TNN online รู้จัก “หยางซาน” ท่าเรือคอนเทนเนอร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

TNN ONLINE

คอลัมนิสต์

รู้จัก “หยางซาน” ท่าเรือคอนเทนเนอร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

รู้จัก “หยางซาน” ท่าเรือคอนเทนเนอร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

รู้จัก “หยางซาน” ท่าเรือคอนเทนเนอร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร


ภายหลังการเปิดประเทศสู่โลกภายนอกเมื่อปี 1978 จีนให้ความสำคัญกับการพัฒนาพื้นที่ด้านซีกตะวันออกของประเทศเป็นอันดับแรกก่อน 


เหตุผลสำคัญเป็นเพราะจีนวางแผนเชื่อมโยงเศรษฐกิจกับนานาประเทศ จึงต้องการใช้พื้นที่ที่อยู่ติดชายฝั่งทะเลเพื่อความประหยัดและความสะดวกในการก่อสร้างท่าเรือเพื่อการค้าระหว่างประเทศ ... 



เซี่ยงไฮ้ซึ่งมีประชากรรวมมากกว่า 25 ล้านคน ราว 3 เท่าตัวของนิวยอร์ก ในเชิงคุณภาพ เซี่ยงไฮ้มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่กว่าจีดีพีของไทยทั้งประเทศ และมากกว่า 80 ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจเล็กสุดของโลกรวมกัน จึงเป็นแหล่งชุมชนใหญ่ของคนที่มีรายได้เฉลี่ยต่อหัวอันดับต้น และเป็นกลไกขับเคลื่อนการเพิ่มระดับการพึ่งพาเศรษฐกิจจากภาคการบริโภคภายในประเทศของจีนตลอดหลายปีที่ผ่านมา


นับแต่ปี 2010 เซี่ยงไฮ้ได้ถูกยกระดับจาก “ห้องรับแขกใหญ่” เพื่อรองรับการลงทุนจากต่างประเทศการพัฒนาอุตสาหกรรมหลักและสนับสนุนอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบส่งผลให้เซี่ยงไฮ้เป็นแหล่งรวมคลัสเตอร์อุตสาหกรรมชั้นนำของจีน อาทิ อิเล็กทรอนิกส์ ยา วัสดุใหม่ รถยนต์ไฟฟ้า หุ่นยนต์ และตู้จำหน่ายสินค้าระบบดิจิตัล รวมทั้งอีคอมเมิร์ซ ลอจิสติกส์ ระบบการจดจำใบหน้า และปัญญาประดิษฐ์ 


ในเชิงภูมิศาสตร์ เซี่ยงไฮ้เป็นจุดที่แม่น้ำแยงซีเกียงไหลออกสู่ทะเล ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการเคลื่อนย้ายสินค้าเข้าออก “พื้นที่หลังท่า” (Hinterland) ที่อยู่ตอนในของประเทศ เซี่ยงไฮ้จึงมีสภาพเป็นเสมือน “หัวมังกร” ของจีน


การสนับสนุนในเชิงนโยบายก็ถือเป็นอีกจุดเด่นหนึ่ง ที่ผ่านมา เซี่ยงไฮ้นับเป็นพื้นที่นำร่องการปฏิรูปเศรษฐกิจเชิงลึกผ่านระเบียงเศรษฐกิจพื้นที่ปากแม่น้ำแยงซีเกียง (Yangtze River Delta) ที่เชื่อมโยงเซี่ยงไฮ้กับมณฑลรายรอบ อันได้แก่ มณฑลเจียงซู มณฑลเจ้อเจียง และมณฑลอันฮุย 


เซี่ยงไฮ้ยังเป็นต้นแบบของการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจยุคใหม่มาอย่างต่อเนื่อง เช่น เขตเสรีทางการค้า (Free Trade Zone) การเปิดตลาด STAR ตลาดทุนใหม่สำหรับธุรกิจนวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เศรษฐกิจในรัศมีหนึ่งชั่วโมงเดินทาง (One-Hour Economy) เมืองอัจฉริยะและกลุ่มเมืองคุณภาพสูง และระบบการแยกขยะอัจฉริยะด้วยวิสัยทัศน์ที่ต้องการเป็นศูนย์กลางด้านเศรษฐกิจ การเงิน และลอจิสติกส์ระหว่างประเทศของจีน


ที่ต่อมาก็ยังได้ขยายไปสู่ความเป็นศูนย์กลางด้านนวัตกรรมอีก จึงไม่ต้องแปลกใจที่เราเห็นเซี่ยงไฮ้มีโอกาสเป็นเจ้าภาพจัดงานใหญ่มาอย่างต่อเนื่อง 

อาทิ ฟุตบอลโลกหญิง งานมหกรรมโลก (World Expo) และงานแสดงสินค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง China International Import Expo และยังเป็นหนึ่งในเมืองนำร่องในการเริ่มใช้นวัตกรรมของจีนมากมาย อาทิ


เงินหยวนดิจิตัล และรถยนต์ไร้คนขับ แม้กระทั่งในช่วงที่จีนประสบวิกฤติโควิด-19 ที่ผ่านมา นักเศรษฐศาสตร์จำนวนมากยอมรับว่า YRD มีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งรวมของทรัพยากรมนุษย์ระดับหัวกระทิของประเทศ และมีการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ การศึกษา และวัฒนธรรมที่รุดหน้ากว่าของภูมิภาคอื่น รวมทั้งมีพื้นฐานและระบบที่ดีของความเป็นชุมชนเมืองยุคใหม่  พื้นที่บริเวณ “อกไก่” ของจีนนี้ถือเป็นเมืองหลวงของธุรกิจเศรษฐกิจแบ่งปัน (Shared Economy) ที่ทันสมัย และเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจที่ใหญ่สุดในโลกในปัจจุบัน 



นอกจากนี้ จีนยังวางแผนจะใช้เซี่ยงไฮ้เป็นจุดทดสอบระบบ 6G ในอนาคตอันใกล้ และมุ่งเป้าที่จะพัฒนาเป็นฐานการผลิตสินค้านวัตกรรมและบริการสมัยใหม่ชั้นนำของโลกภายในปี 2030 

เพื่อบรรลุพันธกิจในการเป็นศูนย์กลางการขนถ่ายสินค้าทางเรือ รัฐบาลได้เร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้สอดรับกับวิสัยทัศน์ดังกล่าวตลอดหลายปีที่ผ่านมา พื้นที่ปากแม่น้ำแยงซีเกียงกลายเป็นแหล่งรวมของท่าเรือขนาดใหญ่

ทั้งนี้ หนึ่งในท่าเรือขนาดใหญ่ที่ถูกก่อสร้างขึ้นเมื่อราว 20 ปีก่อนก็ได้แก่ ท่าเรือหยางซาน (Yangshan Port) ซึ่งได้ชื่อมาจากเนินเขาบนเกาะนอกชายฝั่งในด้านซีกตะวันออกเฉียงใต้ของเซี่ยงไฮ้ ใช่ครับ “หยางซาน" เป็นท่าเรือกลางทะเลที่ตั้งอยู่ห่างจากผืนแผ่นดินราว 32.5 กิโลเมตรและเชื่อมด้วยสะพานตงไห่ (Donghai) 


ภายหลังการเริ่มเปิดให้บริการเมื่อปี 2005 และขยายท่าเรือเพื่อรองรับพื้นที่หลังท่าที่เติบใหญ่อย่างต่อเนื่อง ท่าเรือหยางซานก็พัฒนาบริการแบบ 24 ชั่วโมงที่มีความทันสมัย และเป็นจุดขนถ่ายสินค้าของเรือคอนเทนเนอร์ขนาดใหญ่ในเส้นทางหลักของโลก


ท่าเรือหยางซานนับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งยวดสำหรับการค้าระหว่างประเทศของจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณพื้นที่ปากแม่น้ำแยงซีเกียง ด้วยการพัฒนาที่ต่อเนื่องจนดำเนินมาถึงระยะที่ 4 ซึ่งก่อสร้างท่าเทียบเรืออัตโนมัติที่ใหญ่ที่สุดในโลก ทำให้ท่าเรือหยางซานสามารถรองรับสินค้าผ่านท่าได้เพิ่มขึ้นมาก และก้าวขึ้นเป็นท่าเรือคอนเทนเนอร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกนับแต่ปี 2010 โดยคิดเป็นกว่าครึ่งหนึ่งของปริมาณสินค้าผ่านท่าเรือเซี่ยงไฮ้โดยรวม

หากพิจารณารายเมือง ในปี 2022



ท่าเรือเซี่ยงไฮ้โดยรวมมีสินค้าคอนเทนเนอร์ผ่านท่าถึง 47.3 ล้าน TEU (20-Foot Equivalent Units) คว้าแชมป์เมืองที่มีคอนเทนเนอร์มากที่สุดในโลกเป็นปีที่ 13 ติดต่อกัน หรือมากกว่าท่าเรือแหลมฉบังราว 6 เท่าตัว 

หลายฝ่ายประเมินว่า ด้วยศักยภาพของพื้นที่หลังท่า ก็มีความเป็นไปได้สูงที่ท่าเรือเซี่ยงไฮ้จะมีสินค้าผ่านท่ามากกว่า 50 ล้าน TEU เป็นแห่งแรกในโลก


อนึ่ง จากข้อมูลของอัลฟาไลน์เนอร์ (Alphaliner) ศูนย์ข้อมูลการขนส่งสินค้าชั้นนำ ระบุว่า ปัจจุบัน จีนมีท่าเรือถึง 7 แห่งที่ติดอยู่ในลิสต์ 10 อันดับท่าเรือใหญ่สุดในโลก ไล่ตั้งแต่เซี่ยงไฮ้ สิงคโปร์ หนิงโปว-โจวซาน เซินเจิ้น

กวางโจว ปูซาน ชิงต่าว ฮ่องกง เทียนจิน และร็อตเตอร์ดัม



ต้องติดตามดูต่อไปว่าระยะที่ 5 ของท่าเรือหยางซานจะมีทีเด็ด และสร้างสถิติใหม่อะไรออกมาอีกบ้าง 




ภาพประกอบ อาเซียน4.0ออนไลน์

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง