TNN เมื่อมังกรปรับจูนสู่โรงงานของโลกยุคใหม่ (ตอน6) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

TNN

คอลัมนิสต์

เมื่อมังกรปรับจูนสู่โรงงานของโลกยุคใหม่ (ตอน6) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

เมื่อมังกรปรับจูนสู่โรงงานของโลกยุคใหม่ (ตอน6) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

เมื่อมังกรปรับจูนสู่โรงงานของโลกยุคใหม่ (ตอน6) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน

จากตอนที่แล้วมีพูดถึงการให้ความสำคัญกับประเด็นสิ่งแวดล้อมของผู้บริโภคยุคใหม่ และข้อจำกัดของแบตเตอรีที่มีประสิทธิภาพแปรผันตามสภาพอากาศและอุณหภูมิ ยิ่งเมื่อเราพิจารณาถึงความใหญ่โตของตลาด EVs จีนที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด แบตเตอรีจะเป็นที่ต้องการเพิ่มขึ้นอีกมากในอนาคต จึงจำเป็นที่จีนต้องมีฐานการผลิตขนาดใหญ่ที่มีขีดความสามารถสูงในการแข่งขันระหว่างประเทศ


ผมขอพาไปเรียนรู้การพัฒนางานออกแบบ EVs ของจีนผ่านตัวอย่างที่น่าสนใจกันเลยครับ …

บริษัท GAC รัฐวิสาหกิจแห่งมณฑลกวางตุ้ง ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ด้วยการลงทุนว่าจ้างวิศวกรการออกแบบชั้นนำอย่าง จาง ฝาน (Zhang Fan) มาออกแบบรถ EVs ซีรีย์ Trumpchi

ในช่วง 6 ปีของการดำเนินงาน ทีมงานออกแบบได้เพิ่มจำนวนจาก 20 คนเป็นถึงกว่า 300 คน สร้างสรรค์ผลงานการออกแบบรถ Trumpchi จำนวน 4-5 รุ่นต่อปี และสามารถสร้างรายได้และชื่อเสียงทางธุรกิจได้อย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

ล่าสุด Trumpchi รุ่น GS8ซึ่งเป็น SUV ขนาด 7 ที่นั่งที่มาพร้อมอุปกรณ์ภายนอกและภายในคุณภาพสูง นับว่าโดนใจผู้บริโภคอย่างมาก เรียกว่าประสบความสำเร็จไม่เพียงตลาดจีนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงตลาดต่างชาติ แม้กระทั่งตลาดสหรัฐฯ อีกด้วย

เมื่อมังกรปรับจูนสู่โรงงานของโลกยุคใหม่ (ตอน6) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

ภาพจาก reuters


อีกตัวอย่างหนึ่งก็คือ SAIC Motor แห่งเซี่ยงไฮ้ที่ต่อยอดด้านวิศวกรรมการออกแบบรถยนต์ MG จากฐานเดิมที่โรงงานลองบริดจ์ เบอร์มิงแฮม ไปยังศูนย์วิจัยและพัฒนาแห่งใหม่ที่กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร เพื่อรักษา “กลิ่นอาย” ของรถยนต์อังกฤษที่มีรากฐานราวหนึ่งศตวรรษเอาไว้

ต่อมา SAIC ก็ได้ลงทุนก่อสร้างศูนย์วิจัยและพัฒนาด้านวิศกรรมการออกแบบขนาดใหญ่ที่นครเซี่ยงไฮ้ พร้อมทีมงานนับร้อยชีวิตและเครื่องมืออุปกรณ์ที่พร้อมสรรพ ศูนย์ฯ ดังกล่าวได้ก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งใน “แกนหลัก” ด้านการออกแบบและพัฒนารถรุ่นใหม่ในหลายแบรนด์ของบริษัทฯ

อย่างไรก็ดี โดยที่หนึ่งในภารกิจสำคัญของบริษัทฯ ในระยะหลัง ได้แก่ การออกแบบ EVs เพื่อตอบสนองต่อพฤติกรรมและความต้องการของผู้บริโภค “ทั่วโลก” ที่กำลังเติบโตแรง ซึ่งนำไปสู่การสร้างทีมออกแบบระดับโลกที่ดึงเอาทีมงานจากหลายพื้นที่เข้ามาทำงานร่วมกัน 

Cyberster ของ MG ซึ่งเป็น EVs สปอร์ตแบบ 2 ที่นั่งก็แสดงถึงความกล้าที่จะทำสิ่งที่ “นอกกรอบ” เพื่อยกระดับ EVs จีนสู่ตลาดโลก โดยใช้วิธีการสานต่อการออกแบบและผลิตรถรุ่น MG4 ซึ่งเป็น EVs รุ่นแรกที่มุ่งเน้นการ “จับตลาดโลก”

อันที่จริง งานออกแบบ MG4 นับว่าได้รับความใส่ใจเป็นพิเศษ ทั้งในด้านรูปลักษณ์และมาตรฐานด้านวิศวกรรมยานยนต์ โดยให้สอดคล้องกับมาตรฐานของโปรแกรมการประเมินรถยนต์ใหม่ของยุโรป (European New Car Assessment Program) ซึ่งถือว่ามีความเข้มข้นมากที่สุดในปัจจุบัน

แถมยังนำเอาอุปกรณ์ไฮเทคมาติดตั้ง เช่น ระบบ “ความร้อนเป็นศูนย์ขณะขับขี่” (Zero Thermal Runaway) ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงจากอาการร้อนจัดและอุบัติเหตุไฟไหม้ ทำให้ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากตลาดหลายประเทศทั่วโลก

 

เมื่อมังกรปรับจูนสู่โรงงานของโลกยุคใหม่ (ตอน6) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

ภาพจาก reuters


ในการพัฒนา Cyberster ทีมออกแบบระดับโลกจึงได้รวบรวม “จุดเด่น” ของ MG4 มาปรับปรุงและต่อยอดตามผลการวิจัยที่เก็บรวบรวมจากกลุ่มเป้าหมายและช่องว่างทางการตลาด 

ภายหลังการเปิดตัวรถต้นแบบ” เมื่อ 2 ปีก่อน คนในวงการเห็นว่า Cyberster มีรูปลักษณ์บางส่วนก็ทำให้อดนึกถึง Jaguar รุ่น F-Type และ BMW รุ่น F4 ไม่ได้ เพียงแต่ Cyberster ได้รับการปรับปรุงให้ไฉไลกว่า

สิ่งนี้ทำให้มียอดสั่งจองล่วงหน้าแบบไม่เปิดราคาจากผู้ที่ชื่นชอบความเร็วในหลายประเทศทั่วโลกหลั่งไหลมาอย่างล้นหลาม ทำให้ SAIC Motor ตัดสินใจเร่งเดินหน้าผลิตรถรุ่นดังกล่าวในทันที

และในงาน Auto Shanghai 2023 เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ณ นครเซี่ยงไฮ้ SAIC Motor ก็นำเอาCyberster ต้นแบบที่ประกอบร่างใกล้สมบูรณ์ 100% มาอวดโฉมให้คอยานยนต์แดนมังกรได้ “คันมือคันเท้า” กันแล้ว 

ไม่เพียงการเปิดประตูแบบ “กางปีก” ที่เรียกเสียงฮือฮาเท่านั้น แต่ Cyberster ยังติดตั้งที่นั่งแบบสปอร์ตที่ล้อมรอบไปด้วยอุปกรณ์ติดตั้งคุณภาพสูง ไม่ว่าจะเป็นจอแอลซีดี และคอนโซลที่ควบคุมเกือบทุกสิ่งได้เพียงปลายนิ้วสัมผัส 

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังวางแผนจะนำรถรุ่นดังกล่าวไปผลิตและทำการตลาดในยุโรปและประเทศอื่นนับแต่ฤดูร้อนปีหน้า ทำให้คนในวงการต่างคาดการณ์กันว่า MG กำลังจะกลับมาทวงบัลลังก์ “เจ้าแห่งรถสปอร์ต” ในเวอร์ชั่นรถยนต์ไฟฟ้าในเร็ววันนี้ 

นี่เป็นเพียงบางตัวอย่างเท่านั้น เพราะ EVs จีนนับร้อยแบรนด์ต่าง “จัดเต็ม” ในเรื่องการออกแบบ จนหลายคนที่พบเห็นถึงขนาดอุทานว่า EVs จีนดูไฉไล โฉบเฉี่ยว และน่าใช้เป็นบ้าเลยครับ

กลับมาที่มาตรการส่งเสริมระบบนิเวศ EVs ของภาครัฐ จีนยังกระตุ้นให้หน่วยงานภาครัฐและสถานประกอบการ อาทิ ห้างสรรพสินค้า ซุปเปอร์มาร์เก็ต โรงแรม ภัตตาคาร และสถานที่ทำงาน ลงทุนก่อสร้างและขยายโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกที่เกี่ยวข้องเพื่อรองรับยอดขาย EVs ที่เติบโตแรงอย่างต่อเนื่อง

ด้วยพลังของภาครัฐและเอกชนจีนที่ไปในทิศทางเดียวกัน สถานีและแท่นชาร์ตไฟฟ้า ที่จอดรถ และอื่นๆ ในจีนได้เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และมีแผนจะติดตั้งอีกมากในอนาคต

ในช่วงครึ่งแรกของปี 2023 จีนได้ก่อสร้างแท่นชาร์ตไฟฟ้ากว่า1.44 ล้านเสาเพิ่มขึ้นกว่า 40% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งจะส่งผลให้จีนมีแท่นชาร์ต EVs รวม 3 ล้านเสาไปแล้วคิดเป็นกว่า65% ของจำนวนแท่นชาร์ตไฟฟ้าที่มีอยู่บนผืนโลกใบนี้

เมื่อมังกรปรับจูนสู่โรงงานของโลกยุคใหม่ (ตอน6) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

ภาพจาก reuters


ขณะเดียวกัน เมื่อเร็วๆ นี้ คณะรัฐมนตรีจีนยังได้เปิดเผยแนวทางและแผนการพัฒนาสถานีและแท่นชาร์ตไฟฟ้าคุณภาพสูงใน 5 หัวเมืองใหญ่จนถึงปี 2030 โดยต้องการให้มีโครงข่ายและกระจายตัวอย่างทั่วถึง มีขนาดและโครงสร้างที่เหมาะสม และฟังก์ชั่นที่พร้อมสรรพ

นอกจากนี้ สถานีและแท่นชาร์ตไฟฟ้าเหล่านี้ยังจะถูกออกแบบให้เชื่อมโยงกันเป็นจากเมืองหลักสู่เมืองรอง ระหว่างเมือง และสู่พื้นที่ชนบท ตามโครงสร้างตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้ผู้ใช้ EVs หมดความกังวลใจในการใช้รถใช้ถนนระยะไกล

นั่นเท่ากับว่า เรากำลังเห็นจีนเปลี่ยนจาก “ความจำกัด” ในอดีตให้กลายเป็น “ความสะดวก” แก่ผู้ใช้ EVs ในปัจจุบันและอนาคตไปโดยปริยาย แถมผมยังเชื่อมั่นว่า จีนจะไม่หยุดเพียงแค่นั้นเป็นแน่

ยังมีประเด็นสำคัญเหลืออยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “การแยกขั้ว” ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ที่กำลังถ่างกว้างมากขึ้นทุกขณะ แต่ผมต้องขอยกยอดไปคุยกันต่อในตอนหน้าครับ ...





ภาพจาก reuters

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง