TNN online เอลนีโญกระทบไทยหนักสุดเดือนไหน? เผชิญแล้ง-อากาศร้อนจัด

TNN ONLINE

Earth

เอลนีโญกระทบไทยหนักสุดเดือนไหน? เผชิญแล้ง-อากาศร้อนจัด

เอลนีโญกระทบไทยหนักสุดเดือนไหน? เผชิญแล้ง-อากาศร้อนจัด

สถานการณ์เอลนีโญกระทบประเทศไทยหนักสุดเดือนไหน? เผชิญภัยแล้ง-อากาศที่ร้อนจัด

นักวิชาการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการเกษตร เผยข้อมูลจากทั่วโลก พบว่า ปรากฏการณ์เอลนีโญจะอยู่ในระดับรุนแรงถึงรุนแรงมากต้้งแต่ช่วงปลายปีนี่ไปจนถึงต้นปีหน้า และอาจจะเป็นครั้งที่ 6 ในรอบ 74 ปี ที่อุณหภูมิผิวน้ำทะเลจะสูงขึ้นแตะ 2 องศา  ส่งผลให้ไทยเจอภัยแล้งและอากาศที่ร้อนจัด/ ห่วงพื้นที่ทางการเกษตรนอกเขตชลประทานที่อาจจะได้รับผลกระทบ


รองศาสตราจารย์วิษณุ อรรถวานิช อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญงานวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการเกษตร  ระบุว่า  ปรากฏการณ์เอลนีโญ ข้อมูลจากทั่วโลกตรงกันร้อยละ 90 ว่าจะเริ่มรุนแรงตั้งแต่ปลายปีนี้ ลากยาวไปถึงกลางปี 2567 


โดยเอลนีโญจะรุนแรงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องซึ่งดูจากระดับอุณหภูมิผิวน้ำทะเลในแต่ละเดือนดังนี้ 


1.เดือนกรกฎาคมอุณหภูมิของน้ำทะเลจะเพิ่มขึ้น 1.4 องศาฯ

2.เดือนกันยายนเพิ่มขึ้น 1.9 องศาฯ อยู่ในระดับรุนแรง 

3.เดือนพฤศจิกายน เพิ่มขึ้น 2.1 องศาฯ ถือว่าอยู่ในระดับที่รุนแรงมาก


ทั้งนี้ที่ผ่านมาเกิดขึ้นแค่เพียง 5 ครั้ง  โดยครั้งนี้จะเป็นครั้งที่ 6 ในรอบ 74 ปีที่อุณหภูมิ ผิวน้ำทะเลจะไปเพิ่มขึ้นแตะ 2 องศาฯ 


สำหรับปัจจัยที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์เอลนีโญที่รุนแรงขนาดนี้  มีด้วยกันหลายปัจจัย เช่น ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มขึ้นทำให้ชั้นบรรยากาศโลก แปรปรวน นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลก ได้มีการคาดการณ์ว่า ก๊าซเรือนกระจกจะไปดักจับความร้อนไม่ให้สะท้อนออกนอกโลกได้  ทำให้โลกมีอุณหภูมิที่สูงขึ้น และยังคาดการณ์อีกว่า ความร้อนนี้เมื่อผ่านปรากฏการณ์เอลนีโญ จะทำให้พบถี่ขึ้น และมาในระดับที่รุนแรง 


รองศาสตราจารย์วิษณุ ระบุด้วยว่า สถานการณ์เอลนีโญจะสูงสุดในช่วงเดือนมกราคม 2567 และจะค่อยลดกำลังลง แต่ถือว่าอยู่ในระดับรุนแรงและรุนแรงมากไปจนถึงเดือนมีนาคม 2567 ซึ่งจะคาบเกี่ยวกับช่วงฤดูแล้งของประเทศไทย ทำให้ทุกภาคของไทยจะเจออากาศที่ร้อนจัดและภัยแล้ง จึงต้องเตรียมการรับมือ โดยเฉพาะผลกระทบพื้นที่ทางการเกษตร  ที่อยู่นอกเขตชลประทาน ซึ่งมีอยู่ประมาณร้อยละ 74  สิ่งที่รัฐบาล ควรทำคือเร่งกักเก็บน้ำในฤดูฝนปีนี้ให้ได้มากที่สุด ส่งเสริมเกตรกรขุดสระส่วนตัว หรือ ภาครัฐ อาจจะต้องลงทุนงบประมาณในการขุดสระสาธารณะ เพื่อที่เวลาฝนตกก็สามารถที่จะกักเก็บน้ำได้  


สิ่งสำคัญ คือ การรณรงค์ปรับลดการปลูกข้าวนาปรัง อาจจะปรับไปเปลี่ยนรูปแบบการปลูกข้าวนาปรัง ในรูปแบบเปียกสลับแห้ง ที่สามารถประหยัดน้ำได้ถึงร้อยละ 30-40 และส่งเสริมการปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยแทนการปลูกข้าวนาปรังเพื่อป้องกันความเสียหายจากภัยแล้ง 


ภาพจาก : AFP 

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง