TNN online ไทยเข้าสู่ “เอลนีโญ” แต่ยังต้องเฝ้าระวังน้ำท่วม ฝนอาจตกหนักเฉพาะพื้นที่

TNN ONLINE

Earth

ไทยเข้าสู่ “เอลนีโญ” แต่ยังต้องเฝ้าระวังน้ำท่วม ฝนอาจตกหนักเฉพาะพื้นที่

ไทยเข้าสู่ “เอลนีโญ” แต่ยังต้องเฝ้าระวังน้ำท่วม ฝนอาจตกหนักเฉพาะพื้นที่

ไทยเข้าสู่ ปรากฏการณ์ “เอลนีโญ” แต่ยังต้องเฝ้าระวังน้ำท่วม อาจเกิดฝนตกหนักเฉพาะพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง

วันนี้ ( 17 พ.ค. 66 )ผศ.ณัฐ มาแจ้ง อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้ความคิดเห็นถึงสภาพอากาศของประเทศไทยในปัจจุบัน ว่าแม้ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ภาวะอากาศแล้งหรือที่เรียกว่า เอลนีโญ ซึ่งจะส่งผลให้ฝนตกน้อยกว่าค่าเฉลี่ยปกติ แต่ไม่ได้หมายความว่าฝนที่ตกลงมาจะไม่ก่อให้เกิดน้ำท่วม เพราะแม้ค่าเฉลี่ยของฝนจะน้อย แต่ไม่ได้หมายความว่าฝนที่ตกลงมา จะมีปริมาณน้อยตามไปด้วย แต่อาจจะเป็นการตกในลักษณะฝนที่ตกหนักในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง


ทั้งนี้ระบุว่า จากค่าเอนโซ่ หรือค่าความผันแปรของปรากฏการณ์ธรรมชาติในมหาสมุทรแปซิฟิก พบว่าปรากฏการณ์เอลนีโญ จะเริ่มรุนแรงขึ้นตั้งแต่เดือน มิถุนายนเป็นต้นไป ซึ่งฤดูแล้งในปี 2566-2567 นั้น จะส่งผลกระทบกับภาคการเกษตรโดยตรง เพราะปริมาณฝนที่น้อย จะทำให้น้ำต้นทุนมีปริมาณน้อยตามไปด้วย โดยเฉพาะพื้นที่การเกษตรนอกเขตชลประทาน ที่น้ำในการเกษตรอาจจะไม่เพียงพอในช่วงปลายฤดูกาลเก็บเกี่ยว ขณะที่พื้นที่การเกษตรในเขตชลประทาน อาจจะมีน้ำเพียงพอสำหรับการทำการเพาะปลูกได้เพียง 1 ฤดูกาล 


ส่วนกรณีเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนในพื้นที่  จ.ชุมพร ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งหนักกว่าทุกปีนั้น ระบุว่ากรณีดังกล่าวไม่ได้เกิดจากผลกระทบจากเอลนีโญ่ แต่เป็นเพราะปัจจุบันพื้นที่ภาคใต้กำลังอยู่ในช่วงของปลายฤดูแล้ง ซึ่งฤดูฝนของพื้นที่ภาคใต้ จะเริ่มช้ากว่าพื้นที่อื่น ๆ โดยจะเริ่มตั้งแต่ช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคม จึงทำให้ฤดูแล้งจะมีระยะเวลาที่เพิ่มมากขึ้นกว่าภูมิภาคอื่น ๆ แต่อีกไม่นานลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นลมที่พัดความชื้นเข้ามาในประเทศไทย จะพัดเข้ามาในพื้นที่ ซึ่งจะทำให้พื้นที่ภาคใต้ฝั่ง จ.ชุมพร มีฝนเพิ่มมากขึ้น 


อย่างไรก็ตามปรากฏการณ์เอลนีโญที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน จะไม่สามารถบอกได้ว่า จะเกิดขึ้นกับพื้นที่ของภูมิภาคใดในประเทศไทยมากกว่ากัน เนื่องจากปรากฏการณ์ดังกล่าวมีลักษณะครอบคลุมทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งปัญหาจะเกิดขึ้นกับภูมิภาคใดมากน้อยนั้น  ขึ้นอยู่กับแหล่งกักเก็บน้ำในพื้นที่ เพราะถ้าหากเป็นแหล่งกักเก็บน้ำขนาดเล็ก ก็จะไม่สามารถที่จะกักเก็บน้ำได้เพียงพอใช้สำหรับฤดูแล้งถัดไป โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก ที่ในปีนี้มีโอกาสที่น้ำกักเก็บจะไม่เต็มความจุ ประกอบกับการระเหยของน้ำที่มากขึ้น เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อน ก็จะเป็นตัวเร่งให้น้ำในอ่างเหล่านี้ลดลงอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น


ภาพจาก : AFP 

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง