TNN online เปิดภาพ “กระจุกกาแล็กซีแพนโดรา” จากกล้องเจมส์ เว็บบ์

TNN ONLINE

Earth

เปิดภาพ “กระจุกกาแล็กซีแพนโดรา” จากกล้องเจมส์ เว็บบ์

เปิดภาพ “กระจุกกาแล็กซีแพนโดรา” จากกล้องเจมส์ เว็บบ์

Environment: เพจ NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ได้เปิดภาพ “กระจุกกาแล็กซีแพนโดรา” จากกล้องเจมส์ เว็บบ์

เพจ NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ระบุนักดาราศาสตร์เผยภาพสุดคมชัดของ "กระจุกกาแล็กซีแพนโดรา" (Pandora’s Cluster) หรือ Abell 2744 ที่ถ่ายโดยกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์ เผยให้เห็นแหล่งกำเนิดรังสีอินฟราเรดใกล้ (near-infrared) กว่า 50,000 แห่ง กระจายตัวอยู่ทั่วทั้งภาพ โดยแต่ละแห่งระยะห่างแตกต่างกันออกไป บ่งบอกถึงความกว้างใหญ่ไพศาลของเอกภพ


ภายในพื้นที่ของกระจุกกาแล็กซีแพนโดราประกอบด้วยกระจุกกาแล็กซีที่มีขนาดใหญ่ 3 แห่ง รวมตัวกัน และด้วยมวลรวมอันมหาศาลของพื้นที่นี้ส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์ “เลนส์ความโน้มถ่วง” (gravitational lensing) ที่ทำให้แสงจากกาแล็กซีพื้นหลังเมื่อเดินทางผ่านอวกาศบริเวณนี้ จะเดินทางเป็นเส้นโค้ง ลักษณะคล้ายกับแสงที่เดินทางผ่านเลนส์นูน ทำให้กาแล็กซีอันริบหรี่ที่อยู่เบื้องหลัง แม้จะมีหน้าตาบิดเบี้ยวไป แต่ก็ทำให้มีแสงสว่างที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งนักดาราศาสตร์สามารถศึกษากาแล็กซีอันไกลโพ้นเหล่านี้ได้ชัดยิ่งขึ้น


ก่อนหน้านี้ บริเวณใจกลางของกระจุกกาแล็กซีแพนโดราเคยมีการศึกษาอย่างละเอียดโดยกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลเท่านั้น แต่ด้วยการศึกษาในช่วงคลื่นอินฟราเรดความละเอียดสูงของกล้องเจมส์ เว็บบ์ จะช่วยให้นักดาราศาสตร์ศึกษาขนาดความกว้าง และระยะห่างของพื้นที่ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ซึ่งจะเปิดมุมมองใหม่สำหรับการศึกษาเอกภพและวิวัฒนาการของแล็กซี 

Ivo Labbe นักดาราศาสตร์จาก Swinburne University of Technology และเป็นหนึ่งในทีมนักวิจัยในโครงการ UNCOVER กล่าวว่า พื้นที่บริเวณขวาล่างของภาพนี้ ซึ่งเกิดปรากฏการณ์เลนส์ความโน้มถ่วง เป็นพื้นที่ที่กล้องฮับเบิลไม่เคยถ่ายได้มาก่อน เผยให้เห็นรายละเอียดของกาแล็กซีอีกหลายร้อยแห่งที่มีลักษณะเป็นเส้นโค้งจาง ๆ ในภาพ และเมื่อสังเกตลึกเข้าไปก็เผยให้เห็นรายละเอียดมากขึ้นเรื่อย ๆ เป็นข้อมูลละเอียดกว่าการสังเกตการณ์ครั้งก่อน ๆ มาก 


ภาพนี้เป็นส่วนหนึ่งในโครงการ UNCOVER ที่มีเป้าหมายศึกษาวัตถุอันไกลโพ้นในอวกาศ และย้อนศึกษาไปถึงเอกภพในยุคเริ่มแรกหลัง Big Bang ที่ถ่ายโดยกล้อง NIRCam ของกล้องเจมส์ เว็บบ์ ซึ่งภาพนี้เกิดจากการรวมภาพ 4 ภาพเข้าด้วยกัน โดยแต่ละภาพจะใช้เวลาเปิดหน้ากล้องประมาณ 4-6 ชั่วโมง รวมระยะเวลาการสังเกตการณ์ทั้งหมดประมาณ 30 ชั่วโมง จากนั้นทีมนักวิจัยจะศึกษาภาพถ่ายอย่างละเอียด และวางแผนที่จะใช้อุปกรณ์ NIRSpec (Near-Infrared Spectrograph) ในการศึกษากระจุกกาแล็กซีแห่งนี้ต่อไป ที่จะช่วยให้สามารถวัดระยะห่างของกาแล็กซีเหล่านี้อย่างแม่นยำได้


เรียบเรียง : กฤษดา รุจิรานุกูล - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สดร.

อ้างอิง : https://www.nasa.gov/.../nasa-s-webb-uncovers-new-details...

ที่มา: NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ


_____

ติดตามข่าวสภาพอากาศ และเช็กจุดฝนตก น้ำท่วม ถนนรถติด ผ่าน TNN EARTH

Website : https://bit.ly/3MXvq5I 

Youtube : https://bit.ly/3MZUVmK

TikTok : https://bit.ly/3naJL4p

Facebook : https://bit.ly/3bxVMy0

Line : https://lin.ee/rPHmFpD

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง