TNN นักวิชาการคาด "ฤดูร้อน 2567" อุณหภูมิประเทศไทยอาจสูงถึง 44.6 องศาฯ

TNN

Earth

นักวิชาการคาด "ฤดูร้อน 2567" อุณหภูมิประเทศไทยอาจสูงถึง 44.6 องศาฯ

นักวิชาการคาด ฤดูร้อน 2567 อุณหภูมิประเทศไทยอาจสูงถึง 44.6 องศาฯ

ฤดูร้อน 2567 "รศ.เสรี" คาดปีนี้อุณหภูมิประเทศไทย อาจจะสูงถึง 44.6 องศาฯ ซึ่งหากอุณหภูมิสูงมากขึ้นจะกระทบกับผลผลิตทางการเกษตร

รศ.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการ ศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยถึงกรณีกรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์อากาศช่วงฤดูร้อน ว่าจะเริ่มตั้งแต่ปลายเดือน ก.พ. และจะสิ้นสุดในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม พร้อมกับคาดการณ์ว่า อุณหภูมิสูงที่สุดในปีนี้จะอยู่ที่ราว  43.0 - 44.5 องศาเซลเซียส  


โดยระบุว่า ปี 2566 ที่ผ่านมา เป็นปีที่โลกร้อนที่สุดนับตั้งแต่มีการจดบันทึกมาตั้งแต่ปี 2558 โดยอุณหภูมิที่ร้อนที่สุดก่อนหน้านั้นคือในปี 2559 แต่หลังจากนี้ยังมีการคาดการณ์ว่าอุณหภูมิในปีต่อ ๆ ไป จะมีการทำลายอุณหภูมิของปีที่ผ่านมาลง และจะมีแต่อุณหภูมิที่สูงขึ้น ซึ่งตัวเลขที่คาดการณ์คาดว่าอุณหภูมิจะอยู่ระหว่าง 1.36 ถึง 1.58 องศาเซลเซียส ซึ่งหากเทียบก็จะพบว่าสูงกว่าระดับ 50 ปีที่ผ่านมา


สำหรับประเทศไทยคาดว่า อุณหภูมิที่สูงขึ้นจะอยู่ระหว่างช่วงของเดือนมีนาคมถึงเมษายน และอุณหภูมิที่อยู่ระหว่าง 44.5 - 44.6 มีโอกาสเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน ซึ่งหากเป็นอย่างนี้ ในอนาคตกลุ่มผู้ที่จะได้รับผลกระทบอย่างหนักคือเกษตรกร ที่จะเป็นกลุ่มได้รับผลกระทบสูงที่สุดหากไม่มีการปรับตัว


อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า ผลผลิตทางการเกษตรเกือบทุกชนิดหลังจากนี้ จะมีผลผลิตที่แย่ลง ไม่ว่าจะเป็น ข้าว , ข้าวโพด และมันสำปะหลัง จะได้รับผลกระทบจากอุณหภูมิที่สูงขึ้น ซึ่งหากภาครัฐไม่ดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งก็จะทำให้เกิดความเสียหาย โดยหากมองไปยังประเทศใกล้เคียงที่ได้มีการปรับตัวพบว่า หลายประเทศเริ่มขยับปรับตัวแล้ว เช่น อินเดีย และเวียดนาม โดยอินเดียมีพื้นที่เพาะปลูกถึง 300 ล้านไร่ ในขณะที่ไทยมีเพียง 60-70 ล้านไร่เพียงเท่านั้น

ทั้งนี้ อินเดียปัจจุบันใช้ AI ในการดูแลผลผลิต โดยเฉพาะการคาดการณ์อุณหภูมิและความชื้น เพื่อให้เกษตรกรตัดสินใจในการใช้เทคโนโลยีเข้ามาดูแล ทั้งการให้น้ำและให้ปุ๋ย เพื่อให้การดูแลสอดคล้องไปกับการคาดการณ์ ขณะที่เวียดนามก็เป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีระบบชลประทานที่ดีกว่าประเทศไทย เพราะมีระบบชลประทานที่ครอบคลุมถึงร้อยละ 90 ในขณะที่ประเทศไทยมีระบบชลประทานที่ครอบคลุมเพียงร้อยละ 20 เพียงเท่านั้น ซึ่งทำให้ผลผลิตของไทยต่ำกว่าทั้ง 2 ประเทศ





แฟ้มภาพ AFP

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง