TNN online ความได้เปรียบใหม่ด้านนวัตกรรมของจีนในสายตาของโลกตะวันตก (ตอนที่ 2 ) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

TNN ONLINE

คอลัมนิสต์

ความได้เปรียบใหม่ด้านนวัตกรรมของจีนในสายตาของโลกตะวันตก (ตอนที่ 2 ) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

ความได้เปรียบใหม่ด้านนวัตกรรมของจีนในสายตาของโลกตะวันตก  (ตอนที่ 2 ) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

ความได้เปรียบใหม่ด้านนวัตกรรมของจีนในสายตาของโลกตะวันตก (ตอนที่ 2 ) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน

ตอนที่ 2 

นอกจากนี้ ความพยายามในการสร้างแบรนด์ การขยายเครือข่ายทางธุรกิจ และอีกหลายสิ่งก็ล้วนมีรัฐบาลจีนอยู่เบื้องหลัง ซึ่งส่งผลให้คนจีนจำนวนมากเชื่อมั่นและพร้อมใช้นวัตกรรมอย่างรวดเร็ว กลายเป็นกลไกพื้นฐานที่ช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันในเวทีโลก

แต่ในบางครั้ง หลายสิ่งก็ไม่ได้เข้าข้างจีนเสมอไป สินค้าจีนเผชิญกับปัญหาในเรื่องภาพลักษณ์ ในตลาดโลก ผลการวิจัยหนึ่งระบุว่า ชาวต่างชาติไม่ได้มองธุรกิจจีนบางรายว่ามีความโดดเด่นเป็นพิเศษแต่อย่างใด แถมยังมีมุมมองเชิงลบต่อการเชื่อมโยงด้านนโยบายและวิธีปฏิบัติของรัฐบาลกับธุรกิจจีน 

หัวเหว่ย (Huawei) เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในกรณีนี้ แม้ว่าคุณสมบัติสินค้าของหัวเหว่ยจะตอบโจทย์ผู้บริโภค และครองสัดส่วนการตลาดในจีนเหนือแอ็ปเปิ้ล (Apple) แต่หัวเหว่ยก็ยังมีข้อจำกัดในเรื่องทัศนคติจากผู้บริโภคในตลาดโลก ซึ่งนับเป็นความท้าทายใหญ่

หากมองลึกลงไปที่ความได้เปรียบใหม่ด้านนวัตกรรมของจีน ก็พบว่า ความได้เปรียบเชิงประชากรศาสตร์ยังเกิดขึ้นในมิติด้านคุณภาพ ผู้บริโภคชาวจีนยอมรับในระดับความเป็นส่วนตัวที่ต่ำ เมื่อเทียบกับของชาติตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มคนจีนรุ่นใหม่ ซึ่งหมายถึงคนที่มีอายุต่ำกว่า 40 ปีจำนวน 700 ล้านคน และอัตลักษณ์ของชาติที่เปลี่ยนแปลงไปจากยุคก่อน

ในประเด็นนี้ แซ็ค ได้ชท์วาล์ด มองว่า ประสบการณ์ชีวิตของชาวจีนนับว่ามีส่วนสำคัญที่เปลี่ยนมุมมองและทัศนคติต่อการยอมรับและเปิดกว้างต่อสิ่งใหม่ๆ ในช่วงหลายปีหลัง ดัชนีการเปลี่ยนแปลงของชีวิต (Lived Change Index) ซึ่งใช้จีดีพีต่อหัวในการติดตามประเมินผลการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจในช่วงชีวิตของชาวจีน 

หากเราดูตัวเลขดัชนีฯ ดังกล่าวของจีนนับแต่ 1990 ก็พบว่า ตลอด 3 ทศวรรษที่ผ่านมา ดัชนีฯ ของจีนได้เปลี่ยนไปในเชิงบวกได้มากและเร็วกว่าของชาติใดๆ ในโลก นับว่าเป็นเรื่องเหลือเชื่ออย่างมากที่ในช่วงเวลาดังกล่าว เศรษฐกิจจีนขยายตัวกว่า 35 เท่าตัว และมากกว่า 3 เท่าของอันดับที่ 2 แม้กระทั่งปี 2020 ที่จีนประสบวิกฤติโควิด-19 จีนก็เป็นเศรษฐกิจใหญ่เพียงแห่งเดียวที่มีอัตราการเติบโตเป็นบวก

สัดส่วนของขนาดเศรษฐกิจจีนเพิ่มขึ้นจากไม่ถึง 2% ของจีดีพีโลกในปี 1990 เป็นกว่า 20% ของจีดีพีโลกในปี 2020 การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของจีนที่เกิดขึ้นในทางกายภาพ ทำเอาเราแทบจดจำภาพของจีนในอดีตได้ การพัฒนาดังกล่าวยังกระจายตัวไปในหลายร้อยเมืองทั่วจีน 

ตัวเลขเหล่านี้ทำให้เราเห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น ในช่วงปี 2011-2013 จีนใช้ปริมาณปูนซิเมนต์ในการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกมากกว่าที่สหรัฐฯ ใช้ตลอดทั้งศตวรรษที่ 20

ย้อนกลับไปในปี 1990 ครอบครัวคนจีนในชนบทมีตู้เย็นในอัตราส่วนเพียง 1:100 แต่เพิ่มขึ้นเป็นถึง 96:100 ใน 30 ปีต่อมา ขณะเดียวกัน จำนวนรถยนต์บนท้องถนนก็ทะยานจาก 5.5 ล้านคันเป็นราว 300 ล้านคัน โดยมีสัดส่วนของรถยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว คิดเป็นกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนรถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้กันทั่วโลก และเริ่มทดลองใช้ยานยนต์ไร้คนขับกันอย่างคึกคักในปัจจุบัน

นอกจากนี้ คนในชนบทที่มีสัดส่วนราว 75% ของจำนวนประชากรโดยรวมของจีนในปี 1990 ได้ลดลงเหลือเพียงราว 35% ของทั้งหมดในปี 2020 เรากำลังพูดถึงคนจีนราว 500 ล้านคนที่โยกย้ายถิ่นฐานเข้ามาอาศัยอยู่ในเมือง จำนวนคนในชุมชนเมืองที่เพิ่มขึ้นยังสะท้อนถึงรายได้เฉลี่ยต่อหัวของคนจีนที่สูงขึ้น

ประการสำคัญ บริบทของการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาดังกล่าวยังเกิดขึ้นกับมุมมองและทัศนคติของชาวจีน ในประเด็นนี้ แซ็ค ได้ชท์วาล์ด เลือกใช้อินเดียมาเทียบเคียง จีนและอินเดียมีปัจจัยพื้นฐานที่คล้ายคลึงกันมาก กล่าวคือ ทั้งสองประเทศเริ่มก้าวเข้าสู่การเมืองยุคใหม่ในเวลาที่ใกล้เคียงกัน กล่าวคือ อินเดียประกาศเอกราชในปี 1947 ขณะที่จีนก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนในปี 1949 

จีนและอินเดียมีจำนวนประชากรมาก มีจีดีพีต่อหัวเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 350 เหรียญสหรัฐฯ ในปี 1992 และให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบการศึกษา ทั้งนี้ คนอินเดียมีอายุเฉลี่ยน้อยกว่าของจีน ซึ่งเพิ่มโอกาสและศักยภาพในการเปิดรับต่อเทคโนโลยีใหม่ 

แต่ในทางปฏิบัติกลับพบว่า คนอินเดียเพียง 50% ที่ใช้อินเตอร์เน็ต และส่วนใหญ่ปฏิเสธการสแกนคิวอาร์โค้ดในการจ่ายเงินซื้อหาสินค้าและบริการ ทำให้มีคนอินเดียเพียงราว 100 ล้านคนใช้แอพชำระเงินออนไลน์ เทียบกับกว่า 850 ล้านคนในจีน

เรากลับไปใช้ดัชนีการเปลี่ยนแปลงของชีวิตมาช่วยอธิบายความกัน ในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา จีดีพีต่อหัวของชาวอินเดียเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจาก 350 เหรียญสหรัฐฯ เป็นมากกว่า 2,000 เหรียญสหรัฐฯ ขณะที่ของจีนเติบโตในอัตราเร่งเป็นกว่า 10,000 เหรียญสหรัฐฯ 

ปรากฏการณ์นี้ยืนยันว่า แต่ละวัฒนธรรมตอบรับนวัตกรรมในระดับที่แตกต่างกัน และระบบนิเวศที่ได้รับการพัฒนาอย่างเหมาะเจาะจะช่วยสร้างทัศนคติต่อการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติ

นวัตกรรมด้านเทคโนโลยีที่เปลี่ยนชาวจีนหลายร้อยล้านคนในชั่วพริบตาเช่นนี้ ไม่เพียงทำให้เกิดเป็นปรากฏการณ์ที่เป็นกุญแจสำคัญแห่งความอยู่รอด แต่ยังช่วยสร้างพลังเศรษฐกิจและเปลี่ยนสถานะการแข่งขันในเวทีโลกได้ในที่สุด 

(มีต่อตอนที่ 3 )


ข้อมูลจาก :   ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

ภาพจาก   :   AFP

ข่าวแนะนำ