TNN รู้จัก “หยางซาน” ท่าเรือคอนเทนเนอร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

TNN

คอลัมนิสต์

รู้จัก “หยางซาน” ท่าเรือคอนเทนเนอร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

รู้จัก “หยางซาน” ท่าเรือคอนเทนเนอร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

รู้จัก “หยางซาน” ท่าเรือคอนเทนเนอร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร


ภายหลังการเปิดประเทศสู่โลกภายนอกเมื่อปี 1978 จีนให้ความสำคัญกับการพัฒนาพื้นที่ด้านซีกตะวันออกของประเทศเป็นอันดับแรกก่อน 


เหตุผลสำคัญเป็นเพราะจีนวางแผนเชื่อมโยงเศรษฐกิจกับนานาประเทศ จึงต้องการใช้พื้นที่ที่อยู่ติดชายฝั่งทะเลเพื่อความประหยัดและความสะดวกในการก่อสร้างท่าเรือเพื่อการค้าระหว่างประเทศ ... 



เซี่ยงไฮ้ซึ่งมีประชากรรวมมากกว่า 25 ล้านคน ราว 3 เท่าตัวของนิวยอร์ก ในเชิงคุณภาพ เซี่ยงไฮ้มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่กว่าจีดีพีของไทยทั้งประเทศ และมากกว่า 80 ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจเล็กสุดของโลกรวมกัน จึงเป็นแหล่งชุมชนใหญ่ของคนที่มีรายได้เฉลี่ยต่อหัวอันดับต้น และเป็นกลไกขับเคลื่อนการเพิ่มระดับการพึ่งพาเศรษฐกิจจากภาคการบริโภคภายในประเทศของจีนตลอดหลายปีที่ผ่านมา


นับแต่ปี 2010 เซี่ยงไฮ้ได้ถูกยกระดับจาก “ห้องรับแขกใหญ่” เพื่อรองรับการลงทุนจากต่างประเทศการพัฒนาอุตสาหกรรมหลักและสนับสนุนอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบส่งผลให้เซี่ยงไฮ้เป็นแหล่งรวมคลัสเตอร์อุตสาหกรรมชั้นนำของจีน อาทิ อิเล็กทรอนิกส์ ยา วัสดุใหม่ รถยนต์ไฟฟ้า หุ่นยนต์ และตู้จำหน่ายสินค้าระบบดิจิตัล รวมทั้งอีคอมเมิร์ซ ลอจิสติกส์ ระบบการจดจำใบหน้า และปัญญาประดิษฐ์ 


ในเชิงภูมิศาสตร์ เซี่ยงไฮ้เป็นจุดที่แม่น้ำแยงซีเกียงไหลออกสู่ทะเล ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการเคลื่อนย้ายสินค้าเข้าออก “พื้นที่หลังท่า” (Hinterland) ที่อยู่ตอนในของประเทศ เซี่ยงไฮ้จึงมีสภาพเป็นเสมือน “หัวมังกร” ของจีน


การสนับสนุนในเชิงนโยบายก็ถือเป็นอีกจุดเด่นหนึ่ง ที่ผ่านมา เซี่ยงไฮ้นับเป็นพื้นที่นำร่องการปฏิรูปเศรษฐกิจเชิงลึกผ่านระเบียงเศรษฐกิจพื้นที่ปากแม่น้ำแยงซีเกียง (Yangtze River Delta) ที่เชื่อมโยงเซี่ยงไฮ้กับมณฑลรายรอบ อันได้แก่ มณฑลเจียงซู มณฑลเจ้อเจียง และมณฑลอันฮุย 


เซี่ยงไฮ้ยังเป็นต้นแบบของการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจยุคใหม่มาอย่างต่อเนื่อง เช่น เขตเสรีทางการค้า (Free Trade Zone) การเปิดตลาด STAR ตลาดทุนใหม่สำหรับธุรกิจนวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เศรษฐกิจในรัศมีหนึ่งชั่วโมงเดินทาง (One-Hour Economy) เมืองอัจฉริยะและกลุ่มเมืองคุณภาพสูง และระบบการแยกขยะอัจฉริยะด้วยวิสัยทัศน์ที่ต้องการเป็นศูนย์กลางด้านเศรษฐกิจ การเงิน และลอจิสติกส์ระหว่างประเทศของจีน


ที่ต่อมาก็ยังได้ขยายไปสู่ความเป็นศูนย์กลางด้านนวัตกรรมอีก จึงไม่ต้องแปลกใจที่เราเห็นเซี่ยงไฮ้มีโอกาสเป็นเจ้าภาพจัดงานใหญ่มาอย่างต่อเนื่อง 

อาทิ ฟุตบอลโลกหญิง งานมหกรรมโลก (World Expo) และงานแสดงสินค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง China International Import Expo และยังเป็นหนึ่งในเมืองนำร่องในการเริ่มใช้นวัตกรรมของจีนมากมาย อาทิ


เงินหยวนดิจิตัล และรถยนต์ไร้คนขับ แม้กระทั่งในช่วงที่จีนประสบวิกฤติโควิด-19 ที่ผ่านมา นักเศรษฐศาสตร์จำนวนมากยอมรับว่า YRD มีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งรวมของทรัพยากรมนุษย์ระดับหัวกระทิของประเทศ และมีการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ การศึกษา และวัฒนธรรมที่รุดหน้ากว่าของภูมิภาคอื่น รวมทั้งมีพื้นฐานและระบบที่ดีของความเป็นชุมชนเมืองยุคใหม่  พื้นที่บริเวณ “อกไก่” ของจีนนี้ถือเป็นเมืองหลวงของธุรกิจเศรษฐกิจแบ่งปัน (Shared Economy) ที่ทันสมัย และเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจที่ใหญ่สุดในโลกในปัจจุบัน 



นอกจากนี้ จีนยังวางแผนจะใช้เซี่ยงไฮ้เป็นจุดทดสอบระบบ 6G ในอนาคตอันใกล้ และมุ่งเป้าที่จะพัฒนาเป็นฐานการผลิตสินค้านวัตกรรมและบริการสมัยใหม่ชั้นนำของโลกภายในปี 2030 

เพื่อบรรลุพันธกิจในการเป็นศูนย์กลางการขนถ่ายสินค้าทางเรือ รัฐบาลได้เร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้สอดรับกับวิสัยทัศน์ดังกล่าวตลอดหลายปีที่ผ่านมา พื้นที่ปากแม่น้ำแยงซีเกียงกลายเป็นแหล่งรวมของท่าเรือขนาดใหญ่

ทั้งนี้ หนึ่งในท่าเรือขนาดใหญ่ที่ถูกก่อสร้างขึ้นเมื่อราว 20 ปีก่อนก็ได้แก่ ท่าเรือหยางซาน (Yangshan Port) ซึ่งได้ชื่อมาจากเนินเขาบนเกาะนอกชายฝั่งในด้านซีกตะวันออกเฉียงใต้ของเซี่ยงไฮ้ ใช่ครับ “หยางซาน" เป็นท่าเรือกลางทะเลที่ตั้งอยู่ห่างจากผืนแผ่นดินราว 32.5 กิโลเมตรและเชื่อมด้วยสะพานตงไห่ (Donghai) 


ภายหลังการเริ่มเปิดให้บริการเมื่อปี 2005 และขยายท่าเรือเพื่อรองรับพื้นที่หลังท่าที่เติบใหญ่อย่างต่อเนื่อง ท่าเรือหยางซานก็พัฒนาบริการแบบ 24 ชั่วโมงที่มีความทันสมัย และเป็นจุดขนถ่ายสินค้าของเรือคอนเทนเนอร์ขนาดใหญ่ในเส้นทางหลักของโลก


ท่าเรือหยางซานนับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งยวดสำหรับการค้าระหว่างประเทศของจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณพื้นที่ปากแม่น้ำแยงซีเกียง ด้วยการพัฒนาที่ต่อเนื่องจนดำเนินมาถึงระยะที่ 4 ซึ่งก่อสร้างท่าเทียบเรืออัตโนมัติที่ใหญ่ที่สุดในโลก ทำให้ท่าเรือหยางซานสามารถรองรับสินค้าผ่านท่าได้เพิ่มขึ้นมาก และก้าวขึ้นเป็นท่าเรือคอนเทนเนอร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกนับแต่ปี 2010 โดยคิดเป็นกว่าครึ่งหนึ่งของปริมาณสินค้าผ่านท่าเรือเซี่ยงไฮ้โดยรวม

หากพิจารณารายเมือง ในปี 2022



ท่าเรือเซี่ยงไฮ้โดยรวมมีสินค้าคอนเทนเนอร์ผ่านท่าถึง 47.3 ล้าน TEU (20-Foot Equivalent Units) คว้าแชมป์เมืองที่มีคอนเทนเนอร์มากที่สุดในโลกเป็นปีที่ 13 ติดต่อกัน หรือมากกว่าท่าเรือแหลมฉบังราว 6 เท่าตัว 

หลายฝ่ายประเมินว่า ด้วยศักยภาพของพื้นที่หลังท่า ก็มีความเป็นไปได้สูงที่ท่าเรือเซี่ยงไฮ้จะมีสินค้าผ่านท่ามากกว่า 50 ล้าน TEU เป็นแห่งแรกในโลก


อนึ่ง จากข้อมูลของอัลฟาไลน์เนอร์ (Alphaliner) ศูนย์ข้อมูลการขนส่งสินค้าชั้นนำ ระบุว่า ปัจจุบัน จีนมีท่าเรือถึง 7 แห่งที่ติดอยู่ในลิสต์ 10 อันดับท่าเรือใหญ่สุดในโลก ไล่ตั้งแต่เซี่ยงไฮ้ สิงคโปร์ หนิงโปว-โจวซาน เซินเจิ้น

กวางโจว ปูซาน ชิงต่าว ฮ่องกง เทียนจิน และร็อตเตอร์ดัม



ต้องติดตามดูต่อไปว่าระยะที่ 5 ของท่าเรือหยางซานจะมีทีเด็ด และสร้างสถิติใหม่อะไรออกมาอีกบ้าง 




ภาพประกอบ อาเซียน4.0ออนไลน์

ข่าวแนะนำ