้อน เพราะมีอันตรายถึงชีวิต ต้องหาที่หลบกำบังในที่ร่มที่แข็งแรง โดยการคาดการณ์ดัชนี CAPE ของวันอาทิตย์ที่ 5 พค. เวลา 07.00 น. บริเวณพื้นที่สีแดงจะมีการยกตัวของเมฆมาก บ่งชี้สภาวะแวดล้อมที่มีโอกาสเกิดพายุฤดูร้อน


 นอกจากนี้ IPCC ยังพบว่า โลกจะยังคงมีอุณหภูมิสูงขึ้นอย่างไม่มีขีดจำกัด เมื่อทำการย่อส่วน (Downscaling) มายังประเทศไทยพบว่ามีหลายพื้นที่ในเฉดสีส้ม จะมีจำนวนวันที่มีอุณหภูมิ 35 องศาเซลเซียส ประกอบกับดัชนีความร้อน (Heat index) จะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ 


ตัวอย่างที่ชัดเจนพื้นที่ กทม. จะมีจำนวนวันที่ร้อนสุดเพิ่มขึ้นจาก 17 วันต่อปี เป็นประมาณ 80 วันต่อปี กล่าวคือตั้งแต่เดือนมีนาคม ถึงพฤษภาคม จึงไม่แปลกใจว่าคนไทยไปเที่ยวญี่ปุ่นหลบร้อนกันมากขึ้นในช่วงนี้ 


ถึงเวลาที่ทุกภาคส่วนโดยเฉพาะรัฐบาล ต้องกำหนด Road map ที่เป็นรูปธรรม โดยให้ความสำคัญกับมาตรการ Adaptation  ไม่เช่นนั้น ลูกหลานไทยจะอยู่ประเทศไทยอย่างไม่มีความสุข และที่สำคัญเป็นภัยต่อความมั่นคงทางอาหาร 


อย่างไรก็ตาม รศ.ดร.เสรียัง ระบุว่าตั้งแต่วันที่ 5 พฤษภาคม 67 เราจะสิ้นสุดความร้อนแรงทั่วประเทศแล้วโดยสัปดาห์นี้ พื้นที่ที่มีโอกาส 50 - 80% ยังคงมีอุณหภูมิสูง 40 องศาเซลเซียสจะเป็นพื้นที่ในภาคกลาง ได้แก่ จ.สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี นครปฐมชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง นครสววรรค์ พิจิตร กำแพงเพชร และสุโขทัย ส่วนพื้นทีในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มี จ. นครราชสีมา บุรีรัมย์ ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ และสระแก้ว 


ตั้งแต่วันที่ 6 พฤษภาคม อุณหภูมิจะลดลงตามลำดับ ในบางพื้นที่เริ่มมีฝนตกประมาณ 10 - 20 mm ต่อวันให้ได้รับความชุ่มชื้นบ้างโดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ พอผ่อนคลายความร้อนได้มาก


ภาพจาก: AFP 

ข่าวแนะนำ