TNN online เอลนีโญเริ่มกระทบไทยเดือนไหน? ฝนเริ่มทิ้งช่วง-เกิดภัยแล้ง!

TNN ONLINE

Earth

เอลนีโญเริ่มกระทบไทยเดือนไหน? ฝนเริ่มทิ้งช่วง-เกิดภัยแล้ง!

เอลนีโญเริ่มกระทบไทยเดือนไหน? ฝนเริ่มทิ้งช่วง-เกิดภัยแล้ง!

เอลนีโญแผลงฤทธิ์ไทยฝนตกน้อยกว่าค่าปกติของฤดูร้อยละ 5 สนช.เผยข้อมูลกระทบไทยชัดเจนเดือนไหน? ฝนเริ่มทิ้งช่วง-เกิดภัยแล้ง

วันนี้ ( 16 มิ.ย. 66 )นายบุญสม ชลพิทักษ์วงศ์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะเลขานุการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันปริมาณฝนทั้งประเทศต่ำกว่าค่าปกติของฤดูฝนอยู่ที่ร้อยละ 5  และคาดว่า มีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนเข้าสู่ สภาวะเอลนีโญช่วงเดือนกรกฎาคมนี้  ซึ่งจากการคาดการณ์ระยะสั้น 10 วันล่วงหน้ายังไม่พบพื้นที่เสี่ยงภัยรุนแรง 


ทั้งนี้ ปัจจุบันมีบางพื้นที่ ประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำ จึงกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งให้ความช่วยเหลือ เช่น กรมชลประทาน ได้ส่งรถบรรทุกน้ำบรรเทาความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรชาวสวนทุเรียน และประชาชนในพื้นที่บ้านป่าละอู จ.ประจวบคีรีขันธ์ พร้อมเน้นย้ำให้ติดตามสถานการณ์ในแต่ละพื้นที่ และให้แต่ละพื้นที่ทำแผนบริการจัดการน้ำในระยะยาว 2 ปี เพราะคาดว่าเอลนีโญจะลากยาวไปถึงปี 2567 ต้องวางแผนบริหารจัดการน้ำในสภาวะเอลนีโญให้เกิดผลกระทบกับประชาชนน้อยที่สุดด้วย


ด้านนายเศรษฐเกียรติ กระจ่างวงษ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงแผนการป้องกันแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตรในช่วงฤดูฝน ปี 2566ประกอบด้วย 3 แผนงาน คือการป้องกันและเตรียมความพร้อมในด้านการวางแผนการจัดสรรน้ำฤดูฝนและการเพาะปลูกพืชฤดูฝนในเขตชลประทาน ปี 2566 


การเพิ่มและปรับปรุงแหล่งกักเก็บน้ำ การปฏิบัติการฝนหลวงในฤดูฝนล่าช้ากว่าปกติ หรือฝนทิ้งช่วงระหว่างฤดูเพาะปลูก และการเพิ่มปริมาณน้ำในเขื่อน เพื่อสำรองเป็นน้ำต้นทุนในช่วงฤดูแล้ง รวมถึงการปรับปรุงข้อมูลทะเบียนเกษตรกร และให้คำแนะนำการทำเกษตรในพื้นที่ในการลดความเสี่ยง รวมทั้งการเตรียมเครื่องมือเครื่องจักร และบุคลากรให้พร้อมในการลงพื้นที่ช่วยเหลือเกษตรกร 


ทั้งนี้เอลนีโญ มีโอกาสทำให้เกิดฝนทิ้งช่วงในเดือนมิถุนายน-กรกฎาคมนี้ ทำหลายจังหวัดอาจประสบกับปัญหาภัยแล้ง กระทบต่อปริมาณน้ำอุปโภคบริโภค จึงแจ้งเตือนให้เกษตรกรที่จะเพาะปลูกพืชในช่วงฤดูฝนนี้ วางแผนกักเก็บสำรองน้ำไว้ใช้ในเวลาที่ฝนทิ้งช่วง หรือเลือกปลูกพืชอายุสั้น หรือพืชผัก เช่น ผักบุ้ง ตำลึง กะหล่ำปลี และคะน้า เป็นต้น ซึ่งจะใช้ระยะเวลาเพาะปลูกประมาณ 25-40 วัน ก็สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ เพื่อป้องกันผลผลิตเสียหายกรณีขาดแคลนน้ำ 


สำหรับผู้ที่เพาะปลูกนอกเขตชลประทาน กรมขอแนะนำ ให้สร้างแหล่งกักเก็บสำรองน้ำในช่วงฝนทิ้งช่วง เป็นการเตรียมพร้อมสำหรับกักเก็บน้ำไว้ใช้เพื่อการเกษตรในช่วงที่จะมีฝนตกชุกหนาแน่นช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายนนี้ ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาได้พยากรณ์ไว้ และขอเน้นย้ำให้เกษตรกรติดตามการคาดการณ์สภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างต่อเนื่อง 


ภาพจาก :  AFP  


ข่าวแนะนำ