TNN เมื่อมังกรปรับจูนสู่โรงงานของโลกยุคใหม่ (ตอน 4) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

TNN

คอลัมนิสต์

เมื่อมังกรปรับจูนสู่โรงงานของโลกยุคใหม่ (ตอน 4) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

เมื่อมังกรปรับจูนสู่โรงงานของโลกยุคใหม่ (ตอน 4) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

เมื่อมังกรปรับจูนสู่โรงงานของโลกยุคใหม่ (ตอน 4) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน

เพื่อพัฒนาฐานการผลิต EVs รัฐบาลจีนไม่ได้ให้ความสำคัญอยู่เฉพาะผู้ประกอบการของจีนเท่านั้น แต่ยังพยายามดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาเสริมความแข็งแกร่งของระบบนิเวศ และเพิ่มระดับการแข่งขันในตลาด

กลยุทธ์ดังกล่าวยังช่วยเสริมสร้างประโยชน์ในอีกหลายมิติ อาทิ การสานต่อนโยบายการเปิดกว้างและปฏิรูปเศรษฐกิจเข้าสู่กลไกตลาด การเรียนรู้เทคโนโลยีการผลิตที่ล้ำสมัย และการเพิ่มกระแสรักษ์โลกและระดับการแข่งขันในตลาดจีน ซึ่งกดดันให้ธุรกิจ EVs ของจีนเองก็ต้องเร่งพัฒนายิ่งขึ้น

ผมกำลังบอกว่า รัฐบาลจีนกำลังใช้ “กลไกตลาด” ที่เสรีและโปร่งใสในการลดเลิกการอุดหนุนและมาตรการส่งเสริมอื่นๆ และขณะเดียวกันก็ช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรม EVs ได้อย่างยั่งยืน

ในช่วงหลัง เราจึงเห็นรัฐบาลกลางและท้องถิ่นของจีนให้การส่งเสริม FDI ของแบรนด์ชั้นนำอย่างจริงจัง ต่อเนื่อง และรอบด้าน

ตั้งแต่สิทธิประโยชน์การลงทุน สัดส่วนการถือหุ้น และการถือครองที่ดิน มาตรการอุดหนุนที่เปิดกว้าง (ไม่จำกัดอยู่เฉพาะแบรนด์จีน) และแม้กระทั่งการอำนวยความสะดวกในการก่อสร้างโรงงานและขยายธุรกิจ

ยกตัวอย่างเช่น Volkswagen, Toyota และผู้ผลิตยานยนต์ชั้นนำของโลกรายอื่น ส่งผลให้ตลาดจีน หรือแม้กระทั่งงานแสดงสินค้าชั้นนำในจีนเต็มไปด้วย EVs รุ่นใหม่ที่มีคุณภาพสูง


เมื่อมังกรปรับจูนสู่โรงงานของโลกยุคใหม่ (ตอน 4) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร ภาพจาก รอยเตอร์

 


ภายหลังการเชิญชวนให้ Volkswagen จากค่ายเยอรมนี เข้ามาร่วมทุนกับ SAIC, JAC และ FAW ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา บริษัทฯ ก็ขยายการลงทุนและนำเอานวัตกรรมเข้าสู่จีนอย่างต่อเนื่อง

ในงานเซี่ยงไฮ้ออโต้โชว์ (Shanghai Auto Show) เมื่อเดือนเมษายน 2023 บริษัทฯ ได้ประกาศลงทุนอีกราว 7,000 ล้านหยวนในการพัฒนา EVs และศูนย์กลางธุรกิจที่นครเหอเฝย มณฑลอันฮุย ซึ่งเป็นแหล่งที่ตั้งสำนักงานใหญ่และโรงงานผลิตของ Nio สตาร์ตอัพด้าน EVs ชื่อดังของจีน

เท่านั้นไม่พอ Volkswagen ยังเปิดตัว EVs ซีดาน ID.7 รุ่นใหม่ที่เตรียมออกจำหน่ายในจีน พร้อมกับในตลาดยุโรป และอเมริกาเหนือในปีหน้าอีกด้วย นี่ก็เป็นสัญญาณเชิงบวกที่สะท้อนถึง “ความใหญ่” ที่มีความสำคัญเทียบเท่าของตลาดประเทศพัฒนาแล้วในปัจจุบัน

และที่โด่งดังที่สุดก็เห็นจะได้แก่ การใช้ประโยชน์จากตลาดจีนที่ใหญ่โตและสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนเย้ายวนใจดึงเอา Tesla ผู้ผลิต EVs รายใหญ่สุดของโลก เข้ามาตั้งโรงงานขนาดยักษ์ “Gigafactory” แห่งแรกนอกสหรัฐฯ ที่พื้นที่พิเศษหลินกั่ง เขตผู่ตง นครเซี่ยงไฮ้เมื่อปี 2019

การก่อสร้างโรงงานด้วย “ความเร็วของจีน” (China Speed) และการขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ทำให้ห่วงโซ่อุปทานเกิดขึ้นในจีนอย่างเป็นรูปธรรมในเวลาต่อมา

ความสามารถด้านการผลิตของโรงงานแห่งนี้ที่เซี่ยงไฮ้ได้ถูกยกระดับอย่างรวดเร็วและกลายเป็น “ฮับการผลิต” ที่มีประสิทธิภาพยิ่ง โดยมีสัดส่วนกว่าครึ่งหนึ่งของยอดขายในจีน ณ สิ้นปี 2022

อย่างที่เกริ่นไปว่า รัฐบาลจีนสนับสนุนส่งเสริมระบบนิเวศอย่างจริงจัง เพื่อสร้างห่วงโซ่แห่งคุณค่า ควบคู่ไปกับห่วงโซ่อุปทาน โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนา “ต้นน้ำ” และ “ปลายน้ำ” ผ่านการออกมาตรการกระตุ้นการลงทุนเพื่อให้ธุรกิจเหล่านั้นขยายขอบข่ายธุรกิจในแนวกว้างและแนวดิ่งควบคู่กันไป


เมื่อมังกรปรับจูนสู่โรงงานของโลกยุคใหม่ (ตอน 4) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร ภาพจาก AFP

 



ภายหลังวิกฤติโควิดที่ส่งผลกระทบให้กิจการที่อยู่ในระบบชะลอการผลิตและการพัฒนาไประยะหนึ่ง จีนอยากเห็นห่วงโซ่อุปทานที่กลับมามีความแข็งแกร่ง เสถียรภาพ และความยืดหยุ่นยิ่งขึ้น ตั้งแต่วัตถุดิบ และชิ้นส่วนอุปกรณ์ของการผลิต รวมไปถึงโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกเกี่ยวกับระบบการชาร์ตไฟฟ้าที่เพียงพอ

วัตถุดิบสำคัญที่ใช้ในการผลิตแบตเตอรี อาทิ กราไฟต์ ลิเธียม นิกเกิ้ล โคบอลต์ และแมงกานีส โดยจีนมีกราไฟต์เกือบ 1 ใน 4 ของปริมาณสำรองโดยรวม ขณะเดียวกันก็มีเหมืองแร่กราไฟต์คิดเป็นกว่า 80% ของกำลังการผลิตโดยรวมของโลก

อย่างไรก็ดี สิ่งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับแร่ธรรมชาติอื่นที่เหลือ ซึ่งอาจเป็นหนึ่งในความท้าทายสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโคบอลต์ที่จีนมีเพียงราว 1% ของปริมาณสำรองและกำลังการผลิตโดยรวม

โชคดีที่กิจการจีนยังมีบทบาทสำคัญต่อการแปรรูปและการผลิตองค์ประกอบ “ต้นน้ำ” ของการผลิตแบตเตอรี อาทิ แคโธดส์ (Cathodes) และแอโนดส์ (Anodes)

กอปรกับบทบาทการส่งเสริมของภาครัฐที่ต่อเนื่อง ก็ทำให้จีนสามารถพัฒนาเทคโนโลยีและความสามารถในการผลิตได้อย่างรวดเร็ว ส่งผลให้จีนก้าวขึ้นเป็นผู้ผลิตและผู้ใช้ EVs รวมทั้งผู้ผลิตแบตเตอรีรายใหญ่ที่สุดในโลกตลอดช่วงทศวรรษที่ผ่านมา อาทิ ระยะทาง สมรรถนะ และความเข้มข้นด้านพลังงานของแบตเตอรี

ขณะเดียวกัน รัฐบาลจีนก็กระตุ้นให้รัฐวิสาหกิจด้านน้ำมัน ไฟฟ้า และกิจการผลิต พัฒนา และจำหน่ายซอฟท์แวร์และฮาร์ดแวร์ รวมทั้งบริการระบบการจัดการอัตโนมัติในอุตสาหกรรมไฟฟ้าของเอกชน เร่งลงทุนเพื่อรองรับความต้องการในแต่ละพื้นที่


เมื่อมังกรปรับจูนสู่โรงงานของโลกยุคใหม่ (ตอน 4) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร ภาพจาก AFP

 


นอกจากนี้ จีนยังให้เงินอุดหนุนกับการวิจัยและพัฒนาในเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องทั้งแก่ธุรกิจจีนและต่างชาติ ผ่านไปไม่นาน เรายังได้เห็นผู้ผลิตยานยนต์รายใหญ่ของจีนล้วนมีศูนย์วิจัยและพัฒนาของตนเอง ทำนองเดียวกันเกิดขึ้นกับกิจการต่างชาติที่เข้าไปลงทุนในจีน

นอกเหนือจากบทบาทของภาครัฐแล้ว การที่จีนเป็นตลาดที่ใหญ่และสลับซับซ้อน รวมทั้งมีศักยภาพในระยะยาว ทำให้เราเห็นธุรกิจยานยนต์ในจีนต่างให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนา EVs เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคจีนอย่างกว้างขวาง

กิจการรายใหญ่ อาทิ Tesla และ Volkswagen ลงทุนในการจัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาในจีนควบคู่ไปกับการก่อสร้างโรงงานผลิต EVs และในหลายกรณี การลงทุนเหล่านั้นเป็นการจัดตั้งศูนย์ R & D แห่งแรกนอกประเทศแม่อีกด้วย

EVs อาศัยจำนวนชิ้นส่วนยานยนต์ที่น้อยลงนับ 10 เท่าตัว เมื่อเทียบกับระยนต์ระบบสันดาป โดยชิ้นส่วนอุปกรณ์ที่สำคัญ อาทิ แบตเตอรี วัสดุตัวถัง และยางรถยนต์ ทำให้มีห่วงโซ่อุปทานและอุตสาหกรรมที่สั้นลง

แบตเตอรีอาจถือเป็นชิ้นส่วนที่สำคัญสุดของ EVs ในปัจจุบัน โดยมีสัดส่วนราว 30-40% ของต้นทุนโดยรวม ทำให้ผู้ผลิต EVs ต่างมองหาแบตเตอรีที่มีประสิทธิภาพ เก็บไฟฟ้าได้มาก น้ำหนักเบา ทนทาน และน่าเชื่อถือ รวมไปถึงง่ายต่อการติดตั้งและเปลี่ยน เพื่อสร้างแตกต่างจากคู่แข่งขัน และตอบโจทย์ของผู้บริโภคโดยรวม

เราไปคุยกันต่อตอนหน้าครับ ...





ภาพจาก AFP

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง