TNN online ความได้เปรียบใหม่ด้านนวัตกรรมของจีนในสายตาของโลกตะวันตก (ตอนจบ ) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

TNN ONLINE

คอลัมนิสต์

ความได้เปรียบใหม่ด้านนวัตกรรมของจีนในสายตาของโลกตะวันตก (ตอนจบ ) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

ความได้เปรียบใหม่ด้านนวัตกรรมของจีนในสายตาของโลกตะวันตก  (ตอนจบ ) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

ความได้เปรียบใหม่ด้านนวัตกรรมของจีนในสายตาของโลกตะวันตก (ตอนจบ ) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน

(ตอนจบ)

คำถามสำคัญตามมาก็คือ ไทยเราจะต้องทำอย่างไรบ้างเพื่อประสบความสำเร็จในการแข่งขันกับจีนและในเวทีโลกในทศวรรษหน้า 

ในโอกาสที่ไปบรรยายในเวทีหนึ่งเมื่อไม่นานมานี้ ผมจำได้ว่าผู้เข้าร่วมสัมมนาท่านหนึ่งกรุณาตั้งคำถามว่า เราจะแซงจีนได้หรือไม่ ซึ่งวันนั้นผมตอบไปว่า ด้วยสภาพปัจจัยแวดล้อมในปัจจุบัน นับว่าเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลยที่ไทยจะแซงจีนได้ในระยะสั้น

เราควรเริ่มต้นจากหลักคิดที่ว่า ไทยต้องเสริมสร้างความแข็งแกร่งด้วยการเร่งสร้างระบบนิเวศด้านนวัตกรรม และขอเพียงอย่าให้ช่องว่างด้านนวัตกรรมระหว่างจีนและไทยถ่างกว้างไปมากกว่านี้เป็นพอ

ผมสังเกตเห็นรัฐบาลของหลายประเทศในภูมิภาคอาเซียนมีนโยบายส่งเสริมการพัฒนาระบบนิเวศของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงสร้างพื้นฐาน สิ่งอำนวยความสะดวก แรงงานคุณภาพ และอื่นๆ ซึ่งก็นับเป็นปัจจัยพื้นฐานในเชิงบวก 

นอกจากนี้ การเรียนรู้สาระจากบทความ “China’s New Innovation Advantage” ยังทำให้เราอาจคิดต่อว่า รัฐบาลและบริษัทจำเป็นต้องเริ่มจากการจัดลำดับเชิงยุทธ์ในการขับเคลื่อนประเทศด้วยเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยขับเคลื่อนนวัตกรรมในรูปแบบของเครื่องมือและเทคโนโลยีใหม่ แต่ยังรวมถึงผลผลิตด้านนวัตกรรมผ่านการยอมรับในวงกว้างที่รวดเร็ว

ทั้งนี้ ก่อนไปทำงานและใช้ชีวิตในจีนครั้งแรกเมื่อเกือบ 20 ปีก่อน ผมเองก็เคยคิดว่า จีนเติบโตช้าและไม่อาจก้าวขึ้นทาบชั้นสหรัฐฯ ได้ก็เพราะการปิดกั้นทางความคิดต่อการเปลี่ยนแปลงของชาวจีน แต่ผมกลับพบว่า คนจีนในยุคหลัง “เปิดกว้างต่อการเปลี่ยนแปลงในเชิงรุก” 

ผมสังเกตเห็นคนจีนทุกเพศ ทุกวัย และทุกสาขาอาชีพต่างใช้สมาร์ตโฟนอย่างคล่องแคล่ว และพร้อมจะเรียนรู้ในนวัตกรรมอยู่ตลอดเวลา เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตของตนเองและครอบครัว ซึ่งดูจะแตกต่างจากคนไทยอยู่มาก 

สำหรับผมแล้ว วิกฤติโควิด-19 ที่ผ่านมามีข้อดีประการหนึ่ง เพราะบีบรัดให้คนไทยมี “ความรู้ด้านดิจิตัล” (Digital Literacy) ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและเป็นรูปธรรม คนไทยในวงกว้างเรียนรู้การใช้แอพใหม่ๆ ซึ่งเป็นผลดีต่อการเสริมสร้างความแข็งแกร่งของระบบนิเวศด้านนวัตกรรม และผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า รัฐบาลและเอกชนไทยจะไม่ทิ้งโอกาสนี้ให้สูญเปล่า แต่จะเดินหน้าสานต่อศักยภาพดังกล่าวเป็นพลังแฝงในการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของไทยต่อไปในอนาคต 

ในประเด็นนี้ แซ็ค ได้ชท์วาล์ด เสนอแนะว่า ภาคธุรกิจควรพัฒนาเกณฑ์การประเมินความสามารถในการปรับตัวของประชาชน การทดสอบทัศนคติและพฤติกรรมผู้บริโภคเชิงลึกที่มีต่อความใหม่ การเปลี่ยนแปลง และการปรับตัวของประชาชนในแต่ละภูมิภาค ระดับอายุ และปัจจัยอื่นเป็นระยะนับเป็นการก้าวย่างที่สำคัญในระยะยาว

ดัชนีการเปลี่ยนแปลงของชีวิตก็เป็นหนึ่งในวิธีการที่ดีที่ใช้ในการคาดการณ์ความสามารถในการปรับตัว แต่ละประเทศ วัฒนธรรม และกลุ่มคนยอมรับและปรับตัวอย่างเป็นธรรมชาติในระดับที่แตกต่างกัน ซึ่งช่วยบ่มเพาะสินค้าและบริการจนเกิดความพร้อมก่อนปล่อยออกสู่ท้องตลาดในวงกว้าง และช่วยกำหนดถึงความพร้อม/ไม่พร้อมของสายผลิตภัณฑ์ในประเทศที่มีระดับการยอมรับในนวัตกรรมที่ต่ำ

อย่างไรก็ดี เราไม่ควรมองจีนในลักษณะของการแข่งขันแบบ “ใครชนะ กินรวบ” (Zero-Sum Game) และก็ไม่อยากเห็นจีนมองไทยในลักษณะนั้นเช่นกัน แต่ไทยต้องคิดใช้ประโยชน์จากตลาดจีนที่มีระดับการเปิดกว้างและปรับตัวสูง ซึ่งกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในหลายเวทีที่มีอยู่ก็ช่วยให้สินค้าไทยมีความได้เปรียบในการเข้าสู่ตลาดจีนเหนือกว่าของหลายประเทศ

นอกจากนี้ ขณะที่เรายังไม่อาจเปลี่ยนเกมส์ในการแข่งขันได้ในระยะสั้น ไทยก็ควรใช้ห้วงเวลานี้ในการส่งทรัพยากรมนุษย์ที่เหมาะสมไปสำรวจระบบนิเวศด้านนวัตกรรม และเรียนรู้วิธีคิดและรูปแบบธุรกิจที่สร้างสรรค์ รวมทั้งเทคโนโลยีที่แปลกใหม่ของจีน 

การสังเกตเห็นสินค้าและบริการใหม่ของจีน อาทิ รถยนต์และโดรนไร้คนขับ หุ่นยนต์แม่บ้าน ถังขยะอัจฉริยะ และคิวอาร์โค้ดด้านสุขภาพ รวมทั้งหุ่นยนต์สัตว์เลี้ยงขนาดเล็กในช่วง 2 ที่ผ่านมา นับเป็นเพียง “น้ำจิ้ม” ที่เราได้สัมผัสเท่านั้น ธุรกิจจีนจะปล่อยนวัตกรรมอีกมากสู่ท้องตลาดในอนาคต

ความได้เปรียบใหม่ด้านนวัตกรรมของจีนในสายตาของโลกตะวันตก  (ตอนจบ ) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

บ่อยครั้งที่ผมพบว่า คนไทยที่เคยเดินทางไปเยือนจีนมักสงสัยว่า เมืองที่เคยไปเมื่อหลายปีก่อนแตกต่างจากในปัจจุบันจนยากจะจดจำได้ จีนเปลี่ยนโฉมรวดเร็วขึ้นมากในทุกมิติ คำกล่าวที่ว่า จีน “เปลี่ยนเล็กทุกปี เปลี่ยนใหญ่ทุกสามปี” กำลังกลายเป็นอดีต จนผมเริ่มคิดว่าจีนกำลัง “เปลี่ยนเล็กทุกเดือน เปลี่ยนใหญ่ทุกสามเดือน” ซะแล้ว

และโดยที่ระบบและสถาบันการศึกษาในจีนได้พัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว และเปิดโอกาสให้นักเรียนนักศึกษาได้ฟังการบรรยายและเรียนรู้จากกูรูระดับโลกมากมาย ซึ่งผลักดันให้เกิดพลังความคิดริเริ่มสร้างสรรค์อย่างไม่เคยเป็นมาก่อน พ่อแม่ผู้ปกครองที่ต้องการส่งลูกหลานไปศึกษาต่อในต่างประเทศ ก็ควรมองจีนเป็นทางเลือกอันดับต้นๆ

การเดินทางไปท่องเที่ยวเมืองต่างๆ ในแต่ละภูมิภาคเป็นระยะๆ ก็จะช่วยให้เรารู้เท่าทันจีนในยุคใหม่ได้ สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ไทยเรียนลัดจากจีน และสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในประเทศได้อย่างหลากหลายในอนาคต ขณะเดียวกัน การให้ความสำคัญกับการเชื่อมความสัมพันธ์ในเชิงลึกกับองค์กรด้านนวัตกรรม ผู้ประกอบการยุคใหม่ และภาคประชาชนของจีนยังจะเป็นเสมือน “กระดานดีด” ของไทยในจีนในระยะยาว

ในด้านปัจจัยประชากร ไทยควรเร่งสร้างการยอมรับและการเปิดกว้างของตลาดมากกว่าเพียงแค่คนไทย โดยมองตลาดอาเซียนว่าเป็นเสมือนตลาดภายในประเทศ หลายประเทศในอาเซียนมีประชากรหนุ่มสาวเป็นจำนวนมากอยู่เป็นทุนเดิม ซึ่งจะเป็นการขยายโอกาสความสำเร็จของนวัตกรรมในระยะยาว

ในหนทางสู่การยอมรับในนวัตกรรมจากผู้บริโภคในเวทีระหว่างประเทศ ดูเหมือนไทยเราจะมีโจทย์มากมายรออยู่ สินค้าและบริการของไทยจะประสบปัญหาในเรื่องภาพลักษณ์เฉกเช่นเดียวกับของจีน เพราะในสายตาของผู้บริโภคต่างชาติ “ความเป็นไทย” อาจเชื่อมโยงกับรอยยิ้ม คุณภาพ และบริการที่ดี แต่ไม่ใช่ด้านนวัตกรรมด้านเทคโนโลยี 

"ดังนั้น หากไทยคิดอยากสำเร็จในการก้าวเข้าไปแข่งขันในตลาดนวัตกรรมระหว่างประเทศ การปูพื้นในเรื่องการปกป้องคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาในเชิงรุก ทั้งในและต่างประเทศ ควบคู่ไปกับการเสริมสร้างภาพลักษณ์ของประเทศและผลิตภัณฑ์ของไทยในด้านนวัตกรรมก็เป็นสิ่งจำเป็นที่เราไม่อาจมองข้าม"


ข้อมูลจาก :   ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

ภาพจาก   :   AFP

ข่าวแนะนำ