TNN เตือน! รับมือ "พายุฤดูร้อน" ถึง 30 มีนาคม เฝ้าระวังน้ำโขงเปลี่ยนแปลงฉับพลัน

TNN

Earth

เตือน! รับมือ "พายุฤดูร้อน" ถึง 30 มีนาคม เฝ้าระวังน้ำโขงเปลี่ยนแปลงฉับพลัน

เตือน! รับมือ พายุฤดูร้อน ถึง 30 มีนาคม เฝ้าระวังน้ำโขงเปลี่ยนแปลงฉับพลัน

สทนช. ชี้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นจากพายุฤดูร้อนจนถึง 30 มี.ค. นี้ พร้อมเฝ้าระวังระดับน้ำโขงเปลี่ยนแปลงฉับพลันจากการระบายน้ำเพิ่มของเขื่อนจิ่งหง

สทนช. พบไทยจะมีฝนเพิ่มขึ้นจากอิทธิพลของพายุฤดูร้อนจนถึง 30 มี.ค. นี้ ก่อนฝนจะกลับมาช่วยลดร้อนอีกครั้งช่วงสัปดาห์ที่ 2 ของเดือน เม.ย. 67 ด้านสถานการณ์ระดับน้ำโขงเปลี่ยนแปลงฉับพลันจากการระบายน้ำของเขื่อนจิ่งหง 


วันนี้ (27 มี.ค. 67) ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นประธานการประชุมติดตามและประเมินสถานการณ์น้ำประจำสัปดาห์ ณ อาคารจุฑามาศ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) (สสน.) กรมฝนหลวงและการบินเกษตร กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรธรณี กรมชลประทาน การประปานครหลวง การประปาส่วนภูมิภาค การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (GISTDA) กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เป็นต้น เข้าร่วมการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ 


โดยเลขาธิการ สทนช. เปิดเผยผลการประชุมว่า จากการติดตามคาดการณ์สภาพอากาศโดยกรมอุตุนิยมวิทยาและ สสน. พบว่า ในระยะนี้ประเทศไทยมีปริมาณฝนเพิ่มขึ้นจากอิทธิพลของพายุฤดูร้อน โดยตั้งแต่วานนี้ (26 มี.ค. 67) มีฝนตกมากในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และหลังจากนี้ยังมีโอกาสจะเกิดฝนในพื้นที่ภาคตะวันออกและภาคใต้ด้วย อย่างไรก็ตาม ปริมาณฝนดังกล่าวจะค่อย ๆ ลดลงในวันที่ 30 มี.ค. 67 ก่อนจะมีแนวโน้มที่ฝนจะเพิ่มขึ้นอีกครั้งในช่วงสัปดาห์ที่ 2 ของเดือน เม.ย. ที่จะถึงนี้ 


ซึ่งจะสามารถช่วยลดอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นได้ในระดับหนึ่ง ทั้งนี้ ปริมาณฝนจะเริ่มตกมากตั้งแต่ช่วงเดือน พ.ค. 67 แต่คาดว่าอาจจะเกิดสถานการณ์ฝนทิ้งช่วงได้ประมาณเดือน ก.ค. 67 ในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่ง สทนช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีการประชุมติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเพื่อให้ข้อมูลแก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเป็นข้อมูลสำหรับเกษตรกรเพื่อนำไปใช้วางแผนการเพาะปลูกได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ


“แม้ในช่วงที่ผ่านมาประเทศไทยจะประสบกับสภาวะเอลนีโญซึ่งทำให้มีฝนตกน้อยกว่าค่าเฉลี่ย แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้บูรณาการร่วมกันในการกักเก็บปริมาณน้ำไว้ให้ได้มากที่สุด ส่งผลให้ปัจจุบันปริมาณน้ำในแหล่งน้ำทั้งประเทศมีปริมาณ 60% ของความจุ ซึ่งน้อยกว่า ณ ช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้วอยู่ 4% แต่ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างดี โดยมั่นใจได้ว่าจะมีปริมาณน้ำสำหรับอุปโภค บริโภค การเกษตร และรักษาระบบนิเวศอย่างเพียงพอ แต่สำหรับการเพาะปลูกข้าวนาปรังในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาซึ่งมีจำนวนพื้นที่เพาะปลูกเกินแผน ส่งผลให้อ่างเก็บน้ำหลายแห่งมีการจัดสรรน้ำเกินแผนที่วางไว้ 


กรมชลประทานได้เสนอขอปรับแผนการจัดสรรน้ำของลุ่มน้ำเจ้าพระยาต่อคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ในวันนี้ และขอเน้นย้ำว่ายังจำเป็นต้องมีการรณรงค์งดทำนาปรังรอบที่ 2 อย่างเข้มงวด เพื่อไม่ให้เสี่ยงต่อการเผชิญปัญหาขาดแคลนน้ำในอนาคต นอกจากนี้ ในการประชุม กนช. วันนี้ สทนช. จะเสนอ (ร่าง) มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2567 เพื่อเร่งเตรียมพร้อมรองรับฤดูฝนที่คาดว่าจะเกิดสภาวะลานีญาด้วย” เลขาธิการ สทนช. กล่าว


ดร.สุรสีห์ กล่าวต่อว่า สำหรับสถานการณ์น้ำในแม่น้ำโขง ซึ่ง สทนช. ได้แจ้งเตือนล่วงหน้าเพื่อเฝ้าระวังผลกระทบจากระดับแม่น้ำโขงเปลี่ยนแปลงฉับพลัน ในช่วงวันที่ 26 – 31 มี.ค. 67 บริเวณสถานีเชียงแสน จ.เชียงราย สถานีเชียงคาน จ.เลย และตั้งแต่สถานีหนองคาย จ.หนองคาย จนถึงสถานีโขงเจียม จ.อุบลราชธานี เนื่องจากมีการระบายน้ำเพิ่มขึ้นจากเขื่อนจิ่งหง สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยคาดว่าระดับน้ำจะมีการเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 0.3 – 0.7 ม. ซึ่งไม่ได้อยู่ในระดับที่สูงมากนัก โดยจากการติดตามสำรวจ 


ขณะนี้ไม่พบว่ามีประชาชนได้รับผลกระทบ แต่จะยังคงมีการเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ ในการประชุมวันนี้ สทนช. ยังได้ติดตามปัญหาการเจริญเติบโตของสาหร่ายในแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งส่งผลกระทบต่อการผลิตน้ำประปา โดยการประปานครหลวงได้มีการเฝ้าระวังคุณภาพน้ำและบำบัดน้ำอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถผลิตน้ำประปาได้ตามมาตรฐานกระทรวงสาธารณสุขและองค์การอนามัยโลก ที่มีความสะอาดปลอดภัยต่อสุขภาพของประชาชนทุกคน


ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง